สะอึก เป็นอาการที่หลายคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อสะอึกแต่ละครั้ง ย่อมทำให้รู้สึกเหนื่อยมากพอสมควร โดยเฉพาะหากอาการสะอึกเกิดขึ้นนานแบบไม่ยอมหยุดสักที ยิ่งทำให้รู้สึกหงุดหงิดน่ารำคาญมากขึ้น เพราะฉะนั้น เราจึงมาแนะนำให้รู้ว่าแท้จริงแล้ว อาการสะอึกเกิดจากอะไร สาเหตุ อาการและวิธีรักษาแก้ไขทำได้อย่างไรบ้างถึงเห็นผลเร็ว หายเองโดยธรรมชาติแบบไม่ใช้ยาได้ไหม
สารบัญ
อาการสะอึกเกิดจากอะไร?
สะอึก (Hiccup หรือ Hiccough และ Singultus) เป็นอาการอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่โรค โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยกะทันหันและเฉียบพลัน ซึ่งอาการสะอึกเกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อกระบังลมที่อยู่บริเวณรอยต่อหดตัว โดยไม่สามารถที่จะควบคุมได้ และอาการสะอึกก็มักจะเป็นๆ หายๆ
อาการสะอึกสามารถหายเองได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีใดๆ ช่วย แต่ทั้งนี้อาจจะต้องคอยสังเกตว่าถ้าสะอึกนานเกินกว่าปกติ หรือเป็นชั่วโมงก็อาจจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทำการรักษา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคอื่นๆ ที่อาจตามมาภายหลังได้
สาเหตุของการสะอึก
สำหรับสาเหตุของอาการสะอึกแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. อาการสะอึกแบบปกติ
สาเหตุของการสะอึกแบบปกติที่เกิดขึ้น มาจากพฤติกรรมการชีวิตประจำวันที่ผิดและมีความเสี่ยง อย่างเช่น
- ดื่ม/รับประทานอาหารที่มีแก๊สมากเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีรสชาติจัดมากจนเกินไป
- รับประทานอาหารเร็วและอิ่มมากเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันรวดเร็วมากเกินไป
- ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- มีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ตื่นเต้น ตกใจ กลัว หรือซึมเศร้า
2. อาการสะอึกแบบผิดปกติ
สาเหตุของการสะอึกแบบผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น มาจากโรคต่างๆ และยากที่จะควบคุมรักษา โดยโรคที่ส่งผล คือ
- โรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง ได้แก่ โรคสมองอักเสบ โรคอัมพาต และโรคเนื้องอกสมอง
- โรคกรดไหลย้อน
- โรคคออักเสบเรื้อรัง
- โรคตับ/ไตวาย
อาการสะอึก มีอาการเป็นอย่างไร?
สำหรับอาการสะอึกนั้นอาจจะไม่สามารถที่จะบรรยายได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้สามารถที่จะแบ่งเป็นรูปแบบได้คือ
1. รูปแบบอาการสะอึกปกติ
โดยส่วนใหญ่แล้ว สำหรับผู้ที่มีอาการสะอึกแบบปกติ ก็จะไม่ได้มีอาการรุนแรง แต่มีรูปแบบอาการ คือ
- สะอึกไม่เกิน 2-3 นาที
- สามารถที่จะหายได้เอง
- สะอึกเป็นชั่วโมง หลายวัน หรือหลายสัปดาห์ติดต่อกัน
- ไม่ว่าจะใช้วิธีรักษาทั่วไปก็ไม่สามารถรักษาได้
2. รูปแบบของการสะอึกผิดปกติ
อาการของการสะอึกที่ผิดปกติจะสามารถบ่งบอกได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
การตรวจวินิจฉัยอาการสะอึกนั้น สามารถทำการวินิจฉัยได้ง่ายกว่าโรคอื่นๆ เพราะการวินิจฉัยอาการสะอึกไม่จำเป็นที่จะต้องมีการใช้ผลตรวจเพิ่มเติม โดยจะดูเพียงแค่ระยะเวลาที่นานเกินควร คือ การที่สะอึกนานกว่ารูปแบบของการสะอึกที่เป็นปกติ และรักษาด้วยวิธีทั่วไปแบบที่ใช้กันมักจะไม่ได้ผล
วิธีรักษาอาการสะอึก
การรักษาอาการสะอึกสามารถที่จะใช้วิธีรักษาได้หลากหลายวิธี โดยการรักษาอาการสะอึกสามารถที่จะแบ่งเป็นรูปแบบการรักษาหลักๆ ได้ดังนี้
1. การรักษาอาการสะอึกแบบพื้นบ้าน
การรักษาอาการสะอึกแบบพื้นบ้าน เหมาะสำหรับใช้กับอาการสะอึกที่เป็นปกติ โดยมีวิธีคือ
