การตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง จะใช้ระยะเวลาประมาณ 280 วัน หรือ 40 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งจำนวนวันอาจแตกต่างกันเล็กน้อยในหญิงแต่ละคน ในระหว่างนั้นร่างกายของหญิงตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เพื่อให้การตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นไปอย่างปลอดภัย คุณแม่สามารถดูแลตนเองในขณะตั้งครรภ์ได้ถูกวิธี หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจึงควรเข้ารับ “การฝากครรภ์”
สารบัญ
- แนวทางการฝากครรภ์ในการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง
- ครั้งที่ 1 ฝากครรภ์ครั้งแรก อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งต่อไปอีก 8 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ 13 น้อยกว่า 20 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งต่อไปอีก 6 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ 20 น้อยกว่า 26 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งถัดไปอีก 6 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 4 อายุครรภ์ 26 น้อยกว่า 32 สัปดาห์ (นัดตรวจครรภ์ครั้งต่อไปอีก 6 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 5 อายุครรภ์ 32-40 สัปดาห์ (ในกรณที่ยังไม่คลอดบุตร นัดตรวจครั้งต่อไปทุก 1 สัปดาห์)
- โปรแกรมฝากครรภ์ในการตั้งครรภ์อื่นๆ
แนวทางการฝากครรภ์ในการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง
ในกรณีที่การตั้งครรภ์ไม่มีภาวะเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายทั้งหมด 5 ครั้ง เรียกว่า “การฝากครรภ์คุณภาพ”
การฝากครรภ์คุณภาพ หมายถึง การฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ และฝากครรภ์ครบ 5 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์
เพื่อให้มารดาและทารกในครรภ์ได้รับการบริการทางสุขภาพที่ครบถ้วนและดีที่สุด มีรายละเอียดดังนี้
ครั้งที่ 1 ฝากครรภ์ครั้งแรก อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งต่อไปอีก 8 สัปดาห์)
- ลงทะเบียนกับทางโรงพยาบาล และซักประวัติโดยแพทย์
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ค่าความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความสูงของยอดมดลูก ตรวจเต้านมและหัวนม เป็นต้น
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ เช่น ตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะ (UPT) ตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urine analysis: UA) ตรวจเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อเอชไอวี (HIV) เชื้อซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจความเข้มข้นของเลือดเพื่อคัดกรองธาลัสซีเมีย และตรวจหาหมู่เลือด Rh
- ประเมินความเสี่ยงการตั้งครรภ์ตามแบบประเมินความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ (Classifying form) กรณีพบข้อใดข้อหนึ่งให้ไปใช้เกณฑ์การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง
- ฉีดวัคซีนบาดทะยัก (Td vaccine) ในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบ
- ให้ยาบำรุงครรภ์
- ประเมินความเครียด และให้คำแนะนำต่างๆ โรงพยาบาลบางแห่งอาจให้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อให้แม่จดบันทึกอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
- นัดพบแพทย์เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ และนัดฝากครรภ์ครั้งต่อไป
ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ 13 น้อยกว่า 20 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งต่อไปอีก 6 สัปดาห์)
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น น้ำหนัก วัดความดันโลหิต ความสูงของยอดมดลูก และฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจความเข้มข้นเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ตรวจครรภ์ และฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์
- ให้ยาบำรุงครรภ์ต่างๆ เช่น ธาตุเหล็ก หรือแคลเซียม
- ให้คำแนะนำการสังเกตลูกดิ้น
ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ 20 น้อยกว่า 26 สัปดาห์ (นัดตรวจครั้งถัดไปอีก 6 สัปดาห์)
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น น้ำหนัก วัดความดันโลหิต ความสูงของยอดมดลูก และฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ เช่น ตรวจปัสสาวะ
- ตรวจครรภ์ และฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์
- ให้ยาบำรุงครรภ์อย่างต่อเนื่อง
- ให้คำแนะนำการสังเกตลูกดิ้น และวิธีการบันทึกลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ เพื่อนำประกอบการประเมินของแพทย์ในครั้งต่อไป
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลความสะอาดของอวัยวะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดได้
ครั้งที่ 4 อายุครรภ์ 26 น้อยกว่า 32 สัปดาห์ (นัดตรวจครรภ์ครั้งต่อไปอีก 6 สัปดาห์)
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น น้ำหนัก วัดความดันโลหิต ความสูงของยอดมดลูก และฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ (เจาะเลือดครั้งที่ 2) เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจความเข้มข้นเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- แนะนำการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และงดการเดินทางไกล
- ติดตามบันทึกลูกดิ้นในสมุดบันทึกสุขภาพ
- นัดฟังผลตรวจเลือด
ครั้งที่ 5 อายุครรภ์ 32-40 สัปดาห์ (ในกรณที่ยังไม่คลอดบุตร นัดตรวจครั้งต่อไปทุก 1 สัปดาห์)
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น น้ำหนัก วัดความดันโลหิต
- วัดความสูงของยอดมดลูก
- ตรวจครรภ์ และฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์
- ตรวจดูการบันทึกลูกดิ้น
- วางแผนการคลอดบุตร ในกรณีที่ยังไม่คลอด แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 สัปดาห์ เพื่อติดตามสุขภาพในครรภ์อย่างใกล้ชิด
โปรแกรมฝากครรภ์ในการตั้งครรภ์อื่นๆ
ข้อมูลรายละเอียดแนวทางการฝากครรภ์ในการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงทั้ง 5 ครั้งนี้ เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น
บางโรงพยาบาลอาจมีโปรแกรมเสริมต่างๆ เพิ่มเข้ามา เช่น กิจกรรมเตรียมตัวเป็นพ่อและแม่ หรือสอนวิธีการดูแลลูกน้อยต่างๆ
จะเห็นได้ว่า การฝากครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้หญิงตั้งครรภ์รู้จักสุขภาพร่างกายของตนเอง สามารถดูแลตนเองและทารกในครรภ์ได้อย่างถูกวิธี ทำให้การกระบวนการตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นไปอย่างปลอดภัยมากขึ้น