สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยประมาณการว่ามีผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 1-5 มากถึง 8 ล้านคน หรือประมาณ 17.5% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากภาวะไตวาย เป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรคือในช่วงอายุน้อยกว่า 60 ปี
สารบัญ
ไตวายเรื้อรังคืออะไร?
ไตวายเรื้อรัง (Chronic Renal Failure: CRF) คือ ภาวะที่การทำงานของไตค่อยๆ เสื่อมลงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยแบ่งความรุนแรงออกเป็น 5 ระดับ ซี่งส่วนใหญ่ภาวะไตวายเรื้อรังจะเกิดจากการแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงที่ขาดการรักษาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง นิ่วในไต โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง หรืออาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานาน ก็อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
การฟอกไตคืออะไร?
การฟอกไต (Kidney Dialysis) คือ หนึ่งในวิธีรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย หรือไตวายเฉียบพลันโดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ระบบการขับของเสีย สารพิษต่างๆ ของผู้ป่วยโรคไตที่ไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ ให้มีการทำงานใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด และเพื่อช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยมีความสมดุล ในขณะที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ในการกรองของเสียได้
การฟอกไตมีกี่วิธี?
การฟอกไต เป็นการรักษาผู้ป่วยโรคไตตั้งแต่ระยะที่ 4 จนถึงระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นระยะที่ไตทำงานได้น้อยกว่า 30% โดยมี 2 วิธีหลักๆ ดังนี้
- การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นกระบวนการนำเลือดออกจากร่างกายมาทำให้สะอาดขึ้น โดยการใช้เครื่องไตเทียม เป็นการกำจัดของเสีย ปรับระดับเกลือแร่ในเลือด และปรับสมดุลของน้ำในร่างกายของผู้ป่วยไตวายให้เป็นปกติ โดยการฟอกเลือดผ่านเครื่องนี้จะใส่สายฟอกเลือดชั่วคราว เจาะเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้หลอดเลือดดำมีเลือดไหลเวียนได้มากขึ้น และเมื่อทำการฟอกเลือด ขจัดของเสีย จนสะอาดแล้ว จะเป็นการนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายเหมือนเดิม
- การฟอกไตทางช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis: CAPD) เป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านหรือที่ทำงานได้ทุกวัน โดยการใช้น้ำยาเฉพาะเพื่อช่วยกรองของเสีย และสารพิษที่อาจปะปนเข้าไปในร่างกายผ่านทางช่องท้อง ซึ่งแพทย์จะฝังอุปกรณ์ท่อล้างไว้ในช่องท้องของผู้ป่วย เวลาฟอกไตผู้ป่วยจะใส่น้ำยาเข้าไปในท่อล้าง ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง น้ำยาจะพักอยู่ในท้องทำการกรองของเสียและน้ำส่วนเกิน เมื่อครบกำหนดเวลา ผู้ป่วยจะปล่อยน้ำยาที่ดูดซึมของเสียและน้ำส่วนเกินออกมาทางช่องท้อง
นอกเหนือจากวิธีการรักษาด้วยการฟอกไตแล้ว ยังมีวิธีวิธีหนึ่ง คือ การปลูกถ่ายไต เป็นการใช้ไตที่ได้รับจากผู้บริจาคหนี่งข้าง ให้มาทำหน้าที่ทดแทนไตเก่าของผู้ป่วย ซึ่งต้องรอให้มีผู้บริจาคและได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถเข้ากับผู้ป่วยได้เท่านั้น
ข้อดีการฟอกไตแต่ละวิธี
ผู้ป่วยโรคไตจำเป็นต้องได้รับการฟอกไตเพื่อช่วยให้ร่างกายมีการกำจัดของเสีย สารพิษ ไม่ให้คั่งค้างในร่างกาย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีที่เหมาะสมให้ โดยข้อดีของการฟอกไตทั้ง 2 ประเภท ได้แก่
ข้อดีของการฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- ขจัดของเสียโมเลกุลขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ดี
- ลดภาวะของเสียคั่งค้างได้ดี
- ความเสี่ยงติดเชื้อต่ำ เพราะรับบริการ ในโรงพยาบาล และอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
- ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติ เช่น อาบน้ำ ว่ายน้ำ เป็นต้น
- สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตและหัวใจ จะทำให้การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดมีความคงที่ขึ้น
ข้อดีของการฟอกไตทางช่องท้อง หรือ CAPD
- ผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านหรือที่ทำงานได้ทุกวัน
- สะดวกในการล้าง เพียงใส่น้ำยาล้างไตเข้าไว้ในช่องท้อง โดยไม่ต้องใช้เครื่องหรืออุปกรณ์เสริมในการล้าง แล้วแช่ทิ้งไว้ตามเวลาที่กำหนด เมื่อปล่อยน้ำยาออก ก็จะมีของเสียและน้ำส่วนเกินออกมา
- มีการปล่อยของเสียออกวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งดีต่อร่างกายในการขับของเสียไม่ให้คั่งค้าง
- ผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ
ข้อเสียการฟอกไตแต่ละวิธี
ข้อเสียของการฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ตามที่แพทย์นัด
- ผู้ป่วยไม่สามารถกำจัดของเสียได้ตลอดเวลาเหมือนการฟอกไตทางช่องท้อง
- ต้องจำกัดน้ำและอาหารมากกว่าการฟอกไตทางช่องท้อง
- เส้นเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือดอาจมีลักษณะโป่งพองออกมาจนเห็นได้ชัด
ข้อเสียของการฟอกไตทางช่องท้อง
- อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยบ้าง เนื่องจากต้องทำทุกวัน วันละ 4-6 ชั่วโมง
- อาจมีโอกาสติดเชื้อในช่องท้องได้ง่าย หากผู้ป่วยไม่ดูแลใส่ใจแต่ละขั้นตอนการล้างให้ดี
- จำเป็นจะต้องได้รับการติดตามผลจากแพทย์ทุก 1-2 สัปดาห์
การฟอกไตเหมาะกับใคร?
- การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เหมาะสำหรับผู้ป่วยไตวายทั่วไป ทั้งไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและไตวายเฉียบพลัน
- การฟอกไตทางช่องท้อง สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและไตวายเฉียบพลันเช่นกัน แต่จะเป็นบางกลุ่มผู้ป่วย ได้แก่ ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคไตวายที่มีโรคหัวใจรุนแรง ผู้ป่วยที่ไม่สามารถจัดการให้มีหลอดเลือดเทียมสำหรับการฟอกเลือดได้ ผู้ป่วยเอชไอวีที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีการเผาผลาญอาหารและพลังงานสูง (Hypercatabolic State) ระดับอ่อนถึงปานกลาง และผู้ป่วยเด็ก
การฟอกไตไม่เหมาะกับใคร?
ผู้ที่ไม่สามารถฟอกไต หรือมีความยากลำบากในการฟอกไต มีดังนี้
ผู้ที่ไม่เหมาะกับการฟอกไตทางหลอดเลือด หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- ผู้ป่วยที่เส้นฟอกเลือดไม่พร้อม
- ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ไตเทียม
ผู้ที่ไม่เหมาะกับการฟอกไตทางช่องท้อง
- ผู้ที่มีผนังช่องท้องอ่อนแอ หรือมีความผิดปกติที่ผนังช่องท้อง
- ผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดช่องท้อง
- ผู้ที่มีปัญหาระบบปอด
- ผู้ที่มีปัญหาระบบลำไส้
- ผู้มีปัญหาถุงน้ำในไต
การเตรียมตัวก่อนฟอกไต
หลังจากแพทย์แจ้งให้ทราบแล้วว่าต้องรักษาด้วยการฟอกไต และแพทย์ได้เลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเตรียมความพร้อมของร่างกาย ดังนี้
การเตรียมตัวก่อนฟอกไตทางหลอดเลือด หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- ผู้ป่วยต้องตรวจร่างกายและอัลตราซาวด์เพื่อประเมินความพร้อมของเส้นเลือด
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรรับประทานยาเพื่อควบคุมโรคก่อน
- ก่อนผ่าตัดเพื่อฟอกเลือด ควรหลีกเลี่ยงการเจาะเลือด หรือฉีดยาแขนข้างที่จะทำเส้นฟอกไต เพราะอาจทำให้เส้นเลือดดำเสียหาย
- บริหารเส้นเลือดข้างที่จะทำเส้นฟอกเลือดด้วยการบีบและคลายลูกบอลสลับไปมาครั้งละ 10–15 นาที เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือด
การเตรียมตัวสำหรับการฟอกไตทางช่องท้อง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารอ่อนๆ
- ชำระร่างกายและฟอกสบู่ที่หน้าท้องให้สะอาด
- ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะให้เรียบร้อย
- หยุดยาต้านเกล็ดเลือดหรือยายับยั้งการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน เป็นต้น
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย
- ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกวิธีฟอกไตอย่างถูกวิธีจากแพทย์ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ขั้นตอนการฟอกไต
ขั้นตอนการฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- เจ้าหน้าที่จะแทงเข็มเข้าสู่เส้นเลือดที่ต้องเตรียมไว้ ส่วนใหญ่นิยมใช้เส้นเลือดที่บริเวณแขน
- เลือดจะส่งผ่านสายฟอกไตเพื่อนำไปยังตัวกรอง ซึ่งมีลักษณะทรงกระบอกและมีเส้นใยเล็กๆ อยู่ภายใน ที่บริเวณตัวกรองนี้ เลือดจะมีการแลกเปลี่ยนสารกับยาชนิดพิเศษ ทำให้ของเสียต่างๆ เคลื่อนที่ไปยังน้ำยา และเกิดการแลกเปลี่ยนของเกลือแร่ต่างๆ จนเข้าสู่ภาวะสมดุล โดยไม่สูญเสียเม็ดเลือดและโปรตีนออกจากร่างกาย
- หลังจากเลือดผ่านการทำให้สะอาดและทำให้แร่ธาตุต่างๆ สมดุลแล้ว เครื่องไตเทียมจะนำเลือดที่ดีกลับเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้ของเสียต่างๆ ในเลือดของผู้ป่วยลดความเข้มข้นลง
ขั้นตอนการฟอกไตทางช่องท้อง
- แพทย์ฝังท่อสำหรับล้างไตให้กับผู้ป่วย
- หลังจากที่แพทย์ฝังท่อสำหรับล้างไตแล้ว ผู้ป่วยสามารถฟอกไตได้เองที่บ้าน โดยเริ่มจากนำน้ำยาฟอกไตใส่เข้าไปทางท่อด้านหนึ่ง โดยใช้น้ำยาครั้งละประมาณ 2 ลิตร
- ปล่อยไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดค่อยๆ ผลักของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายมาอยู่บริเวณหน้าท้อง
