อัมพาต คือ อาการอ่อนแอของกล้ามเนื้อ ในผู้ป่วยบางรายมีการชาหรือเสียความรู้สึกบริเวณนั้นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีสภาพอัมพาตอยู่ที่ส่วนใดของร่างกาย อาจอยู่ที่สมอง หรือไขสันหลัง หรือส่วนปลายประสาท
สารบัญ
ประเภทและชนิดของอัมพาต
อัมพาตมีหลายชนิด อาการจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสาเหตุความรุนแรงของสาเหตุนั้นๆ อัมพาตที่พบได้บ่อย ๆ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. อัมพาตครึ่งซีก
อัมพาตครึ่งซีก มักพบในผู้ป่วยมีอาการอัมพาต ที่ส่งผลกระทบไปยังสมอง บางคนมีอาการพูดไม่ได้ พูดไม่ชัด และปากเบี้ยว ตาอาจมองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นเพียงด้านเดียว ถ้าสภาพที่ผิดปกติอยู่ที่สมองด้านซ้าย จะเกิดอัมพาตด้านขวา เพราะสมองด้านซ้ายควบคุมการทำงานของด้านแขนขาด้านขวา
2. อัมพาตของแขนขาทั้งสองข้าง
ถ้าสภาพที่ผิดปกติอยู่ที่ไขสันหลังระดับคอถูกกระทบกระเทือน อาจเกิดจากการตกจากที่สูง กระดูกหักหรือเคลื่อนกดไขสันหลังจนเกิดอัมพาต ซึ่งนอกจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้ว จะมีอาการชาของแขนขา ควบคุมการถ่ายปัสสาวะอุจจาระไม่ได้
3. อัมพาตครึ่งท่อน
อัมพาตครึ่งท่อนเกิดจากการกระทบกระเทือนของไขสันหลังบริเวณใต้อกลงมา มีอาการอ่อนแรงของขาทั้งสองข้าง มีความรู้สึกต่ำกว่าบริเวณปกติ อาจควบคุมระบบขับถ่ายไม่ได้
จากการศึกษาสาเหตุของอัมพาตครึ่งท่อน และอัมพาตของแขนขาทั้งสองข้าง ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ อุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ตกจากที่สูง เช่น ตกต้นไม้ ตกบ้าน ระยะหลัง ๆ นี้ พบว่าเกิดจากอุบัติเหตุบนถนน เช่น รถคว่ำ รถชน เป็นต้น
สาเหตุของอัมพาตครึ่งซีก
อัมพาตครึ่งซีกพบได้บ่อยเป็นได้ทุกอายุ แม้กระทั่งเด็กๆก็มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากสาเหตุของการเป็นอัมพาตนั้นมีหลายอย่าง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. สาเหตุการบาดเจ็บของสมอง
การบาดเจ็บของสมองเป็นได้ทุกอายุ อาจเกิดจากรถคว่ำ รถชนกัน หรือเดิน ๆ อยู่โชคไม่ดีถูกรถชน บางรายถูกยิงเข้าสมอง บ้านเราใช้มอเตอร์ไซค์กันมาก ขับขี่ไม่ระมัดระวัง หรือขับรถขณะเมาสุรา จึงเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย สมองที่ได้รับบาดเจ็บอาจจะเป็นเพียง สมองสะเทือน หรือสมองซ้ำ ผลเหล่าจากการเกิดสิ่งกระทบกระเทือนสมองเหล่านี้ จะทำให้เกิดการอ่อนแรงของแขนขา บางรายพูดไม่ได้
ถ้าอุบัติเหตุไม่รุนแรง เกิดเพียงสมองสะเทือนเท่านั้น อาการหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าสมองช้ำมาก มีเลือดออกในเนื้อสมอง อาจทำให้พิการตลอดชีวิตหรือเสียชีวิตได้ทันที มีคนไข้หลายรายตำรวจเป็นผู้นำส่งโรงพยาบาล เพราะพบนอนสลบอยู่ข้างถนน บางรายอาการหนักมากเสียชีวิต ที่ห้องฉุกเฉิน สุดความสามารถของแพทย์ที่จะช่วยเหลือได้
2. โรคของเส้นเลือดสมอง
สาเหตุนี้พบได้ทุกอายุอีกเช่นกัน ถ้าอายุน้อยมักเกิดจากเส้นเลือดสมองโป่งพองมาแต่กำเนิด ภายหลังส่วนที่โป่งพองแตกทำให้มีอาการชักหรือสลบได้ ในคนสูงอายุอาจเกิดจากเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดสมองอุดตัน หรือเส้นเลือดแตก เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีหลายขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเล็กลงไปอีก คือเส้นเลือดฝอย อาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า เส้นเลือดขนาดใดอุดตันหรือแตก ถ้าโชคดีเส้นเลือดตีบชั่วคราวแตกอาการก็จะหายเป็นปกติภายใน 12 หรือ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเกิดในเส้นเลือดใหญ่แตกหรืออุดตัน อาการจะไม่หายเป็นปกติ ส่งผลให้มีความพิการตลอดชีวิต
3. สมองอักเสบหรือเป็นฝีในสมอง
