ไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบใกล้ตัว ที่ใครๆ ก็เป็นได้

ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากถึงร้อยละ 5 จากประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 3 ล้านคน รวมถึงผู้ที่เป็นมะเร็งตับในไทยยังมีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมากถึงร้อยละ 70-75 จนทำให้โรคนี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด

โรคไวรัสตับอักเสบบีเกิดจากอะไร ติดต่อกันอย่างไร

โรคไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus: HBV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้ตับเกิดการติดเชื้อและอักเสบ หากมีอาการเรื้อรังอาจเป็นต้นเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นตับวายและนำไปสู่การเสียชีวิต

ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้จากหลายทาง ดังต่อไปนี้

  • ทางพันธุกรรม โดยถ่ายทอดจากแม่ที่ติดเชื้อสู่ทารก ปัจจุบันพบน้อยเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนให้ทารกหลังคลอด ซึ่งป้องกันได้เกือบ 100%
  • ทางเลือดและสารคัดหลั่ง โดยการสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อผ่านบาดแผล รวมทั้งการรับเลือดของผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน ปัจจุบันการติดเชื้อจากรับเลือดลดลง เพราะมีการตรวจเลือดก่อนที่จะนำมาให้ผู้ป่วยเสมอ
  • ทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคนี้โดยไม่ได้ป้องกัน มีโอกาสได้รับเชื้อได้สูงถึงร้อยละ 30–50
  • การใช้อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนของเลือดร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา เข็มสัก มีดโกนหนวด แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ เป็นต้น

ไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว เพราะในระยะแรกของการรับเชื้อผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการหรือมีเพียงอาการอ่อนเพลียคล้ายเป็นไข้เท่านั้น ทำให้ไม่ทราบถึงการติดเชื้อของตน จึงอาจไม่ทันได้ระวังตัว

อาการของไวรัสตับอักเสบบี

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะเฉียบพลัน (Acute Hepatitis) ผู้ป่วยในระยะนี้มักจะมีไข้อ่อนๆ ปวดเมื่อยตามตัว กดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา ปัสสาวะมีสีเข้ม โดยอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการอื่นๆ อย่างการเบื่ออาหาร แน่นท้อง ตัวเหลือง คันตามผิวหนัง เป็นต้น
    โดยมากผู้ป่วยจะแสดงอาการภายใน 2-3 เดือนหลังติดเชื้อ และจะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ และหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้
    ผู้ป่วยระยะนี้บางรายเซลล์ตับอาจถูกทำลายเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดภาวะไตวาย บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมา
  2. ระยะเรื้อรัง (Chronic Hepatitis) ผู้ป่วยในระยะนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ แต่หากมีอาการก็จะมีเพียงอาการอ่อนเพลียหรือเบื่ออาหารเท่านั้น
    การอักเสบระยะนี้พบบ่อยในผู้ที่ได้รับเชื้อจากมารดาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งการที่ตับอักเสบเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดพังผืดที่ตับ ซึ่งนำไปสู่โรคตับแข็ง มะเร็งตับต่อไป

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นไวรัสตับอักเสบบี

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่

  • ผู้ที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2535 หรือปีที่มีการระบุให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเป็นวัคซีนพื้นฐาน
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ที่เคยได้รับเลือดหรือสารเลือด
  • ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและต้องฟอกไต
  • ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน
  • ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่เคยใช้ของมีคมและอุปกรณ์บางชนิดร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ เข็มฉีดยา เป็นต้น
  • บุคลากรทางการแพทย์

วิธีการรักษาไวรัสตับอักเสบบี

ปกติแล้วผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาทุกคน เพราะแพทย์จะพิจารณาและรักษาให้กับผู้ที่มีข้อบ่งชี้อย่างการมีภาวะตับอักเสบหรือสัญญาณโรคตับ หากพิจารณาแล้วว่าควรได้รับการรักษา แพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัสให้

ยาต้านไวรัสแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • ยาชนิดรับประทาน เป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยยาชนิดนี้จะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่กระจายของไวรัส ข้อกำจัดของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ ไม่มีระยะเวลาการรักษาที่แน่นอน โดยมากมักจะต้องรับประทานยาต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งอาจทำให้เกิดการดื้อยาตามมา จนต้องเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ ตลอดการรักษา
  • ยาฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน หรือยาฉีดเพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน (Pegylated Interferon) เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิต้านทานและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส

วิธีนี้นอกจากจะมีประสิทธิภาพสูงแล้ว หลังหยุดฉีดยายังสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ต่อเนื่องนาน 6 เดือนถึง 1 ปี รวมทั้งโอกาสที่เชื้อจะกลับมามีความรุนแรงนั้นน้อยกว่าการรับประทานยาต้านไวรัสอีกด้วย

ข้อจำกัดของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ ต้องฉีดทุกสัปดาห์ นาน 1 ปี ราคาสูง และหลังฉีดมักมีผลข้างเคียง อย่างการมีไข้อ่อนๆ อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน อีกด้วย

การรักษาทั้ง 2 วิธีจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายจากอาการตับอักเสบได้ แต่จะไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้หมด จึงต้องมีการติดตามดูแล ตรวจเช็คสุขภาพของตับอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันตับแข็งและมะเร็งตับที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

ในผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการและข้อบ่งชี้อื่นๆ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องระมัดระวังในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ร่วมกับการตรวจสุขภาพตับทุกๆ ปี เพื่อติดตามการทำงานของตับเช่นเดียวกัน

วิธีป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

เราสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้หลายวิธี ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างการเจาะ สักผิวหนัง และการใช้ของมีคมร่วมกับบุคคลอื่น รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

2. หญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีความจำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ หากเชื้อไวรัสมีปริมาณมากควรรับประทานยาต้านไวรัสในช่วง 3 เดือนก่อนคลอด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

3. การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังควบคุมเชื้อไวรัสไม่ให้ลุกลามหรือแพร่กระจาย เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม พบว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้มากถึง 97% ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต

หลังฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี จะป้องกันได้นานแค่ไหน

ในคนส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานจนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ภายใน 1-2 เดือนหลังรับวัคซีน ควรเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี หากยังไม่มีภูมิต้านทาน ควรฉีดวัคซีนเพิ่มตามคำแนะนำของแพทย์

โดยทั่วไปภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนครบจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา ซึ่งแม้ภูมิจะลดลงจนตรวจไม่พบ ร่างกายก็สามารถสร้างภูมิต้านทานขึ้นอย่างรวดเร็วหากได้รับเชื้อ

จะเห็นได้ว่าการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีนั้นยังมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันไวรัสชนิดนี้แล้ว ยังลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อฉีดครบ 3 เข็มสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากถึง 97% และป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดเข็มกระตุ้น

Scroll to Top