หากพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เชื่อว่า ร้อยละ 90 ย่อมรู้จักโรคเหล่านี้อยู่บ้างและพอจะรู้ถึงความรุนแรงของบางโรค แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบันก็ยังมีผู้ติดโรคทางเพศสัมพันธ์อยู่ดี แถมตัวเลขอายุของผู้ป่วยยังลดต่ำมามาอีกโดยเฉพาะในกล่มุวัยรุ่นซึ่งมักมีความเชื่อผิดๆ บ้างก็มาจากความคะนอง บ้างก็มาจากความประมาท บ้างก็ไม่รู้จริงๆ ว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง บ้างก็ขาดความเฉลียวใจถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น บ้างก็คิดว่า ดูแลตนเองเป็นอย่างดีแล้วปลอดภัยแน่ บ้างก็เชื่อใจคู่รัก หรือคู่นอนของตนเองว่า ปลอดโรคจึงมีเพศสัมพันธ์โดยขาดการป้องกัน
หากคนกลุ่มนี้โชคร้ายติดโรคทางเพศสัมพันธ์ขึ้นมา มักจะสายเกินแก้เพราะบางโรคไม่มีทางรักษาให้หายขาดแถมยังส่งผลกระทบมากมายทั้งต่อร่างกายและจิตใจ มาดูกันว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง
สารบัญ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่งผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เดิมทีใช้คำว่า “กามโรค” สำหรับเรียกโรคในกลุ่มนี้ แต่ต่อมาใช้คำว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แทนเพราะมีความหมายที่กว้างกว่า
โรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์อันตรายกว่าที่คิด ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อตนเองและคู่นอนเท่านั้น หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเพศสัมพันธ์กับหลายคนจะทำให้โรคต่าง ๆ แพร่ไปสู่บุคคลอื่นได้
ถ้าผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก หรือกับคนอื่นๆ อีกก็จะทำให้เชื้อแพร่ระบาดออกไปไม่รู้จบ สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาระดับสังคมและเศรษฐกิจ
สาเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การมีเพศสัมพันธ์เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ไม่เพียงเท่านั้น การให้เลือด หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้เข็มสักผิวหนังร่วมกัน
การติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ก็มีส่วนทำให้ติดเชื้อได้ด้วยเพราะเชื้อโรคบางประเภทสามารถแพร่ระบาดผ่านวิธีเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกิจกรรมทางเพศเสมอไป เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เชื้อไวรัส ตัวการสำคัญคือ Human papillomavirus (HPV) ซึ่งเป็นเชื้อที่นำพาโรคมะเร็งปาดมดลูกและหูด เชื้อเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี เริม หูดหงอนไก่ เป็นต้น
- เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ กลุ่มโกโนเรีย ซิฟิลิส คลาไมเดีย (Chlamydia infection) เป็นที่มาของกลุ่มโรคหนองใน ทั้งหนองในแท้และหนองในเทียม
- เชื้อรา เช่น เชื้อรา Candidiasis
- พยาธิ เช่น พยาธิชนิดทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis)
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง?
หัวข้อนี้อาจจะดูไม่น่าเชื่อสำหรับคนสมัยนี้ แต่เชื่อเถอะว่ายังมีคนบางส่วนจริงๆ ที่ไม่รู้ว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง
- โรคเอดส์ (AIDS)
โรคเอดส์เกิดจากการรับเชื้อ Human immunodeficiency virus หรือ HIV เข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวที่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรค ภูมิคุ้มกันโรคจึงลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
ทำให้เชื้อโรคฉวยโอกาสแทรกซ้อนเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น มะเร็ง วัณโรค สาเหตุการเสียชีวิตก็มักเกิดขึ้นจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ เหล่านี้ที่จะทำให้อาการรุนแรง และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
- เริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes Simplex Virus Infection)
เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes simplex virus อาการที่มักพบคือ ปวดแสบบริเวณขา ก้น หรืออวัยวะเพศ มีผื่นเป็นตุ่มน้ำใส แผลหายได้เองใน 23 สัปดาห์
แต่เชื้อไวรัส Herpes simplex virus จะสะสมในปมเส้นประสาท เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย เครียด แสงแดดที่ร้อนมากๆ มีบาดแผลถลอก ฯลฯ
เชื้อไวรัสนี้จะเคลื่อนจากปมประสาทมาตามเส้นประสาทจนถึงปลายประสาทและเกิดโรคเริมซ้ำบริเวณเดิมอีกครั้ง
- แผลริมอ่อน (Chancroid)
เกิดจากเชื้อ Haemophilus ducreyi อาการที่พบคือ เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ แผลมักมีลักษณะเฉพาะคือ แผลค่อนข้างเจ็บมาก มีหนองที่ก้นแผล มีเลือดออกง่าย มักมีหลายๆ แผลพร้อมกัน
บางรายต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมและเป็นฝี เมื่อฝีแตกจะเป็นแผล บางคนมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียก ไข่ดันบวม หากไม่รักษาหนองจะแตกออกจาก
- หนองใน (Gonorrhoea)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoea สำหรับโรคหนองใน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
- เพศชาย มักจะพบอาการแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะขัด มีหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ในระยะแรกจะพบเป็นมูกใส ๆ แต่หลังจากนั้นจะเป็นหนองสีเหลืองข้น และมีอาการปวดและบวมที่อัณฑะ มีอาการอัณฑะอักเสบ
- สำหรับเพศหญิงจะพบอาการตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมาก มีหนองสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น มีอาการขัดเบา และแสบเวลาปัสสาวะ ปวดท้องน้อย ปัสสาวะขุ่น มีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างมีรอบเดือน เป็นต้น
- หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)
เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม poxviridae การติดเชื้อจะเกิดขึ้นเฉพาะผิวหนังชั้นนอกด้วยการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสทางผิวหนัง ไม่มีการเข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือด หรือระบบประสาท
ส่วนใหญ่มักเป็นหูดข้าวสุกบริเวณอวัยวะเพศ หูดจะมีลักษณะเริ่มจากจุดสีแดงก่อนแล้วเป็นตุ่มเล็กๆ สีแดง อาจมีตุ่มคล้ายสารสีขาวอยู่ข้างในคล้ายเม็ดวิวอักเสบ หากบีบออกมาจะมีสารสีขาวข้นไหลออกมาคล้ายเม็ดข้าวสุกจึงเป็นที่มาของชื่อโรค
- หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)
เกิดจากไวรัส Human papilloma virus (HPV) ชนิดความเสี่ยงต่ำซึ่งไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง พบได้ทั้งชายและหญิงโดยหูดหงอนไก่มักจะขึ้นตามอับชื้น เช่น บริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
บางรายที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการแสดง หรือบางรายมีลักษณะเป็นติ่งเนื้ออ่อนๆ สีชมพูคล้ายหงอนไก่ บางรายก็ก้อนโตมากจนอุดกั้นช่องคลอด ท่อปัสสาวะ หรือทวารหนัก หรือบางรายมีเลือดออกก็มี
การเป็นหูดหงอนไก่ระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้หูดโตเร็วกว่าปกติ ถ้าไม่รีบรักษาหูหงอนไก่อาจขัดขวางการคลอดได้จนต้องผ่าคลอด นอกจากนี้ทารกยังอาจติดเชื้อนี้ได้ระหว่างการคลอด เชื้อจะไปอยู่บริเวณคอหอยและหลอดลมส่งผลต่อการหายใจของทารกจนอาจเสียชีวิตได้
- หิด (Scabies)
เกิดจากตัวไร Sarcoptes scabei var homins มีขนาดเล็กมากเพียง 0.4 มิลลิเมตร อาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นกำพร้ารวมทั้งสืบพันธ์ุ วางไข่ หิดติดเชื้อโดยการสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง รวมทั้งเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หิดมักพบตามง่ามนิ้วมือ ข้อศอก รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ อวัยวะเพศ ข้อเท้า หลังเท้า และก้น จากนั้นผื่นหิดจะกระจายตามร่างกายและคันมาก
