กินเค็ม ดื่มหนักมากไป ระวังภัยเงียบเป็น “ความดันโลหิตสูง”

“อย่าเครียดมาก เดี๋ยวความดันขึ้น” เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้บ่อยๆ จากคนรอบตัว แต่อาจจะยังไม่รู้ที่มาหรือความหมายที่แท้จริง จึงสงสัยว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร ความดันเลือดต้องอยู่ในเกณฑ์เท่าไรจึงจะเรียกว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แล้วถ้าไม่อยากเป็นโรคนี้ เรามีความวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง

โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร?

โรคความดันโลหิต (Hypertension) คือ โรคที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับความดันโลหิตภายในหลอดเลือดสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือโรคประจำตัวที่รุนแรงในภายหลังได้

โรคความดันโลหิตสูงสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  1. โรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Primary Hypertension) เป็นชนิดของโรคความดันโลหิตสูงที่พบได้บ่อยเกินครึ่งของผู้ป่วยโรคนี้ และไม่สามารถจำแนกหาสาเหตุได้แน่ชัด
  2. โรคความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) เป็นชนิดของโรคความดันโลหิตสูงที่มักเป็นผลกระทบมาจากโรคประจำตัวเดิมของผ้ป่วย หรือการใช้ยาบางชนิด พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือการเสพติดสุราเรื้อรัง จนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตปกติอยู่ที่เท่าไร?

การอ่านค่าความดันโลหิตจะแบ่งออกเป็น 2 ตัวเลขด้วยกัน มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท (mmHg) ได้แก่

  • เลขความดันตัวบน หรือเลขค่าความดัน Systolic Blood Pressure เป็นค่าความดันในหลอดเลือดระหว่างหัวใจบีบตัว มีเกณฑ์ระดับที่ปกติอยู่ที่ 120 mmHg
  • เลขความดันตัวล่าง หรือเลขค่าความดัน Diastolic Blood Pressure เป็นค่าความดันในหลอดเลือดระหว่างหัวใจคลายตัว มีเกณฑ์ระดับปกติอยู่ที่ 80 mmHg

วิธีการอ่านค่าความดันโลหิตทั่วไปจะใช้วิธีอ่านเลขความดันตัวบน/เลขความดันตัวล่าง ดังนั้นสำหรับค่าความดันโลหิตในระดับปกติของกลุ่มคนทั่วไป คือ 120/80 mmHg

หากตรวจวัดความดันโลหิต แล้วเลขความดันตัวบนเกินกว่า 120-129 mmHg หรือเลขความดันตัวล่างเกินกว่า 80-89 mmHg หรือเกินกว่าเกณฑ์ตัวเลขนี้ทั้งคู่ ก็จัดว่าผู้ตรวจเข้าข่ายมีความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ปกติ

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงอาจไม่แสดงอาการใดๆ ในผู้ป่วยบางราย และทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าความดันโลหิตกำลังสูงนอกเสียจากได้ลองตรวจวัดความดันกับสถานพยาบาล

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยความดันโลหิตหลายรายก็มักมีอาการเจ็บป่วยบางอย่างขึ้นมาเมื่อระดับความดันโลหิตสูงขึ้น เช่น

  • เวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะ
  • เลือดกำเดาไหล
  • การมองเห็นพร่าเบลอ
  • หายใจเข้าออกไม่สะดวก
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • นอนไม่หลับ
  • มือเท้าชา

ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและโรคประจำตัวที่เป็นอันตรายได้มากมาย เช่น

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคสมองเสื่อม
  • ภาวะจอประสาทตาเสื่อม
  • ภาวะเลือดออกในสมอง
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ตับ
  • โรคหลอดเลือดในดวงตาหนา
  • อัมพฤกษ์
  • อัมพาต
  • ผิวแห้ง
  • อาการปากเบี้ยว
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

  • โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน ภาวะอ้วน ภาวะเนื้องอกในต่อมหมวกไต ภาวะเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ กลุ่มอาการคุชชิง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • การตั้งครรภ์
  • เชื้อชาติ โดยผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกา มักจะมีความเสี่ยงโรคความดันโหลิตสูงมากกว่า
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเคยเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน มักจะมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตด้วยเช่นกัน
  • ช่วงอายุ โดยโรคนี้มักพบได้ในผู้สูงอายุที่อายุประมาณ 64-65 ปีมากกว่า
  • เพศ โดยมักพบในกลุ่มเพศหญิงมากกว่า
  • พฤติกรรมเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ
  • พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีรสเค็ม มีโซเดียมหรือเกลือสูง
  • ภาวะความเครียดจัด

การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง

การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงจะกระทำผ่านการซักประวัติสุขภาพโดยแพทย์ ร่วมกับตรวจวัดระดับความดันโลหิต ในบางสถานพยาบาลอาจแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการรับการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือดด้วย เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เจาะเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจปัสสาวะ

หากเป็นโรคความดันโลหิตสูงปฏิบัติตัวอย่างไร?

หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิต ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายส่วน เพื่อรักษาระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงจนเกินไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผ่านการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • งดสูบบุหรี่ รวมถึงงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มให้น้อยที่สุด
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม หากน้ำหนักเกินเกณฑ์ จำเป็นต้องลดน้ำหนัก
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละประมาณ 30 นาที
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมัน คอเลสเตอรอล เกลือ ผงชูรส หรือโซเดียมสูง รวมถึงอาหารที่มีรสเค็มจัด
  • กินอาหารที่มีผักผลไม้ซึ่งมีกากใยที่มีประโยชน์เป็นประจำ
  • หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เรื่อยๆ โดยควรซื้อที่วัดความดันโลหิตมาไว้ที่บ้านด้วย
  • หากมียาประจำตัว ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตให้ทราบก่อนจ่ายยา หรือให้แพทย์ดูรายชื่อยาในระหว่างทำการรักษาโรคความดันโลหิต เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีส่วนทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นได้
  • เดินทางไปตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำ

การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

  • ระมัดระวังการกินอาหารกลุ่มที่มีโซเดียมสูง มีเกลือสูง โดยควรกินในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น
  • ระมัดระวังการกินอาหารที่มีไขมันสูง มีรสหวานจัด
  • งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือควรบริโภคแต่น้อยที่สุด
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • กินอาหารกลุ่มผักผลไม้เป็นประจำ
  • หมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  • หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดความดันโลหิตทุก 1-2 ปีอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะยังไม่มีอาการแสดงของโรคนี้เกิดขึ้นก็ตาม

โรคความดันโลหิตสูงเป็นอีกภัยเงียบที่ทุกคนจะนิ่งนอนใจไม่ได้ เนื่องจากมักไม่มีอาการ หรือมีอาการทับซ้อนกับอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างที่หลายคนอาจเคยชินอยู่แล้ว

ดังนั้นเราทุกคนจึงควรดูแลสุขภาพของตนเองอย่างระมัดระวังตั้งแต่วันนี้ หรือหากมีอาการ ประวัติสุขภาพเข้าข่ายเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็ควรเดินทางไปตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันเชิงรุกตั้งแต่เนิ่นๆ

Scroll to Top