Loxoprofen (ล็อกโซโพรเฟน)

ล็อกโซโพรเฟน (Loxoprofen) จัดเป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือเอ็นเซด (NSAIDs) กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซิจิเนส (Cyclooxygenase; COX – เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารสื่อกลางการอักเสบ) แบบไม่จำเพาะเจาะจง (ยับยั้งทั้ง COX-I และ COX-II) ยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารสื่อกลางการอักเสบจากกรดอะราคิโดนิก (Arachidonic acid) ทำให้มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ

สรรพคุณของ Loxoprofen

  • บรรเทาอาการปวด: ใช้ในการบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดข้อ, ปวดหลัง, หรืออาการปวดจากโรคข้ออักเสบ และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นอกจากนี้ยังใช้บรรเทาอาการปวดจากประจำเดือน ด้วย
  • ลดการอักเสบ: สามารถช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งมีประโยชน์ในการรักษาโรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบหรืออาการบวมจากการบาดเจ็บ
  • บรรเทาอาการไข้: มีสรรพคุณในการลดไข้ ซึ่งสามารถใช้ในกรณีที่มีอาการไข้จากการติดเชื้อหรือภาวะอื่นๆ

ข้อบ่งใช้ของ Loxoprofen

  • ปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือการอักเสบ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดหลัง, ปวดข้อจากการบาดเจ็บ
  • โรคข้ออักเสบ: ใช้บรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคข้อเสื่อม
  • อาการปวดประจำเดือน: ใช้ในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรง
  • อาการไข้และการอักเสบ: ใช้ลดไข้และการอักเสบในโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อ

ขนาดและวิธีการใช้

  • สำหรับบรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดจากไขข้อรูมาตอยด์ ข้อเสื่อม ปวดหลังช่วงล่าง ปวดรอบข้อไหล่ ปวดฟัน และการปวดแผลหลังการผ่าตัด หรือหลังถอนฟัน การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 60 มิลลิกรัม (1 เม็ด) วันละสามครั้ง หากเป็นการใช้ยาตามอาการเมื่อมีอาการปวด รับประทานขนาด 60-120 มิลลิกรัม (1-2 เม็ด) ต่อครั้ง
  • สำหรับลดไข้ การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 60 มิลลิกรัม (1 เม็ด) ต่อครั้ง วันละสองครั้ง ไม่เกินวันละ 180 มิลลิกรัม (3 เม็ด)
  • ขนาดยาสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมของอาการและอายุของผู้ป่วย

ข้อควรระวังในการใช้

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการแพ้ยา Loxoprofen และผู้ป่วยที่มีการแพ้ยา NSAIDs กลุ่มที่ยับยั้ง COX-I เนื่องจากอาจเกิดการแพ้ยาข้ามกลุ่ม (Cross hypersensitivety) ได้ (เป็นยาในกลุ่ม NSAIDs ซึ่งเป็นกลุ่มยาขนาดใหญ่ มีหลายกลุ่มย่อย)
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ผลข้างเคียงของการใช้

  • อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร อาการบวม ผื่นแพ้ ลมพิษ ง่วงซึม ไข้ และอาการคัน
  • อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่
    • การแพ้ยาแบบ Anaphylaxis ซึ่งเป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อยา สารเคมี หรืสารก่อการแพ้อย่างรุนแรง หรือเกิดอาการช็อก
    • ความผิดปกติต่อระบบเลือด ได้แก่ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
    • ความผิดปกติต่อไต ไตอักเสบ
    • ความผิดปกติต่อหัวใจ ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว
    • เนื้อเยื่อระหว่างถุงลมปอดอักเสบ
    • ความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร การอุดกั้นของระบบทางเดินอาหาร ตับบกพร่อง ดีซ่าน
    • กล้ามเนื้อสลายตัว
    • หืดกำเริบ

ข้อควรทราบอื่นๆของยา

  • ยานี้ยังไม่ถูกจัดกลุ่มตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
  • ควรรับประทานยานี้ระหว่างหรือหลังอาหาร เนื่องจากยาทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
  • ไม่ควรรับประทานยานี้เกินกว่าครั้งละ 2 เม็ด
  • ผู้ป่วยควรระวังการใช้ยาต้านการอักเสบหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ในผู้ป่วยบางรายอาจพบการใช้ยาต้านการอักเสบต่างยี่ห้อ แต่ตัวยาเป็นตัวยาเดียวกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งอาจเสริมฤทธิ์กันทำให้ได้รับยาเกินขนาดและเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ (เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร กิดแผลในกระเพาะอาหาร) หรือพิษจากการใช้ยาได้

Scroll to Top