น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้ง แสบตา ระคายเคืองตา ตาพร่า ตาสู้แสงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ผ่าตัดเลสิกทุกชนิด เรียกได้ว่า “ขาดน้ำตาเทียมไม่ได้ทีเดียว”
สารบัญ
หลังทำเลสิก น้ำตาเทียมจำเป็นแค่ไหน?
น้ำตาเทียม (Artificial Tears) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ทำเลสิกทุกคน เพื่อเพื่มความชุ่มชื้น ลดการแสบตา และลดการระคายเคืองให้ดวงตาอันเนื่องมาจาก “ภาวะตาแห้ง (Dry eye)”
ภาวะตาแห้งซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการทำเลสิกในช่วง 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด เกิดจากกระบวนการผ่าตัดทำเลสิกมีการรบกวนกระจกตาและทำให้ความสามารถในการผลิตน้ำตาของดวงตาลดน้อยลง ตาจึงแห้งมากขึ้น
น้ำตาเทียมเป็นยาหยอดตาประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสารเพิ่มความชุ่มชื้นหลายชนิด เช่น ไฮโปรเมลโลส (Hypromellose) โซเดียมไฮยาลูโรเนต (Sodium Hyaluronate) คาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส (Carboxymethyl Cellulose) ทำหน้าที่่ช่วยหล่อลื่นและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวกระจกตาและผิวดวงตา
ควรใช้น้ำตาเทียมชนิดไหนจึงเหมาะสม?
น้ำตาเทียมที่มีขายในท้องตลาดปัจจุบันมีหลายชนิด ได้แก่
- น้ำตาเทียมชนิดสารละลาย ซึ่งประกอบด้วยชนิดน้ำ กับชนิดน้ำและไขมัน ใช้สำหรับหยอดตา เพื่อให้ความชุ่มชื้นในระยะเวลาสั้นๆ จึงต้องหยอดหลายครั้งต่อวัน
- น้ำตาเทียมชนิดเจล หรือขี้ผึ้ง ใช้สำหรับป้ายบางๆ แต่ให้ความชุ่มชื้นได้นานกว่าแบบแรก หลังใช้ยาจะทำให้การมองเห็นลดลงเล็กน้อยชั่วขณะ จึงนิยมใช้ก่อนนอน
อย่างไรก็ตาม น้ำตาเทียมชนิดแรกดูจะได้รับความนิยมมากกว่าชนิดที่ 2 เพราะใช้งานง่าย และมีประเภทแยกย่อยลงไปดังนี้
- น้ำตาเทียมชนิดมีสารกันเสีย เป็นน้ำตาเทียมที่บรรจุในขวด ข้อดีของน้ำตาเทียมชนิดนี้คือ สามารถคงสภาพอยู่ได้นาน หลังจากเปิดใช้งานยังสามารถเก็บไว้ได้ถึง 1 เดือน น้ำตาเทียมชนิดนี้ยังสามารถป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้
- น้ำตาเทียมชนิดไม่มีสารกันเสีย เป็นน้ำตาเทียมที่บรรจุในหลอดเล็กๆ สำหรับเปิดใช้ให้หมดภายใน 12-24 ชั่วโมง เพราะไม่มีสารกันเสียผสมอยู่ ข้อดีคือ ใช้แล้วสบายตา เสี่ยงต่ออาการแพ้น้อยมาก แต่ก็มีราคาสูงกว่าน้ำตาเทียมชนิดมีสารกันเสีย
แต่อย่าลืมว่า ความหลากหลายของรูปแบบน้ำตาเทียมที่ว่านี้ผลิตออกมา เพื่อให้เหมาะกับอาการตาแห้งและความต้องการที่แตกต่างกันตามแต่บุคคล ดังนั้นจึงควรเลือกใช้น้ำตาเทียมให้เหมาะสม หรือปรึกษาจักษุแพทย์ผู้ทำเลสิกจะดีที่สุด
ต้องใช้น้ำตาเทียมอย่างไรจึงจะถูกวิธี?
วิธีใช้น้ำตาเทียมที่ถูกต้องมี ดังนี้
- ล้างมือทั้งสองข้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง
- นอน หรือนั่ง แล้วแหงนหน้าขึ้น หรือตะแคงฝั่งใดฝั่งหนึ่งเล็กน้อย
- ค่อยๆ ดึงเปลือกตาล่างลงเล็กน้อย เหลือบตามองขึ้นด้านบน หยดน้ำตาเทียมลงไปราว1- 2 หยดหากเป็นขี้ผึ้ง หรือเจลน้ำตาเทียม ให้ใช้ปริมาณ 6 มิลลิเมตร
- หลังหยอด / ป้ายน้ำตาเทียม แล้วให้หลับนานนิ่งๆ ราว 2-3 นาที โดยไม่กะพริบตาภายใน 30 วินาที เพื่อให้น้ำตาเทียมค่อยๆ ซึมลงผิวกระจกตาและผิวตาตามลำดับ และค่อยๆ ใช้นิ้วมือกดนวดหัวตาตามเบาๆ
- หากมียาหยอดตา หรือยาขี้ผึ้งอื่นๆ ควรเว้นระยะหลังจาหยอดน้ำตาเทียมประมาณ 5 นาที
ทั้งนี้ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมหยดสัมผัสกับดวงตา หรือขนตา หรือปลายนิ้วมือ เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดวงตา หรือทำให้ตาอักเสบได้ รวมทั้งควรใช้กระดาษชำระสะอาดเช็ดน้ำตาเทียมส่วนเกินออก
สำหรับผู้ที่เพิ่งทำเลสิก จักษุแพทย์จะสั่งให้หยอดน้ำตาเทียมเพื่อรักษาอาการตาแห้งครั้งละ 1 หยด ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวกระจกตาและผิวตาหลังทำเลสิก การใช้น้ำตาเทียมนี้ควรใช้ตามคำแนะนำของจักษุแพทย์จนกว่าจะเปลี่ยนคำแนะนำ
นอกจากนี้ยังควรใช้น้ำตาเทียมตามคำแนะนำของน้ำตาเทียมชนิดนั้นๆ ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะข้อจำกัดเรื่องอายุการใช้งานของน้ำตาเทียมแต่ละชนิด
เช่น น้ำตาเทียมชนิดขวด ที่ผสมสารกันเสีย ไม่ควรใช้เกินวันละ 4-5 ครั้ง เพราะสารกันเชื้อแบคทีเรียที่ผสมอยู่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระจกตาได้ ส่วนน้ำตาเทียมมที่บรรจุในหลอดขนาดเล็ก หลังเปิดใช้ ควรใช้ให้หมดภายใน 12-24 ชั่วโมง
โดยทั่วไปการใช้น้ำตาเทียมมักไม่มีผลข้างเคียงตามมา นอกเสียจากบางรายที่อาจมีอาการแสบตา เคืองตา แสบตามาก คันตา น้ำตาไหลไม่หยุด ตาแฉะ การมองเห็นลดลง แนะนำให้หยุดใช้น้ำตาเทียมทันทีและรีบไปพบจักษุแพทย์
ผู้ทำเลสิกทุกคนควรไปพบจักษุแพทย์ตามนัดให้ครบทุกครั้ง เพื่อตรวจติดตามผลการผ่าตัด และอาการข้างเคียงอื่นๆ หากมีปัญหาจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที