ฟัน (Teeth) เป็นหนึ่งในอวัยวะในช่องปากที่มีประโยชน์หลากหลาย เช่น บดเคี้ยวอาหาร ทำให้เกิดความสวยงามของใบหน้า รักษารูปร่างและโครงสร้างของใบหน้า หรือช่วยในการออกเสียงพยัญชนะบางตัวที่ต้องออกเสียงผ่านไรฟัน
ฟันของคนเราแบ่งเป็น 2 ชุดคือ ฟันชุดแรก หรือที่นิยมเรียกว่า “ฟันน้ำนม” และฟันชุดที่สอง หรือเรียกว่า “ฟันแท้” ไม่ว่าจะเป็นชุดฟันชุดใดก็ล้วนมีความสำคัญและต้องดูแลให้ถูกวิธี ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เกิดฟันผุจนอาจต้องถอนฟันซี่นั้นออกก็ได้
ในบทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับฟันกรามซึ่งเป็นฟันที่มีหน้าที่สำคัญในการบดเคี้ยวอาหาร เมื่อเกิดความผิดปกติอย่างฟันกรามผุและจำเป็นต้องถอนฟันกรามผุออก ผู้เข้ารับการถอนฟันกรามผุมีข้อควรระวังอะไรบ้าง
สารบัญ
ทำความรู้จักกับฟันกราม
ฟันกรามเป็นฟันที่อยู่ถัดจากฟันเขี้ยวเข้าไปข้างใน จะมียอด หรือปุ่มฟัน (Cusp) หลายปุ่ม ใช้สำหรับขบและบดอาหารให้ละเอียด สามารถแบ่งย่อยเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- ฟันกรามน้อย (Premolar) หรือเรียกว่า “ฟันกรามน้อย” มีจำนวน 8 ซี่ เป็นฟันสองซี่ที่อยู่ถัดจากฟันเขี้ยวเข้ามาด้านในทั้งข้างล่างและข้างบนของช่องปาก ทำหน้าที่ฉีกแบ่งและบดอาหารให้ละเอียด
- ฟันกรามใหญ่ (Molar) มีจำนวน 12 ซี่ เป็นฟันที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะคล้ายฟันกรามน้อยแต่มีขนาดใหญ่กว่า ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร และควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของขากรรไกรร่วมกับฟันเขี้ยว
สาเหตุของฟันกรามผุ
สาเหตุของฟันกรามผุเหมือนกับโรคฟันผุทั่วไปคือ เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากทำปฏิกิริยากับคราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่ตกค้างจากการทำความสะอาดฟันและช่องปากไม่ดีพอ ทำให้เกิดกรดเข้าไปทำลายเคลือบฟันและเนื้อฟันจนทำให้เกิดฟันผุนั่นเอง
อาการของฟันกรามผุ
อาการฟันผุจะเริ่มจากบริเวณเคลือบฟันก่อน หากปล่อยทิ้งไว้ จะค่อยๆ ลุกลามไปที่เนื้อฟัน โพรงประสาทฟัน ไปจนถึงปลายรากฟัน โดยมีลักษณะอาการดังนี้
- ในช่วงแรกของฟันผุมักไม่มีอาการแสดงอะไร แต่อาจสังเกตได้จากลักษณะของฟันที่เปลี่ยนไป เช่น ฟันเริ่มมีสีขาวขุ่นเหมือนสีของนม ผิวฟันมีลักษณะด้าน หรือมีลักษณะขรุขระ ไม่เรียบ หรือพบเป็นรอยสีดำตามหลุมและร่องฟัน
- เมื่อฟันผุลึกไปถึงขั้นเนื้อฟันจะทำให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันขณะเคี้ยวอาหาร หรือรับประทานของเย็น
- เมื่อฟันผุลึกไปโพรงประสาทฟันจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงมาก
- เมื่อฟันผุลึกมากไปถึงปลายรากฟันอาจทำให้รากฟันอักเสบจนเกิดการติดเชื้อ มีอาการปวดอย่างรุนแรง เหงือกบวม แก้มบวม หรือเป็นหนองได้
- ในบางรายอาจมีปัญหาเรื่องกลิ่นปากร่วมด้วย
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
ปกติแล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุกๆ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติที่กล่าวไปในข้างต้น หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ก็ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และเข้ารับรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 6 เดือน
ทันตแพทย์จะสามารถบรรเทาระยะเริ่มต้นของฟันผุ (ที่มีลักษณะขาวขุ่นแต่ยังไม่เป็นรู) ได้ด้วยการเคลือบฟลูออไรด์ ส่วนฟันผุเป็นรูแต่ยังไม่ทะลุโพรงประสาทฟันสามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการถอนฟันซี่นั้นออกไปได้มาก
แนวทางการรักษาฟันกรามผุ
แนวทางการรักษาฟันกรามผุเหมือนกับโรคฟันผุทั่วไปคือ ในเบื้องต้นผู้ที่มีอาการในกลุ่มฟันผุจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการโดยทันตแพทย์ก่อน หลังจากนั้นทันตแพทย์จะวางแผนการรักษาตามระดับความรุนแรง ดังนี้
การรักษาฟันผุบริเวณเคลือบฟันและเนื้อฟัน
ทันตแพทย์จะเตรียมโพรงฟันโดยการกรอฟันส่วนที่ผุออก หลังจากเตรียมโพรงฟันเสร็จเรียบร้อย ทันตแพทย์จะบูรณะฟันโดยการอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันที่เหมาะสม ซึ่งมีทั้งวัสดุสีคล้ายฟัน (Resin composite) และวัสดุคล้ายโลหะ (Amalgam)
การรักษาฟันผุลึกถึงโพรงประสาทฟัน หรือปลายรากฟัน
หากฟันซี่นั้นไม่ได้ผุอย่างรุนแรงมากนักยังเหลือเนื้อฟันเพียงพอที่จะครอบฟันได้ ทันตแพทย์จะเก็บฟันซี่นั้นไว้ และรักษารากฟัน หลังจากนั้นจึงค่อยทำเดือยฟันและครอบฟันเพื่อทดแทนเนื้อฟันผุที่เสียไป
อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่ฟันผุลึกมากจนไม่สามารถทำครอบฟันได้ ไม่มีเนื้อฟันเหลือเพียงพอ ผุลงไปใต้เหงือกมาก ผุทะลุรากฟัน หรือกระดูกรองรับฟันเหลือน้อย ไม่แข็งแรง
ทันตแพทย์จะถอนฟันกรามผุออก และเข้าสู่กระบวนการรักษาอื่นๆ ต่อไป โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เข้ารับการถอนฟันเป็นหลัก เช่น ทำฟันปลอมแบบถอดได้ ทำฟันปลอมแบบติดแน่น หรือทำรากฟันเทียม
ข้อควรระวังในการถอนฟันกรามผุ
หลังจากถอนฟันกรามผุออกไปแล้วจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน ซึ่งจำเป็นต้องสวมใส่ฟันปลอมเพื่อทดแทนฟันที่เสียไป เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ฟันด้านข้างล้มลงมาในช่องว่างระหว่างฟันได้ รวมทั้งฟันด้านบนจะห้อยลงมาสู่ฃ่องว่างด้านล่าง
สำหรับคนไข้ที่จัดฟันแล้ว รีเทนเนอร์เดิมจะใส่ได้ไม่พอดี จำเป็นต้องทำรีเทนเนอร์คู่ใหม่ หรือบางรายที่มีปัญหามากอาจจำเป็นต้องจัดฟันใหม่เลยก็มี
อย่างไรก็ตาม ฟันปลอมมีหลายประเภท ทั้งแบบฟันปลอมแบบถอดได้ ฟันปลอมแบบติดแน่น หรือสะพานฟัน ซึ่งแต่ละประเภทมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกันไป ผู้เข้ารับการถอนฟันกรามผุควรปรึกษาทันตแพทย์เพิ่มเติม เพื่อเลือกชนิดของฟันปลอมที่เหมาะสมกับตนเองและงบประมาณที่มี
นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่เข้าใจผิดว่า หลังจากที่ถอนฟันกรามออกไปแล้วสามารถใส่รีเทนเทนเนอร์เพื่อป้องกันฟันล้มได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะรีเทนเนอร์เป็นเครื่องมือคงสภาพฟันสำหรับผู้ที่จัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
การที่ผู้เข้ารับการถอนฟันกรามผุใส่รีเทนเนอร์เพื่อป้องกันฟันล้ม นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว การใส่รีเทนเนอร์ยังอาจทำให้เกิดโทษต่อฟันและช่องปากได้ เช่น ฟันเสียรูป เป็นแผลในปาก พูดไม่ชัด หรือฟันผุจากการทำความสะอาดไม่ดีพอได้อีกด้วย
ราคาการถอนฟันกรามผุ
ราคาการถอนฟันกรามผุจะขึ้นอยู่กับระดับความยาก-ง่าย เป็นหลัก โดยเริ่มต้นที่ราคาประมาณ 500-2,500 บาท และยังไม่รวมค่าเอ็กซเรย์ หรือการรักษาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การขูดหินปูน หรือทำฟันปลอม
อย่างไรก็ตาม ในบางคลินิกทันตกรรม หรือโรงพยาบาลสามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาทางทันตกรรมได้ ทั้งการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน หรือผ่าฟันคุด ในวงเงินรวมไม่เกิน 900 บาทต่อปี
ทั้งนี้ผู้เข้ารับการถอนฟันกรามผุควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับสถานพยาบาลที่เข้าใช้บริการก่อน
คำถามที่พบบ่อย
คำถาม: การถอนฟันกรามซี่ในสุดจะทำให้ฟันล้มไหม
คำตอบ: ฟันกรามซี่สุดท้ายเป็นหนึ่งในฟันคุดที่พบบ่อย ซึ่งในผู้ที่ฟันคุดไม่สามารถงอกโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาได้ หรือผู้ที่ไม่สามารถทำความสะอาดฟันกรามซี่ในสุดได้ดีพอ
ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันคุดซี่นั้นออกเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง เช่น การปวดฟันอย่างรุนแรง เหงือกอักเสบ เป็นหนอง หรือทำให้ฟันกรามข้างเคียงผุตามไปด้วย
ทั้งนี้การถอนฟันกรามซี่ในสุดจะไม่ทำให้เกิดฟันล้ม และไม่จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมเหมือนกับการถอนฟันกรามผุบริเวณอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หากมีฟันซี่ในสุดด้านบน ซึ่งคู่กับฟันคุดล่าง และเมื่อถอนฟันคุดล่างแล้ว ฟันกรามบนซี่ในสุดนี้จะไม่มีคู่สบ ควรถอนฟันกรามบนซี่ในสุดนั้นด้วย เพื่อป้องกันการห้อยลงสู่ช่องว่างด้านล่าง และทำให้ซอกในสุดด้านบนมีเศษอาหารติดและผุในภายหลัง
ฟันกรามผุนั้น สาเหตุหลักเกิดจากการดูแลความสะอาดฟันและช่องปากที่ไม่ดีพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันกรามผุ รวมไปถึงฟันซี่อื่นๆ ผุ ทุกคนควรใส่ใจในการดูแลความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย และเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือน