โรคมะเร็งเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทย ถือว่าหนึ่งในภัยเงียบที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่ร้ตัว หากไม่มีการตรวจเช็คร่างกายเป็นกระจำ และมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของผู้หญิงคือ มะเร็งรังไข่ สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ แต่ 90% มักพบในผู้หญิงอายุ 40-60 ปี
สารบัญ
รังไข่คืออะไร
รังไข่ (Ovary) เป็นส่วนหนึ่งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ที่มีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์อยู่ตรงปลายท่อนำไข่ที่ปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง อยู่ในช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานอีกที โดยมีหน้าที่ผลิตไข่สำหรับสืบพันธุ์และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตรเจน (Estrogen) โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งรังไข่จะมีขนาดโดยทั่วไปประมาณ 2-3 เซนติเมตร
มะเร็งรังไข่คืออะไร?
มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์รังไข่เจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติ จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่เป็นก้อนเนื้อร้าย โดยสามารถแพร่กระจายออกไปได้ทั่วทั้งในรังไข่ เนื้อเยื่อข้างเคียงในรังไข่ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน รวมถึงเยื่อบุผิวที่ช่องท้อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะมีน้ำในช่องท้องจนทำให้ท้องบวมหรือที่เรียกว่า ท้องมาน (Ascites) และเข้าสู่กระแสเลือดในที่สุด นอกจากนี้ ยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อีกด้วย เช่น ปอด กระดูก สมอง เป็นต้น
มะเร็งรังไข่มีกี่ระยะ?
โดยทั่วไปแล้วมะเร็งรังไข่จะมีอยู่ 4 ระยะ ดังต่อไปนี้
มะเร็งรังไข่ระยะที่ 1
เป็นช่วงที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายจำกัดอยู่แค่ภายในรังไข่เท่านั้น แต่ก็อาจมีบางส่วนได้หลุดออกไปแพร่กระจายไปยังปีกมดลูก ภายในช่องท้อง และเยื่อบุช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
มะเร็งรังไข่ระยะที่ 2
เป็นช่วงที่เซลล์มะเร็งที่อยู่ภายในช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานได้แพร่กระจายไปยังมดลูก ปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ และสุดท้ายจะพบก้อนมะเร็งที่เยื่อบุภายในช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
มะเร็งรังไข่ระยะที่ 3
เป็นช่วงที่เซลล์มะเร็งที่อยู่ภายในช่องท้อง ซึ่งอยู่นอกช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน จะเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง เยื่อบุภายในช่องท้องจนเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นมา อีกทั้งยังได้แพร่กระจายเข้าไปที่กระเพาะอาหาร ตับ ม้าม ถุงน้ำดี และลำไส้
มะเร็งรังไข่ระยะที่ 4
เป็นช่วงที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปยังบริเวณอวัยวะต่างๆ ภายนอกช่องท้องอย่างรวดเร็ว โดยจะแพร่กระจายเข้าไปที่ปอด ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดและมีเซลล์มะเร็งอยู่ในน้ำด้วย จากนั้นก็ยังจะแพร่กระจายไปยังตับ ไต ปอด กระดูก และสมอง อีกทั้ง ยังแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองนอกช่องท้องที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ขาหนีบ ในช่องอก และบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้าอีกด้วย
สาเหตุของมะเร็งรังไข่
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจน ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งรังไข่ แต่อาจจะเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่อยู่ภายในรังไข่จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้นมา โดยเซลล์แต่ละส่วนของรังไข่จะส่งผลให้เกิดเนื้องอกตามตำแหน่งที่แตกต่างกัน ซึ่งมีเนื้องอกของรังไข่ 3 ชนิดด้วยกัน ดังต่อไปนี้
- เนื้องอกรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (Epithelial Ovarian Tumors) เป็นเนื้องอกที่เกิดมาจากเซลล์ผิวบุรังไข่ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ในการเกิดเนื้องอกในรังไข่และจะกลายเป็นมะเร็งมากที่สุดประมาณ 90% ของมะเร็งรังไข่
- เนื้องอกรังไข่ชนิดเซลล์สืบพันธุ์ (Germ Cell Tumors) เป็นเนื้องอกที่เกิดมาจากเซลล์ที่ผลิตไข่ ซึ่งจะกลายเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยประมาณ 5% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด
- เนื้องอกรังไข่ชนิดมาจากสายสะดือ (Sex-Cord Stromal Tumors) เป็นเนื้องอกที่เกิดมาจากเซลล์ของเนื้อเยื่อโครงสร้างของเนื้อรังไข่ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นเนื้องอกชนิดที่จะกลายเป็นมะเร็งน้อยมาก
อาการของมะเร็งรังไข่
อาการของโรคมะเร็งรังไข่ในระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ ปรากฏออกมาเลย และจะเริ่มมีอาการก็ต่อเมื่อมีความรุนแรงของโรคเกิดขึ้น โดยอาการที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่สามารถบอกได้ว่ามีสาเหตุมาจากมะเร็งรังไข่ เพราะอาจเป็นอาการของโรคอื่นได้เช่นกัน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
- เบื่ออาหาร
- อิ่มเร็วกว่าปกติในระหว่างมื้ออาหาร
- อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- น้ำหนักขึ้นหรือลดมากผิดปกติ
- ปวดบริเวณช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
- ปวดท้องมากผิดปกติ ปวดท้องเฉียบพลัน
- ปวดหลังส่วนล่าง
- เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- ปัสสาวะบ่อย
- ท้องเสียบ่อยผิดปกติ
- ท้องผูกเรื้อรัง
- รอบประจำเดือนเปลี่ยน
- อ่อนเพลียตลอดเวลา
- สิวขึ้นมากผิดปกติ
- หายใจถี่
- ท้องบวม ท้องโต
- คลำก้อนเนื้อได้ในช่องท้องน้อย
หากมีอาการเหล่านี้และเกิดบ่อย หรือมีอาการใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเป็นนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์
ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและโอกาสที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้ มีดังนี้
- ผู้ที่มีอายุ 40-60 ปี
- ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งระบบทางเดินอาหาร
- ผู้ที่มีประจำเดือนเร็ว คือเริ่มมีเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี
- ผู้ที่ประจำเดือนหมดช้า คือยังมีประจำเดือนอยู่เมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปี
- ผู้ที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ผู้ที่มีความผิดปกติของยีนกลายพันธุ์ โดยเฉพาะยีน BRCA1 และ BRCA2
- ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากบางชนิด
- ผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์
- ผู้ที่กำลังรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่เป็นกลุ่มอาการลินช์ (Lynch Syndrome) ซึ่งเป็นพฤติกรรมในการขับถ่ายที่ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยผิดปกติ จากการท้องเสียหรือท้องผูก และมักจะมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด มีความอยากรับประทานอาหารมากขึ้น ปวดท้อง ท้องโตขึ้น
- ผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งระบบทางเดินอาหาร
มะเร็งรังไข่ตรวจยังไง?
ในการตรวจวินิจฉัยของโรคมะเร็งรังไข่ แพทย์จะคัดกรองอาการของผู้รับบริการเบื้องต้น โดยการซักถามประวัติสุขภาพ อาการ ประวัติครอบครัวที่อาจมีข้อบ่งชี้การเป็นมะเร็งรังไข่ได้ และจะทำการตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นก็จะตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคและหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างถูกต้อง ดังต่อไปนี้
1. การตรวจภายใน (Pelvic Exam)
เป็นการตรวจดูขนาดของรังไข่ ของเหลวที่อาจมีจะการสะสมอยู่ในช่องท้อง ปากมดลูก อวัยวะเพศภายนอกทั้งหมด ช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน ทวารหนัก และขาหนีบ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ
2. การตรวจจากภาพถ่าย (Photo Examination)
เป็นการตรวจมะเร็งรังไข่จากภาพถ่าย โดยใช้วิธีการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจความเปลี่ยนแปลงทางเคมี (PET Scan) เป็นต้น เพื่อดูขนาดและลักษณะรูปร่างของรังไข่ และดูการแพร่กระจายของมะเร็งจากรังไข่ไปยังอวัยวะอื่นของร่างกาย
3. การตรวจเลือด (Blood Test)
เป็นการตรวจดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) ได้แก่ การตรวจหาค่า CA-125 เป็นค่าโปรตีนที่พบได้เฉพาะบนเซลล์ของมะเร็งรังไข่ และการตรวจหาค่า HE 4 เป็นการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว
4. การตรวจความผิดปกติของพันธุกรรม (Genetic Testing)
เป็นการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งเป็นกลุ่มยีนมีทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ที่ผิดปกติ ผู้ที่ได้รับสืบทอดยีนชนิดนี้มา จะมีโอกาสเป็นรังไข่สูงขึ้น
5. การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy)
เป็นการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อบางส่วนที่สงสัยออก และนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อจะได้ยืนยันชนิดของก้อนเนื้อและระบุความรุนแรงของเนื้อเยื่อว่าเป็นมะเร็งรังไข่หรือไม่
มะเร็งรังไข่รักษาอย่างไร?
ในการรักษามะเร็งรังไข่เบื้องต้น แพทย์จะให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และการผ่อนคลายความเครียด ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งรังไข่นั้นมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของมะเร็งรังไข่ ระยะและความรุนแรงของมะเร็ง สุขภาพร่างกายของผู้รับบริการ โดยแพทย์จะใช้ดุลยพินิจหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละราย โดยมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้
1. การผ่าตัด (Surgery)
การผ่าตัดคือการนำเอาเซลล์มะเร็งออกให้ได้มากที่สุด โดยการนำรังไข่และปีกมดลูกออก แต่หากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังรังไข่ทั้ง 2 ข้าง หรืออวัยวะที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เช่น มดลูก ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน ก็อาจต้องผ่าตัดอวัยวะและเนื้อเยื่อรอบข้างเหล่านี้ออกไปด้วย หรือจะผ่าตัดเอาเฉพาะเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายออกเท่านั้น ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์
2. การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
เป็นการรักษาด้วยการใช้ยา เพื่อทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ภายในร่างกาย ซึ่งยาที่ใช้จะมีทั้งชนิดที่ต้องรับประทาน และการฉีดยาผ่านทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ แต่ในบางกรณีอาจฉีดยาเข้าไปทางช่องไขสันหลัง และในช่องท้องโดยตรง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ โดยแพทย์อาจใช้วิธีนี้ก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดก็ได้ และยังใช้รักษาผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ที่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายภายในช่องท้องแล้วอีกด้วย
3. การให้ยารักษาเซลล์มะเร็งแบบจำเพาะ (Targeted Therapy)
เป็นการใช้ยาหรือสารบางชนิดเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยการเข้าไปรบกวนการทำงานของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายหลังจากนั้น โดยการรักษาด้วยวิธีนี้มีความปลอดภัยและพบการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่บ่อยกับเซลล์ปกติที่อยู่ภายในร่างกาย
4. การฉายรังสีหรือรังสีรักษา (Radiation Therapy)
เป็นการใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูง เข้าไปทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ของเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด อีกทั้งยังทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงด้วย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมีเซลล์มะเร็งเกิดซ้ำขึ้นมาใหม่ โดยวิธีการรักษานี้มีความแม่นยำ ควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ดี และสามารถลดผลข้างเคียงกับเนื้อเยื่อปกติโดยรอบได้ ซึ่งรังสีที่นิยมใช้รักษามะเร็งรังไข่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
การฉายรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) เป็นการฉายรังสีตรงเข้าสู่ร่างกาย โดยการฝังแร่กัมมันตรังสีใส่เข้าไปยังภายในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือบริเวณใกล้เคียงกับก้อนมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาได้ตรงจุดและลดความเสียหายของเนื้อเยื่อปกติที่อยู่บริเวณรอบก้อนมะเร็งได้ โดยจะไม่มีรังสีตกค้างภายในร่างกาย ซึ่งจะใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียวหรือใช้รักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ ก็ได้ เช่น การฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด
และอีกประเภทคือ การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation Therapy: EBRT) เป็นการฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย และทำการฉายเข้าไปที่ก้อนมะเร็งภายในร่างกาย ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำและสามารถรักษาเนื้อเยื่อปกติโดยรอบให้ปลอดภัยจากรังสีได้มากที่สุด อีกทั้งยังช่วยลดผลข้างเคียงของการรักษาและควบคุมโรคได้มากขึ้น
มะเร็งรังไข่รักษาหายไหม?
มะเร็งรังไข่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถการป้องกันการแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือยับยั้งการเกิดโรคได้ ดังนั้น หากร่างกายมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปวดประจำเดือนรุนแรง น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลียตลอดเวลาและเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูก ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาก่อนอาการจะลุกลามจนควบคุมได้ยาก
การดูแลและคอยใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น หากสังเกตร่างกายมีความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรงของโรค และสมารถรักษาได้ทันท่วงที