หญ้าหนวดแมว (Java Tea)

หญ้าหนวดแมวเป็นสมุนไพรใกล้ตัว ชื่อแปลกที่แม้จะมีประโยชน์มาก แต่ต้องรู้จักอย่างถ่องแท้ก่อนจะนำไปใช้จริงเพื่อประสิมธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้ในทางการแพทย์แผนไทยและแผนโบราณ

สรรพคุณของหญ้าหนวดแมว

  • ขับปัสสาวะ หญ้าหนวดแมวช่วยเพิ่มการขับปัสสาวะ จึงใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาการบวมน้ำ
  • ลดความดันโลหิต มีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือดและลดความดันโลหิตสูง
  • ต้านการอักเสบ มีสารสำคัญที่ช่วยลดการอักเสบ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีปัญหาโรคข้ออักเสบหรือเกาต์
  • รักษาโรคไต นิยมนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการของโรคไตบางประเภท เช่น ช่วยลดอาการบวมจากไตเสื่อม
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาว่าหญ้าหนวดแมวอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
  • ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ขับกรดยูริก เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคเกาต์ ช่วยลดการสะสมของกรดยูริกในร่างกาย

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหญ้าหนวดแมวที่กล่าวถึงกันมาก คือ ฤทธิ์ขับปัสสาวะทำให้กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะหดตัว แต่กล้ามเนื้อเรียบของท่อปัสสาวะคลายตัวจึงเอื้อต่อการขับปัสสาวะ สามารถใช้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ เนื่องจากหญ้าหนวดแมวสามารถลดความดันโลหิตลงและยังสามารถลดภาวะหลอดเลือดหดตัวได้ด้วย นอกจากนี้ยังทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดลดลงเพราะยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase รวมทั้งลดพิษจากการได้รับกลูโคสปริมาณสูงจึงสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างปลอดภัย

นอกกจากนี้หญ้าหนวดแมวเป็น hypourecimic agent คือ สามารถขับกรดยูริกออกจากกระแสเลือด ลดการเกิดนิ่วจากกรดยูริกได้อีกด้วย

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่มีงานวิจัยที่รายงานความเป็นพิษ หรือรายงานความปลอดภัยสำหรับการใช้ในระหว่างตั้งครรภ์ แต่ทางที่ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้หญ้าหนวดแมวเพื่อความปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

วิธีใช้หญ้าหนวดแมว

  • ใช้ขับปัสสาวะ ทำได้โดยเอาใบแห้ง 4 กรัม หรือ 4 หยิบมือ นำมาชงกับน้ำเดือดประมาณ 750 ซีซี เหมือนชงชา แล้วนำมาดื่มต่างน้ำตลอดทั้งวันนานประมาณ 1-6 เดือน จะช่วยทำให้ปัสสาวะใสและปัสสาวะได้คล่องขึ้น (การใช้ใบสดอาจจะมีอาการคลื่นไส้และหัวใจสั่นได้ ควรใช้ใบตากแห้งจะดีที่สุด)

ข้อควรระวังการใช้หญ้าหนวดแมว

  • ผลข้างเคียงจากการใช้หญ้าหนวดแมวที่อาจพบได้ ได้แก่ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ผิวหนังผื่น หรือบวมแดง
  • ใบของหญ้าหนวดแมวพบเกลือของโปแตสเซียมสูง จึงไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ใช้ยาขับปัสสาวะ และหญิงมีครรภ์
  • ควรใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ และหยุดพักเป็นช่วง ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ควรใช้หญ้าหนวดแมวหลังอาหารและค่อยๆ จิบกินในกรณีที่ใช้ครั้งแรกๆ เพราะหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ หากผู้ใช้กำลังกระหายน้ำและดื่มน้ำหญ้าหนวดแมวทั้งแก้วอาจทำให้น้ำตาลลดและเกิดอาการใจสั่นเพราะหิวได้ นอกจากนี้สารจากหญ้าหนวดแมวจะทำให้ยาจำพวกแอสไพรินไปจับกับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้นจึงไม่ควรใช้ร่วมกับยาแอสไพริน

หญ้าหนวดแมวแม้จะมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคได้จริง แต่ในการใช้แต่ละครั้ง ควรศึกษาให้ดีและอ่านข้อควรระวังและผลข้างเคียงให้ดีก่อนนำมาใช้ด้วย เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวผู้ใช้เอง

Scroll to Top