- เมื่อครบตามเวลาแล้วจึงปล่อยน้ำยาที่ใช้แล้วออกมาทางปลายของท่อที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งเพื่อให้เข้าไปในถุงที่ต่อออกจากบริเวณหน้าท้อง
- การฟอกไตวิธีนี้จะต้องทำซ้ำวันละ 3-4 ครั้ง โดยใช้เวลาครั้งละ 4-6 ชั่วโมง และสามารถทำก่อนนอนเพื่อให้กระบวนการฟอกไตทางหน้าท้อง ในขณะนอนหลับได้ด้วย
การดูแลตัวเองหลังฟอกไต
การดูแลตัวเองหลังฟอกไตทางหลอดเลือด หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- รักษาสุขอนามัยของร่างกายเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ และหลีกเลี่ยงการรับประทานผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ทุเรียน กล้วย ลำไย ขนุน ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ ผักใบเขียว แครอท เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือมีผงชูรสเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำพริก น้ำจิ้ม ซอสปรุงรส และอาหารหมักดอง
- ลดปริมาณเครื่องดื่ม และงดเครื่องดื่มที่มีฟอสเฟตสูง เช่น ชา กาแฟ โกโก้ เป็นต้น
- เมื่อทำเส้นฟอกไต แขนข้างที่ทำเส้นฟอกไตสามารถใช้งานได้ปกติ แต่ควรนอนยกแขนสูงกว่าหัวใจเพื่อลดอาการบวมด้วย
- สังเกตเสียงชีพจรบริเวณข้อมือข้างที่ทำเส้นฟอกไต เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของเส้นฟอกไตว่ายังทำงานได้ดีหรือไม่ เมื่อใดที่คลำชีพจรไม่ได้ควรติดต่อแพทย์ทันที
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดไหลซึมจากแผลมากผิดปกติ แขนที่ทำเส้นฟอกไตมีอาการบวมแดง ปวด ชา มือซีดและเย็นลง ปลายนิ้วสีเข้ม มีไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
การดูแลตัวเองหลังการฟอกไตทางช่องท้อง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- รักษาสุขอนามัยของร่างกายเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ดูแลช่องทางออกของท่อล้างให้สะอาดอยู่เสมอ
- ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ และหลีกเลี่ยงการรับประทานผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ทุเรียน กล้วย ลำไย ขนุน ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ ผักใบเขียว แครอท เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือมีผงชูรสเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำพริก น้ำจิ้ม ซอสปรุงรส และอาหารหมักดองต่างๆ
- ลดปริมาณเครื่องดื่ม และงดเครื่องดื่มที่มีฟอสเฟตสูง เช่น ชา กาแฟ โกโก้ เป็นต้น
- การฟอกไตวิธีนี้จะมีน้ำในท้อง และกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง จึงไม่ควรยกของหนักเพราะจะทำให้ปวดหลังได้ง่ายกว่าปกติ หรือหากจำเป็นต้องยกของ ควรยกของให้ใกล้ตัวมากที่สุด โดยให้กางขาออก ก้าวเท้าใดเท้าหนึ่งไปข้างหน้า และให้ย่อเข่าแทนการก้ม
- อย่ายกของและบิดเอวไปพร้อมกัน
ผลข้างเคียงจากการฟอกไต
ผลข้างเคียงของการฟอกไตในแต่ละคน อาจมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ มีดังนี้
- อาการบวมตามตัว เกิดจากน้ำส่วนเกินขังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณเท้า เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการฟอกเลือด น้ำส่วนเกินจะถูกดึงทิ้งไป และอาการบวมก็จะยุบลงเอง ยกเว้นอาการบวมที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อ
- ระบบขับถ่ายไม่ปกติ เกิดจากของเสียไปสะสมบริเวณระบบทางเดินอาหาร จนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก หรือท้องเสียได้ แต่หากได้รับการฟอกเลือดอย่างเพียงพอ อาการท้องเสียจะหายไปเอง
- ท้องเสียจากการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยไตวายสามารถติดเชื้อได้ง่าย
- นอนไม่หลับ หากมีภาวะของเสียในเลือดและร่างกายเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิดไม่สบายตัว ส่งผลให้นอนไม่หลับ จึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือปรึกษาการใช้ยานอนหลับจากแพทย์เจ้าของไข้
- ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกเปราะ เนื่องจากผู้ป่วยไตวายจะมีระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำ มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง จึงมักทำให้มีอาการกระดูกได้ง่าย
- อาการคันตามตัว เกิดจากปริมาณสารฟอสฟอรัสสะสมในร่างกายมาก และไปรวมตัวกับแคลเซียม ซึมอยู่ใต้ผิวหนัง จึงรู้สึกคันตามตัว
- เป็นตะคริวบ่อย จากความไม่สมดุลของน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย แต่หากได้รับการฟอกเลือดอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ อาการก็จะหายไป
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เกิดได้กับผู้ป่วยมีอาการโลหิตจางร่วมด้วย หากผู้ป่วยได้รับการแก้ไขภาวะโลหิตจางได้ อาการเหล่านี้จะหายไปเอง และยังเกิดได้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจผิดปกติได้อีกด้วย
- ชาตามแขนขา ไม่มีแรง เกิดจากมีการคั่งของสารโปแตสเซียมภายในร่างกายสูง บางคนมีอาการมากจนถึงขั้นหัวใจหยุดทำงาน ซึ่งหากเริ่มมีอาการชา ไม่มีแรงตามแขนขา ควรรีบติดต่อแพทย์ทันที
- น้ำท่วมปอด เกิดจากมีน้ำส่วนเกินคั่งอยู่ในปอด จะมีอาการเหนื่อยหอบโดยเฉพาะเมื่อนอนราบ และมักมีอาการไอด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการมาก ๆ จะไอจนมีเสมหะเป็นฟองสีชมพู และเหนื่อยหอบมากจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หากเกิดอาการเช่นนี้ ควรติดต่อโรงพยาบาลโดยด่วน
ไม่ฟอกไตได้ได้ไหม?
การฟอกไต มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคไต เพราะระบบขับของเสียของผู้ป่วยระยะไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง จะไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ ทำให้ของเสียและสารพิษต่างๆ สะสมอยู่ในร่างกายอย่างต่อเนื่อง หากไม่รักษา จะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
การรักษาโดยการฟอกไตจะช่วยให้การทำงานของระบบขับของเสียในร่างกายของผู้ป่วย ให้สามารถทำงานใกล้เคียงกับภาวะปกติได้มากที่สุด ดังนั้น การฟอกไต จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคไต
การฟอกไตต้องทำตลอดชีวิตไหม?
ผู้ที่มีอาการไตวายเฉียบพลันไม่จำเป็นต้องฟอกไตตลอดชีวิต สามารถหยุดฟอกไตได้เมื่อไตกลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งจะใช้เวลาเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของไตของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น บางรายอาจใช้เวลาแค่ 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจนานถึง 6 เดือน เป็นต้น
แต่ผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีความจำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต
ต้องฟอกไตบ่อยแค่ไหน?
- การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ระยะเวลาในการฟอกไตจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเสียในเลือด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณครั้งละ 3-5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- การฟอกไตทางช่องท้อง จะต้องทำทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งจะใช้เวลา 4-6 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยสามารถทำก่อนนอนเพื่อให้กระบวนการฟอกไตทำงานในขณะนอนหลับได้
ทั้งนี้ ระยะเวลาและความถี่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและให้คำแนะนำอีกครั้ง
นอกจากข้อมูลต่างๆ ที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจแล้ว การเลือกโรงพยาบาล และแพ็กเกจฟอกไตก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์และได้รับความพึงพอใจคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายมากที่สุด