- ทำให้เรอ/ไอ เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้เกิดการขัดขวางการทำงานของกระบังลม คือ เมื่อเกิดอาการสะอึกกระบังลมจะหดตัว แต่ถ้าทำให้เรอหรือไอก็จะทำให้กระบังลมคลายตัวได้ง่ายมากขึ้น แต่อย่าพยายามที่จะไอมากเกินไป เพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้
- อุดหูขณะดื่มน้ำ เมื่อร่างกายเกิดอาการสะอึก ย่อมทำให้ระบบประสาทสำหรับการหายใจผิดปกติไปด้วย ดังนั้นเมื่ออุดหูในขณะดื่มน้ำเมื่อมีอาการสะอึก ก็จะทำให้ระบบประสาทถูกกดทับ จึงจะทำให้กระบังลมทำงานได้ตามปกติ
- กดจุด อาจจะเป็นวิธีที่ไม่ค่อยได้ยินกันสักเท่าไหร่ โดยการกดจุดนั้นจะกดจุดโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้ง บีบเนินเนื้อของมืออีกฝั่ง หรืออาจจะเลือกการกดจุดที่ร่องเหนือริมฝีปาก โดยควรจะลงแรงกดมากพอสมควร เพราะการกดจุดบริเวณนี้จะช่วยในเรื่องของการเบี่ยงเบียนระบบประสาทในการหายใจซึ่งก็จะทำให้การสะอึกดีขึ้น
- แลบลิ้น การรักษาอาการสะอึกด้วยการแลบลิ้น หลายคนอาจจะไม่เชื่อในเรื่องของการรักษารูปแบบนี้ แต่การแลบลิ้นออกมายาวๆ จะช่วยกระตุ้นช่องว่างในส่วนของเส้นเสียง ทำให้การหายใจสะดวกมากยิ่งขึ้นและช่วยรักษาอาการสะอึกไปในตัว
- กินน้ำตาล วิธีรักษาอาการสะอึกด้วยการกินน้ำตาล อาจจะยังเป็นวิธีที่หลายคนยังไม่กล้าที่จะใช้เพื่อรักษาอาการสะอึก แต่ทั้งนี้การกินน้ำตาลกลับเป็นวิธีพื้นบ้านที่สามารถใช้รักษาได้ดี เพราะเมื่อกินน้ำตาลเข้าไปหลอดอาหารจะเกิดการระคายเคืองจากเกล็ดน้ำตาล จึงทำให้ระบบการหายใจขัดข้องและอาจจะต้องมีการปรับระบบใหม่ โดยควรกินเพียงแค่ 1 ช้อนชาเพื่อป้องกันผลเสียตามมาภายหลัง
- ใช้ทิชชู่ปิดแก้วขณะดื่มน้ำ การใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากแก้วขณะดื่มน้ำ จะช่วยรักษาอาการสะอึกได้ เนื่องจากจะต้องใช้แรงดูดมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นระบบประสาทก็จะต้องมีการปรับรูปแบบให้กลับมาทำงานใหม่ตามปกติ
2. การรักษาอาการสะอึกตามแนวทางแพทย์
สำหรับการรักษาอาการสะอึกตามแนวทางแพทย์ จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีรูปแบบอาการสะอึกที่ผิดปกติเท่านั้น ซึ่งแพทย์ก็จะให้การรักษาดังนี้
- ใช้ยา เมื่อมีอาการสะอึกแบบผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์ก็จะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาก่อนเป็นอันดับแรก โดยกลุ่มยาที่ใช้ก็คือ ยา Baclofen ซึ่งจะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อเกร็งกระตุก และอาจจะมีการใช้ยาในกลุ่มยาช่วยย่อย เช่น Omperazole
- ฝังเข็ม วิธีฝังเข็มเพื่อรักษาอาการสะอึก เป็นอีกวิธีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยรักษาได้ดี เนื่องจากการฝังเข็มจะทำให้ระบบของร่างกายถูกปรับให้สมดุลมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วในส่วนของระบบการหายใจก็จะถูกปรับไปด้วยเช่นเดียวกัน
วิธีป้องกันอาการสะอึก
สำหรับวิธีป้องกันอาการสะอึกนั้นยังไม่ได้มีวิธีที่แน่ชัดว่าสามารถใช้แล้วได้ผล แต่ทั้งนี้ในเบื้องต้นก็ยังมีวิธีพื้นฐานที่พอจะช่วยได้ คือ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการสะอึกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อย่าง
- การทานอาหารเร็วเกินไป
- ทานมากเกินไปจนอิ่ม
- พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น อาการตกใจ เศร้าใจ ดีใจ ฯลฯ
การสะอึก ถึงแม้จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการสะอึกไม่ใช่อาการที่รุนแรงจนทำให้เกิดอันตราย หายได้เองตามธรรมชาติ ยกเว้นแต่ว่าอาการสะอึกจะมาจากสาเหตุที่อันตรายอย่างการเกิดโรคบางอย่างร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่ามีอาการสะอึกที่ผิดปกติหรือสะอึกเป็นเวลานานแล้วไม่หาย แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปจะดีที่สุด