- ซิฟิลิส (Syphilis)
เกิดจากการติดเชื้อ Spirochete ชื่อ Treponema pallidum การได้รับเชื้อครั้งแรกจะมีแผลที่บริเวณอวัยวะเพศโดยจะอยู่ในร่างกายผู้ป่วยแตกต่างจากแผลริมอ่อน
แผลซิฟิลิสสามารถอยู่ในร่างกายได้นานหลายปี หากกำเริบอาจเป็นซิฟิลิสระบบหัวใจและหลอดเลือด ซิฟิลิสระบบประสาท ซิฟิลิสสมอง เป็นต้น นอกจากนี้หากมีเชื้อซิฟิลิสระหว่างตั้งครรภ์ยังสามารถ่ายทอดสู่ลูกได้ หรือที่เรียกว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital syphilis)
- โลน (Pediculosis Pubis)
โรคนี้เกิดจากแมลงตัวเล็กๆ ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตรที่เรียกว่า Pediculosis pubis มีรูปร่างคล้ายปู ชอบอาศัยและวางไข่บริเวณที่มีขนหยาบ เช่น อวัยวะเพศ รักแร้ ท้อง หน้าอก เครา ชอบดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร
การติดเชื้อโลนเกิดได้ง่ายจากการที่อยุ่ใกล้ชิดกัน เช่น นอนบนเตียงเดียวกัน ใช้กางเกงในร่วมกัน หลังติดเชื้ออาการอาจไม่ปรากฎเด่นชัด นอกจากการสังเกตเห็นไข่โลนตามขนของร่างกายจากนั้นจึงมีอาการคันอย่างรุนแรง
- พยาธิช่องคลอด (Vaginal Trichomoniasis)
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว Trichomonas vaginalis เกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในผู้หญิงเชื้อจะอาศัยอยู่ในช่องคลอด อวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะ
ผู้ป่วยจะมีอาการตกขาวผิดปกติ มีสีเขียวขุ่นหรือเหลืองเข้ม มีฟองอากาศและมีกลิ่นเหม็น เกิดการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ คัน และแสบปากช่องคลอด ส่วนผู้ชาย เชื้้อจะอาศัยอยู่ที่ท่อปัสสาวะและต่อมลูกหมากโดยทั่วไปมักไม่แสดงอาการ
แต่อาจระคายเคืองที่อวัยวะเพศ หรือแสบขัด ในหญิงตั้งครรภ์ การติดเชื้อนี้อาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และเด็กที่เกิดอาจมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
การรักษา
ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรง แต่โดยทั่วไปเมื่อสังสัยว่า มีอาการ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อรับการวินัจฉัย รักษา และควบคุม ไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นอีก
รวมวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ให้ความรู้เรื่องนี้เป็นวงกว้าง ให้เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งคำถามว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง และจะดีที่สุดหากคำถามที่ว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง จะหมดไปจากสังคมเนื่องจากทุกคนมีความรู้เรื่องนี้แล้วนั่นเอง
- ไม่ไปสัมผัสโรค
- ไม่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนคือ การมีสามี หรือภรรยาคนเดียว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- อย่าคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว หรือประมาท ควรเรียนรู้อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เอาไว้บ้าง
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มาก
- ใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือนเพราะจะทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่ายกว่าปกติ
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเร็วกว่าปกติ หากจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัย
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการสอดใส่
- สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
- รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ
- ฉีดวัคซีนป้องกัน เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันไวรัส HPV
- การรับประทานยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ชนิดก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์
หลายคนนิยามโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้ว่า “โรคฉาบฉวย” เพราะมักเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ระวัง เปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ หรือคนที่คึกคะนอง โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน
แต่เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วมักรักษายาก บางโรคก็ป่วยเป็นระยะนานหลายปี บางโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาดด้วยซ้ำไป และหลายรายที่มักจะเสียใจทีหลังเพราะแก้ไขอะไรไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากมีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ และป้องกันให้ถูกวิธีก็จะช่วยลดการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้