สาเหตุจากสมองอักเสบ ส่งผลให้เกิดอัมพาตได้ ถ้าอักเสบโดยทั่วไป เช่น ไข้สมองอักเสบ จะมีอาการไข้สูงไม่รู้สึกตัว ต่อมาแขนขาเกิดอาการเกร็ง หรือถ้าเป็นฝีในสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง การควบคุมการส่วนนั้นจะเสียหน้าที่ อาการที่แสดงออกจะไม่เป็นอัมพาตทั้งตัว แต่จะเป็นเฉพาะส่วน
4. เกิดจากเนื้องอกในสมอง
เนื้องอกในสมองเป็นได้ทุกอายุ ตั้งแต่เป็นเนื้องอกธรรมดา ไปจนถึงเนื้องอกชนิดร้ายแรง ถ้าเป็นเนื้องอกธรรมดาและสาเหตุอยู่ที่เยื่อหุ้มสมอง การผ่าตัดอาจทำให้หายขาดได้ แต่เนื้องอกในเซลล์ของสมองหลังการผ่าตัดจะหายเป็นปกติได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอก และชนิดของเนื้องอกนั้น ๆ ว่าเป็นชนิดร้ายแรงเพียงใด
5. พยาธิในสมอง
เกิดจากจากรับประทานของดิบ ของไม่สะอาด ทำให้เกิดพยาธิ หรือซิสต์ของพยาธิในสมองได้ เช่น ตัวจิ๊ดไชสมองเกิดอัมพาตได้
โรคที่มีความสัมพันธ์กับอัมพาต
มีโรคหลายโรคที่ทำให้เกิดอัมพาตได้ ถ้าไม่รักษาให้ถูกต้องหรือไม่ป้องกัน หรือไม่? ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โรคที่พบบ่อย ๆ คือ
1. ความดันโลหิตสูง
ท่านที่มีความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นอัมพาตได้มากกว่าคนปกติ คนไข้มักจะเข้าใจว่าความดันโลหิตสูงจะมีอาการปวดศีรษะเมื่อไม่ปวดศีรษะก็ไม่รับประทานยา โดยคิดเองว่าไม่เป็นไร หรือบางรายรับประทานยาไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดอัมพาตได้ โดยเฉพาะคนสูงอายุ ผนังของหลอดเลือดจะแข็งไม่ยืดหยุ่นเหมือนคนวัยหนุ่มสาว เส้นเลือดเปราะแตกได้ง่าย หรือมีแผลด้านในผนังหลอดเลือดตีบได้หรืออุดตันได้
2. ไขมันในเลือดสูง
เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้
3. โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานทำให้ปลายประสาทเสีย หน้าที่และทำให้ผนังหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นก่อนจะถึงวัยอันควร ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เกิดเส้นเลือดอุดตันหรือเส้นเลือดแตกได้ง่าย
4. โรคหัวใจรูมาติค
มีอาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ เกิดการอุดตันของเส้นเลือดสมองได้
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นอัมพาต
เมื่อเป็นอัมพาตแล้ว ไม่ควรท้อถอยหรือหมดกำลังใจ จิตใจที่เข้มแข็งและการสนใจในการฝึกหัดเท่านั้น ที่จะชนะสภาพร่างกายที่ผิดปกติได้ อีกประการหนึ่งญาติหรือผู้ดูแลมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคแทรกซ้อน และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยเพื่อสุขภาพจิตที่ดี
ข้อควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต
- ระยะแรก ๆ กล้ามเนื้อจะอ่อนไม่มีแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมแขนขาข้างที่เสียได้ การจัดท่านอนที่ถูกต้องจึงสำคัญที่สุด กางแขนข้างที่เป็น ใช้หมอนรองแขน ข้อศอกงอ มืออยู่ระดับสูงกว่าข้อศอก (เพื่อกันมือบวม) ข้อมืออยู่ในท่าเหยียด
- การบริหารข้อต่าง ๆ เพื่อป้องกันข้อติด ญาติช่วยทำให้ได้ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะแนะนำท่านในการช่วยบริหารข้อให้ผู้ป่วย ถ้ามีข้อสงสัยให้ถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ได้ ตัวผู้ป่วยเองสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยใช้แขนข้างดีช่วยยกแขนข้างเสีย
- การฝึกหัดต่าง ๆ ทางโรงพยาบาลจะมีนักกายภาพบำบัดช่วยฝึกหัดให้ท่านหัดนั่ง หัดยืน และเดิน ส่วนนักกิจกรรมบำบัด จะฝึกให้ท่านช่วยเหลือตัวเองในการประกอบกิจวัตรประจำวัน การฝึกหัดเหล่านี้อาศัยระยะเวลา ท่านจะต้องใจเย็น ถ้าตั้งใจฝึกหัดต่อไปจะเดินได้ อาจจะใช้ไม้เท้าธรรมดาหรือไม้เท้า 4 ขาช่วยพยุงเดินในรายที่การทรงตัวไม่ดี
ข้อแนะนำในการป้องกัน
- ตรวจเช็คสุขภาพทุกปี เป็นการป้องกันไว้ก่อน ถ้ามีสิ่งใดผิดปกติ เช่น เป็นเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง จะได้รักษาก่อนที่จะเกิดการแทรกซ้อนต่อไป
- ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โปรดปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด