“ไต” เป็นหนึ่งในอวัยวะที่ต้องทำงานหนักอยู่แทบจะตลอดเวลา เพราะมันมีหน้าที่ฟอกของเสียออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ ฟอกเลือดในร่างกายเราให้เป็นเลือดที่สะอาดไร้สารพิษ และยังทำหน้าที่คุมปริมาณวิตามินกับแร่ธาตุสำคัญหลายตัวในร่างกายอีก ด้วยเหตุนี้ หากไตของคุณทำงานบกพร่องหรือเสียหาย ร่างกายของคุณจะเต็มไปด้วยของเสียที่ไม่ได้ล้างออก ความดันโลหิตคุณของสูงขึ้น ยังไม่รวมโรคหรือความผิดปกติที่จะตามมาอีกมากมาย เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ที่อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
การตรวจสุขภาพไต จึงเป็นอีกรายการตรวจสุขภาพที่มองข้ามไม่ได้ สำหรับคนที่ยังไม่เคยตรวจสุขภาพ ก็อาจสงสัยว่าการตรวจไตมีวิธีอย่างไร หรือคนที่เคยตรวจสุขภาพมาแล้วหลายคนอาจสงสัยว่าผลตรวจไตหมายความว่าอย่างไรบ้าง ตารางค่าไตปกติเป็นอย่างไร
ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกการตรวจไตพร้อมๆ กัน ว่าการตรวจไตมีรายละเอียดอย่างไร ตรวจได้กี่แบบ ก่อนตรวจมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างไร พร้อมวิธีการดูผลตรวจไต
สารบัญ
การตรวจไตคืออะไร?
การตรวจไต คือ การตรวจดูสมรรถภาพการคัดแยกของเสียออกจากกระแสเลือดของไต รวมถึงตรวจโอกาสเกิดความผิดปกติหรือบกพร่องที่ไต ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสเกิดโรคประจำตัวที่ร้ายแรงได้ เช่น โรคไต การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคหัวใจ เป็นต้น
นอกจากนี้การตรวจไตยังเป็นการตรวจดูผลกระทบจากการกินยาประจำตัวบางชนิดที่อาจส่งผลให้ไตทำงานหนักจนเสื่อมสมรรถภาพเร็วกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติใดๆ ผู้ป่วยจะได้แจ้งข้อมูลเพื่อให้แพทย์จัดยาชุดใหม่หรือแนะนำวิธีรักษาแบบอื่นๆ ต่อไป
ตรวจไตมีกี่วิธี?
วิธีการตรวจไตหาตารางค่าไตปกติ แบ่งออกได้ 3 วิธีหลักๆ ได้แก่
1. การตรวจเลือดดูค่าไต
การตรวจเลือดเป็นวิธีการตรวจไตซึ่งเป็นที่นิยมกันมากที่สุด โดยมักเป็นหนึ่งในรายการตรวจสุขภาพทั่วไปที่จะต้องมีการเจาะเก็บตัวอย่างในผู้เข้ารับบริการทุกท่านอยู่แล้ว โดยการเก็บตัวอย่างเลือดสามารถตรวจดูค่าไตได้หลายส่วน เช่น
- ดูค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) เป็นค่าไนโตรเจนซึ่งเป็นส่วนกระกอบของสารยูเรีย หรือสารของเสียในกระแสเลือดที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารประเภทโปรตีนในร่างกาย
- ดูค่า Cr (Creatinine) สารครีเอตินินเป็นสารของเสียที่พบได้ในเลือด ได้มาจากการเผาผลาญหรือการยืดขยับกล้ามเนื้อ แล้วไตจะกรองออก จากนั้นขับทิ้งออกมาผ่านทางปัสสาวะ
- ดูค่า eGFR (estimated Glomerular filtration rate) หรือค่ากระแสเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในไตต่อนาที
- ดูค่า FBG หรือค่าระดับน้ำตาลในเลือด
- ดูค่า Lipid profile หรือค่าระดับไขมันในเลือด เช่น ระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ไขมันดี (HDL) และไขมันไม่ดี (LDL)
2. การตรวจปัสสาวะดูค่าไต
ปัสสาวะเป็นของเสียที่ถูกขับออกมาจากร่างกายผ่านการสั่งการจากไต จึงเป็นอีกตัวคัดกรองถึงคุณภาพการทำงานของไตได้เช่นเดียวกัน โดยค่าการทำงานของไตที่สามารถตรวจพบได้จากการเก็บปัสสาวะ หลักๆ ได้แก่
- ค่า UMA (Urine Microalbumin) หรือค่าปริมาณของสารโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ ซึ่งบ่งบอกถึงความเสื่อมของไต
- ค่า Cr (Creatinine) เป็นการตรวจค่าของเสียในเลือดจากการใช้งานกล้ามเนื้อแบบเดียวกับรายการตรวจที่อยู่ในส่วนการตรวจเลือด แต่ยังสามารถตรวจผ่านการเก็บปัสสาวะได้อีกด้วย
- ค่าเม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells) และเม็ดเลือดขาว (White Blood Cells) ในปัสสาวะ เพื่อหาความเสี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือภาวะบาดเจ็บในทางเดินปัสสาวะ
- ค่าสารโปรตีนในปัสสาวะ (Urine Protein Test) เพื่อดูประสิทธิภาพการกรองของเสียของไต
3. การตรวจอัลตราซาวด์ไต
การตรวจอัลตราซาวด์ไตเป็นการตรวจดูลักษณะและรูปร่างของไต ผ่านการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงถ่ายทอดภาพของไตออกมา ส่วนมากจะอยู่ในส่วนของการตรวจอัลตราซาวด์ช่องส่วนบน (Upper Adomen Ultrasonography) ซึ่งจะเป็นการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูลักษณะของอวัยวะภายในบริเวณช่องท้องตำแหน่งดังกล่าว เช่น ตับ ไต ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดีส่วนต้น
ผลลัพธ์ของการตรวจไต
เกณฑ์ค่าการทำงานของไตที่คุณควรรู้แบ่งออกได้ 3 ส่วน ได้แก่
1. ค่า BUN (Blood Urea Nitrogen)
เกณฑ์ปกติของค่า BUN ในผู้เข้าตรวจวัยผู้ใหญ่ คือ 10-20 mg/dL ส่วนเกณฑ์ปกติของเด็ก คือ 5-18 mg/dL
มีปัจจัยมากมายที่สามารถส่งผลทำให้ค่า BUN ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น การตั้งครรภ์ ยาประจำตัวบางชนิด อายุที่เพิ่มมากขึ้น สารโปรตีนในร่างกาย โรคประจำตัว
ค่า BUN ในเลือดที่สูงเกินกว่าเกณฑ์ จัดเป็นตัวบ่งบอกถึงสัญญาณการทำงานของไตที่ลดสมรรถภาพลง จนไม่สามารถขับเอาออกเสียในเลือดออกได้หมด อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภาวะขาดน้ำ ภาวะทางเดินปัสสาวะถูกอุดกั้น ความเครียด ภาวะหัวใจวาย ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร การมีแผลจากความร้อน หรือไฟไหม้
ในขณะเดียวกัน ค่า BUN ที่ต่ำว่าเกณฑ์ซึ่งถือเป็นกรณีที่พบได้น้อย ก็ถือเป็นสัญญาณความผิดปกติของไตหลายอย่างเช่นกัน เช่น ภาวะขาดสารอาหาร หรือร่างกายมีการดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้ไม่ดีพอ รวมไปถึงอาจเป็นตัวบ่งบอกการทำงานที่ผิดปกติของตับ หรือการกินยาบางชนิดมากเกินไปได้
2. ค่า Cr (Creatinine)
โดยทั่วไปสารครีเอตินินจะต้องถูกขับออกทางปัสสาวะจนหมด แต่หากเรายังตรวจพบสารชนิดนี้ในกระแสเลือดหรือทางปัสสาวะอยู่ในระดับที่มากเกินเกณฑ์ ก็แสดงว่าไตมีความบกพร่องจนไม่สามารถขับสารชนิดนี้ออกไปได้จนหมด
ค่า CR หรือค่าครีเอตินินทั้งจากเลือดและปัสสาวะในผู้หญิงและผู้ชายจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน
1. เกณฑ์ครีเอตินินจากการเก็บตัวอย่างเลือด
- ผู้ชายวัยผู้ใหญ่ เกณฑ์ปกติของค่าครีเอตินินจะอยู่ที่ 0.67-1.17 mg/dL
- ผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ เกณฑ์ปกติของค่าครีเอตินินจะอยู่ที่ 0.51-0.95 mg/dL
2. เกณฑ์ครีเอตินินจากการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
- ผู้ชายวัยผู้ใหญ่ เกณฑ์ปกติของค่าครีเอตินินจะอยู่ที่ 40-278 mg/dL
- ผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ เกณฑ์ปกติของค่าครีเอตินินจะอยู่ที่ 29-226 mg/dL
ปัจจัยที่ทำให้ค่าครีเอตินีนไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานแบ่งออกได้หลายอย่าง เช่น โรคไต ภาวะไตวาย โรคเบาหวาน โรคหัวใจ การมีนิ่วในไตจนไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ การออกฤทธิ์ของยาบางชนิด
ค่าครีเอตินินที่ต่ำว่าเกณฑ์อาจเกิดมาจากการตั้งครรภ์ หรือแสดงถึงภาวะทุพโภชนาการ หรือปัญหากล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ อาจเป็นสัญญาณบอกถึงภาวะกล้ามเนื้อลีบได้
แต่หากค่าครีเอตินีนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงผลกระทบจากยาบางชนิด ปัญหาสิ่งอุดตันในทางเดินปัสสาวะ ภาวะกรวยไตอักเสบ ภาวะหลอดเลือดแข็ง หรือภาวะไตวาย รวมถึงอาจเป็นผลกระทบมาจากโรคประจำตัวบางชนิดอย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไตได้
3. ค่า eGFR
ค่า eGFR จัดเป็นตัวบ่งบอกถึงประสิทธิภาพและความเร็วในการขับของเสียออกจากตัวกรองที่ไต โดยทั่วไปมีเกณฑ์อยู่ที่ 90 มิลลิลิตรต่อนาที (ml/minute) สามารถแบ่งผลตรวจออกได้ 5 ระดับ ดังต่อไปนี้
- ระดับที่ 1 ค่า eGFR 90 ml/minute ขึ้นไป ถือว่า ไตยังทำงานอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือว่ามีความเสื่อมในระดับเล็กน้อย
- ระดับที่ 2 ค่า eGFR 60-89 ml/minute ไตเริ่มมีความผิดปกติแต่ยังในระดับเล็กน้อย แต่ควรเริ่มตรวจประเมินความเสื่อมของไต หรือสัญญาณของโรคไตเพิ่มเติม
- ระดับที่ 3 ค่า eGFR 30-59 ml/minute ไตเริ่มผิดปกติในระดับปานกลาง การคัดกรองของเสียทำงานได้น้อยลง ควรเริ่มระมัดระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และควรตรวจสารโปรตีนในปัสสาวะพร้อมกับพบแพทย์เพื่อหาคำแนะนำเพิ่มเติม
- ระดับที่ 4 ค่า eGFR 29-15 ml/minute ไตเริ่มผิดปกติในระดับรุนแรง ประสิทธิภาพจะทำงานลดลงอย่างเริ่มเห็นได้ชัด อาจต้องตรวจเลือดและปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการทุก 3-6 เดือน และควรเริ่มการฟอกไตได้แล้ว
- ระดับที่ 5 ค่า eGFR อยู่ที่น้อยว่า 15 ml/minute จัดเป็นภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไตอาจหยุดการทำงานลงได้ และผู้ป่วยจะต้องฟอกไต
4. ค่า BUN / Creatinine Ratio
ค่า BUN / Creatinine Ratio (Cr) เป็นอีกวิธีการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของไต ผ่านการนำค่า BUN หารกับค่า Creatinin เพื่อหาอัตราส่วน โดยมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- เกณฑ์ค่า BUN / Creatinine Ratio สำหรับผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 10-20 : 1
- เกณฑ์ค่า BUN / Creatinine Ratio สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนจะอยู่ที่ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 : 1
ตัวอย่างวิธีการคำนวณ หากค่า BUN ของคุณอยู่ที่ 13 และค่าครีเอตินินอยู่ที่ 0.71 ให้นำมาหารกัน จะเท่ากับ 18.3 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ
อย่างไรก็ตาม การหาค่า BUN / Creatinine Ratio ยังไม่สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคไตได้เสียทีเดียว เพียงแต่เป็นอีกตัวช่วยตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ เกี่ยวกับไตได้มากขึ้นเท่านั้น
ค่า BUN / Creatinine Ratio ที่สูงกว่าเกณฑ์อาจเกิดได้จากผู้เข้ารับบริการตรวจกินอาหารประเภทที่มีสารโปรตีนน้อยจนเกินไป หรืออยู่ในภาวะขาดน้ำ มีนิ่วในไต หรือกำลังกินยาบางชนิดที่ไปดันทำให้ค่า BUN สูงขึ้นก็เป็นได้
ส่วนค่า BUN / Creatinine Ratio ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ก็อาจเกิดได้จากภาวะภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในกลุ่มสารอาหารประเภทโปรตีนที่อาจรับน้อยเกินไป ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ปัญหาโรคตับที่มีอยู่แล้ว หรือเกิดจากกล้ามเนื้อตามร่างกายเกิดปัญหาฉีดขาดจนทำให้เกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อลีบ
ใครควรตรวจไต?
ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคไต และควรเข้ารับการตรวจไต มีดังนี้
- ผู้ที่มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดป่วยเป็นโรคไต
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
- ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจัดเป็นช่วงวัยที่เสี่ยงเป็นโรคไตได้ง่าย และควรต้องติดตามการทำงานของไตอย่างสม่ำเสมอ
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
ถึงแม้คุณจะยังไม่จัดเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคไต อาจอายุยังน้อย หรือร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่ ก็อย่าประมาทและควรมารับการตรวจไตทุกปี โดยอาจใช้เป็นแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่แพทย์มีการอ่านผลในส่วนของค่าการทำงานของไตด้วย เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
ควรตรวจไตตั้งแต่อายุเท่าไร?
ผู้เข้ารับบริการทุกคนสามารถตรวจดูสมรรถภาพไตได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงอายุเริ่มต้นของการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องรอมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับไตก่อนแล้วค่อยตรวจ แต่สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อจะได้รู้แนวทางการดูแลตนเองในเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคเกี่ยวกับไตในภายหลังกับแพทย์ได้
การเตรียมตัวก่อนตรวจไต
การตรวจไตส่วนมากเป็นการตรวจจากเลือดหรือปัสสาวะ จึงต้องอาศัยการเตรียมตัวเล็กน้อยเพื่อลดโอกาสที่ผลจะคลาดเคลื่อน ดังนี้
- แจ้งประวัติโรคประจำตัวทุกชนิด รวมถึงยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิด
- สอบถามประวัติสุขภาพผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดมาด้วยว่า ใครเคยเจ็บป่วยเป็นโรคไตมาก่อนหรือไม่
- งดน้ำและงดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง แต่สามารถดื่มน้ำเปล่า
- งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันตรวจหรือเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศให้เรียบร้อยก่อนเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อลดการปนเปื้อนจนผลตรวจคลาดเคลื่อน
- สำหรับผู้หญิง ควรเลือกช่วงเวลาตรวจหลังมีประจำเดือนวันสุดท้าย 7 วัน เพื่อไม่ให้เลือดประจำเดือนปะปนไปกับน้ำปัสสาวะ จนผลตรวจอาจคลาดเคลื่อนได้
ขั้นตอนการตรวจไต
แนวทางการตรวจไตจะคล้ายกับการตรวจสุขภาพทั่วไป คือ มีการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดกับเจ้าหน้าที่ และจะมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ โดยผู้เข้ารับบริการจะต้องล้างมือและอวัยวะเพศให้สะอาดก่อน จากนั้นปัสสาวะใส่ในภาชนะที่ทางสถานพยาบาลเตรียมไว้ให้ในปริมาณที่กำหนด
จากนั้นปิดฝาภาชนะแล้วนำส่งกลับให้เจ้าหน้าที่ ทางเจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างปัสสาวะไปส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ
การดูแลตัวเองหลังตรวจไต
หลังจากตรวจไตเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับบริการสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษ ผลตรวจเลือดและปัสสาวะสำหรับตรวจไตโดยส่วนมากจะใช้เวลารอผลแค่ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นก็สามารถฟังผลตรวจกับแพทย์ได้ทันที
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ค่าการทำงานของไตเกิดความผิดปกติหรือบกพร่องจนอาจนำไปสู่การเกิดโรคประจำตัวที่ร้ายแรงขึ้น เราควรดูแลทะนุถนอมสุขภาพไตตั้งแต่ตอนนี้ เช่น เลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง อาหารที่มีรสเค็มหรือมีเกลือมาก ดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวัน คุมน้ำหนักอย่างให้เกินเกณฑ์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงความเครียด
และอย่างสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เช่นกัน คุณควรเดินทางไปตรวจสุขภาพทุกปีอย่าให้ขาด และควรเลือกแพ็กเกจตรวจที่มีการตรวจไตรวมอยู่ด้วย