ปกติแล้วอัตราการเต้นของหัวใจในเด็กจะสูงกว่าอัตราการเต้นการเต้นของหัวใจในผู้ใหญ่ มาเรียนรู้ระดับอัตราการเต้นของหัวใจในเด็ก เพื่อที่จะสามารถประเมินได้ว่า “หัวใจของเด็กเต้นเร็ว หรือช้า ผิดปกติหรือไม่”
สารบัญ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจ
ในทางการแพทย์แบ่งอัตราการเต้นของหัวใจออกเป็นหลายค่าที่พบบ่อย เช่น
- อัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก
- อัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกาย
- ค่าชีพจรเป้าหมายขณะออกกำลังกายด้วย
ทั้งนี้หากรู้ว่า ได้รับการตรวจวัดค่าอัตราการเต้นของหัวใจในรูปแบบไหนนั้นจะช่วยให้เราสามารถวัดค่าได้ตรงตามความต้องการ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
ระดับอัตราการเต้นของหัวใจในเด็กโดยเฉลี่ย
การแบ่งระดับอัตราการเต้นของหัวใจในเด็กสามารถแบ่งได้หลายแบบ แต่วิธีง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่จะสะดวกในการดูว่า “ลูกของท่าน กำลังประสบปัญหาเรื่องหัวใจเต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ หรือไม่นั้น” มีวิธีง่ายๆ ดังนี้
เริ่มด้วยการเอาหูแนบอก หรือใช้หูฟังวางลงบนหน้าอก ค่อนไปทางซ้าย และนับให้ครบ 1 นาที จะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจในขณะนั้น
นอกจากนี้เรายังสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ในทั้งขณะหลับและขณะตื่น โดยแต่ละช่วงอายุค่าทั้งสองนี้จะไม่เท่ากัน ดังนี้
อัตราการเต้นของหัวใจขณะตื่น
อายุ | หัวใจเต้น |
0 เดือน – 1 เดือน | 101-165 ครั้ง/นาที |
1 เดือน – 1 ปี | 100-150 ครั้ง/นาที |
1 ปี – 2 ปี | จำนวน 70-110 ครั้ง/นาที |
3 ปี – 5 ปี | จำนวน 65-110 ครั้ง/นาที |
6 ปี – 11 ปี | จำนวน 60-95 ครั้ง/นาทื |
12 ปี – 15 ปี | จำนวน 55-85 ครั้ง/นาที |
อัตราการเต้นของหัวใจขณะหลับ
อายุ | หัวใจเต้น |
0 เดือน – 1 เดือน | 90-160 ครั้ง/นาที |
1 เดือน – 1 ปี | 90-160 ครั้ง/นาที |
1 ปี – 2 ปี | 80-120 ครั้ง/นาที |
3 ปี – 5 ปี | 65-100 ครั้ง/นาที |
6 ปี – 11 ปี | 58-90 ครั้ง/นาทื |
12 ปี – 15 ปี | 50-90 ครั้ง/นาที |
ทั้งนี้หากพบว่า จังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ หรือได้ยินเสียงแปลกๆ หรือพบว่า จังหวะการเต้นช้า หรือเร็วกว่าปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
อัตราการเต้นหัวใจที่ช้าและเร็ว
อัตราการเต้นของหัวใจในเด็กสามารถเป็นได้ทั้งเต้นปกติ เต้นเร็วผิดปกติ (tachycardia) หรือเต้นช้าผิดปกติ (bradycardia) ได้ เช่น
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็วที่สม่ำเสมอ (Supraventricular tachycardia: SVT) มีอัตราการเต้นของหัวใจได้สูงกว่า 220 ครั้ง/นาที
- ภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำกว่า 50 ครั้ง/นาที
หากมีภาวะที่หัวใจเต้นช้า หรือเร็วเกินไป จะต้องคิดไว้เสมอว่า อาจเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ได้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะหากลูกของคุณมีอาการร่วมด้วยดังต่อไปนี้
- เป็นลมหมดสติ
- วิงเวียนศีรษะ
- ร้องไห้งอแง
- กระสับกระส่าย
- มีชีพจรค่อนข้างต่ำขณะออกกำลังกาย
- ชีพจรค่อนข้างสูงขณะหลับ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจช้า หรือเร็วในเด็กได้เช่นกัน เช่น
- คาเฟอีน
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสำหรับรักษาโรคสมาธิสั้น ยาแก้คัดจมูกบางชนิด
- มีผลมาจากความเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น มีไข้ ภาวะซีด ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
อัตราการเต้นของหัวใจไม่ว่าจะในเด็ก หรือผู้ใหญ่ สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพร่างกายในขณะนั้นๆ ได้ ดังนั้นจึงควรตรวจเช็กสุขภาพร่างกายและสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ
หากคุณไม่แน่ใจว่า อัตราการเต้นของหัวใจของลูก หรือเด็กๆ ในความดูแล มีความผิดปกติหรือไม่ การไปตรวจสุขภาพและการตรวจสุขภาพหัวใจน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อคลายความไม่สบายใจ