ผักขี้หูด (French radis) มีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายหูดที่ขึ้นตามผิวหนัง มียอดและฝักสดที่มีรสเผ็ดและฉุนเล็กน้อยคล้ายมัสตาร์ด แต่ถ้าสุกแล้วจะมีรสออกหวานนิดๆ ชาวบ้านจึงนิยมนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ผักขี้หูดยังมีสรรพคุณทางยามากมายอีกด้วย
สารบัญ
คุณค่าทางโภชนาการของผักขี้หูด
ผักขี้หูด 100 กรัม ให้พลังงาน 30 แคลอรี มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- ไขมัน 1 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 5.6 กรัม
- โปรตีน 1.8 กรัม
- ใยอาหาร 0.9 กรัม
- วิตามินซี 52 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 60 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.6 กรัม
ที่มา: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สรรพคุณของผักขี้หูด
- ต้านการอักเสบ: ใช้บรรเทาอาการอักเสบภายในร่างกาย เช่น อาการปวดข้อ ปวดเมื่อย
- แก้ไอและขับเสมหะ: นิยมใช้ใบและรากต้มดื่มเพื่อลดอาการไอและขับเสมหะ
- รักษาโรคผิวหนัง: ใบและน้ำคั้นจากต้นใช้ทาภายนอกช่วยรักษาผื่นคัน กลากเกลื้อน
- ขับปัสสาวะ: มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ
- บรรเทาอาการปวดท้อง: ใช้เป็นยาพื้นบ้านสำหรับบรรเทาอาการปวดท้องและแน่นจุกเสียด
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย: ใบตำพอกบริเวณที่ถูกกัดช่วยลดอาการคันและบวม
ส่วนต่างๆ ของผักขี้หูด
- แพทย์พื้นบ้านล้านนา ใช้เมล็ดผสมกับน้ำมันงาอุ่นๆ ทาบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น แก้เคล็ดขัดยอก
- แพทย์พื้นบ้านล้านนา ใช้ส่วนราก 1 หัว ผสมกับแตงกวา 2 ผล ตำรวมกันแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ดื่มเพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนจากความดันโลหิตสูง
- ตามตำรายาไทย ใช้ส่วนเมล็ด ฝักและใบรับประทานสดๆ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย สมานลำไส้ ขับลมในลำไส้ และใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ หากทนกลิ่นฉุนไม่ไหว ให้นำไปลวกให้สุกเพื่อให้กลิ่นฉุนน้อยลง
- นิยมนำผักขี้หูดไปตำให้แหลก เพื่อให้มีกลิ่นฉุนมากขึ้น แล้วสูดดมเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูกจากไข้หวัด
- ตามตำรายาไทย ใช้ส่วนรากปรุงเข้าตำรับยาแก้ตกเลือดในสตรีหลังคลอด และตำรับแก้อาเจียนเป็นเลือด โดยใช้ส่วนรากต้มในน้ำเดือดรวมกับผักแพวแดง รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน
- ส่วนดอก มีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับน้ำดี และช่วยละลายนิ่ว ในถุงน้ำดี โดยใช้ส่วนดอก 10-30 กรัม ต้มในน้ำเดือด รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง
การนำผักขี้หูดมาปรุงอาหาร
ผักขี้หูดจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย แต่เมื่อทำให้สุกจะมีรสหวานมัน ชาวล้านนามักนำฝักผักขี้หูดมาทำเป็นแกงใส่เนื้อสัตว์ เช่น เกงปลา แกงกบ หรือกินสดจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
หากนำผักขี้หูดใส่ในแกงต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของพริกด้วย อาจทำให้ความเผ็ดของพริกลดลง ดังนั้น หากชอบรับประทานเผ็ด อาจจะต้องเพิ่มจำนวนเม็ดพริกลงไปอีก
ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรับประทานผักขี้หูด
ผักขี้หูดเป็นผักพื้นบ้านที่สามารถรับประทานได้เป็นประจำ แต่ไม่ควรรับประทานเฉพาะผักขี้หูดติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน เพราะอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และอาจได้รับพิษตกค้างจากผัก
แม้ว่าผักขี้หูดจะมีประโยชน์ทางยา แต่ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรหรือแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย