การรักษาโรคลมชักวิธีที่ใช้เป็นหลักคือการให้ผู้ป่วยรับประทานยากันชักอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการชัก นอกจากการใช้ยากันชักแล้วยังมีการรักษาอื่นๆ ได้แก่ การผ่าตัด การผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทเวกัส, การผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองส่วนลึก, คีโตเจนิคไดเอต และ การรักษาเสริม
ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยยากันชัก (anti-epileptic drugs (AEDs)) ยากันชักไม่ได้ทำให้โรคลมชักหายขาด แต่สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้น
ยากันชักนั้นมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยทั่วไปยากันชักจะออกฤทธิ์โดยไปเปลี่ยนแปลงระดับของสารเคมีภายในสมองซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำสัญญาณไฟฟ้าภายในสมอง ทำให้ลดโอกาสเกิดอาการชักได้
ชนิดของยากันชักที่แพทย์จะแนะนำสำหรับคุณจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ หลายปัจจัย ได้แก่ ชนิดของอาการชักที่คุณเป็น, อายุของคุณ, มีข้อควรระวังในการใช้ยากันชักกับยาตัวอื่นๆ ที่อาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันหรือไม่ (เช่น การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด และคุณกำลังวางแผนที่จะตั้งครรภ์หรือไม่ )
ตัวอย่างรายชื่อยากันชักที่ใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ โซเดียมวาโปรเอต (sodium valproate), คาร์บาร์มาซีปีน (carbamazepine), ลาโมไทรจีน (lamotrigine), เลวิไทราซีแทม (levetiracetam), ออกคาร์บาร์ซีปีน (oxcarbazepine), อีโทซูซิไมด์ (ethosuximide) และ โทไปราเมท (topiramate)
สารบัญ
การรับประทานยากันชัก
ยากันชักมีที่ใช้กันอยู่หลายรูปแบบ ได้แก่ ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ และยาน้ำเชื่อม
สิ่งสำคัญคือคุณจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการรับประทานยากันชัก รวมถึงขนาดยากันชักที่ต้องรับประทานด้วย และอย่าหยุดรับประทานยากันชักเอง เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการชักได้
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเริ่มให้ยากันชักกับคุณในขนาดต่ำก่อน และค่อยๆ เพิ่มขนาดยากันชักขึ้นแต่ยังอยู่ในช่วงที่ปลอดภัยจนกว่าจะควบคุมไม่ให้คุณมีอาการชักได้ หรือจนกว่าจะเกิดผลข้างเคียงขึ้น หากการใช้ยากันชักชนิดแรกแล้วไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ แพทย์จะทดลองให้ยากันชักตัวใหม่โดยค่อยๆ เพิ่มขนาดยากันชักตัวใหม่เข้าไปและค่อยๆ ลดขนาดยากันชักตัวเก่าลง
เป้าหมายของการใช้ยากันชักคือ การควบคุมอาการชักให้ได้ในระดับสูงสุดโดยมีผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุด และใช้ยาด้วยขนาดยาและจำนวนชนิดยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การใช้ยากันชักชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันจะถูกแนะนำให้ทำมากกว่าการเลือกรับประทานยากันชักพร้อมกันมากกว่า 1 ชนิด อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยากันชักมากกว่า 1 ชนิดเพื่อควบคุมอาการชัก
ในขณะที่กำลังรับประทานยากันชัก อย่ารับประทานยาอื่นใดร่วมด้วย หากยังไม่ได้ปรึกษาแพทย์ แม้ว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้านหรือการแพทย์ทางเลือกก็ตาม เพราะยาอื่นๆ อาจเกิดปฏิกิริยากับยากันชักและทำให้คุณมีอาการชักเกิดขึ้น
ยา sodium valproate มักไม่ถูกจ่ายในหญิงวัยเจริญพันธุ์เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความบกพร่องด้านร่างกายหรือปัญหาทางพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้
ดังนั้นยานี้ควรใช้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ต่อเมื่อไม่มียาทางเลือกอื่นแล้ว หรือเมื่อแพทย์ได้ประเมินแล้วว่าคุณไม่น่าจะตอบสนองหรือทนต่อการรักษาอื่นๆ ได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาคุณจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณใช้วิธีคุมกำเนิดที่เชื่อถือได้ระหว่างการใช้ยานี้
ระหว่างการรับประทานยากันชัก หากคุณไม่มีอาการชักเลยเป็นเวลานานมากกว่า 2 ปี กรณีเช่นนี้คุณจะมีความเป็นไปได้ที่จะหยุดรับประทานยากันชัก โดยแพทย์ผู้รักษาจะพูดคุยกับคุณเกี่ยววิธีการที่เหมาะสมและดีที่สุดในการหยุดยากันชัก
ผลข้างเคียงจากยากันชัก
ผลข้างเคียงเป็นเรื่องที่พบได้เป็นปกติเมื่อเริ่มมีการรับประทานยากันชัก อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักเป็นไม่นานและหายไปในเวลาไม่กี่วัน
ผลข้างเคียงเฉพาะตัวยาที่อาจเกิดขึ้นจะขึ้นกับชนิดของยาที่รับประทาน แต่ผลข้างเคียงโดยทั่วไปที่พบได้บ่อยของยากันชัก ได้แก่:
- ง่วงนอน
- รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง
- อยู่ไม่สุข ร้อนรน
- ปวดศีรษะ
- มีอาการสั่นที่ควบคุมไม่ได้
- ผมร่วง หรือมีขนขึ้นตามตัว
- เหงือกบวม
- ผื่น
หากคุณมีอาการผื่นหลังจากรับประทานยากันชัก นั่นหมายความว่า คุณอาจแพ้ยากันชักชนิดนั้น กรณีนี้คุณต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
บางครั้งคุณอาจมีอาการคล้ายกับการเวลาดื่มแอลกอฮอล์หากได้รับขนาดยาสูงเกินไป เช่น ทรงตัวไม่อยู่ การมีสติน้อยลง และอาเจียน หากมีอาการเช่นนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับคุณ
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงเฉพาะของยากันชักชนิดต่างๆ ที่คุณได้รับ สามารถอ่านได้จากเอกสารกำกับยาที่จะแนบไปพร้อมกับยาที่ได้รับ
การผ่าตัดสมอง
ถ้าหากอาการชักไม่สามารถควบคุมได้ดีภายหลังการใช้ยากันชักแล้ว คุณอาจถูกส่งตัวไปยังศูนย์รับรักษาด้านโรคลมชักโดยเฉพาะเพื่อพิจารณาว่าคุณมีความเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดเอาบางส่วนของสมองที่เป็นสาเหตุของอาการชักออกหรือไม่
ก่อนการผ่าตัดจะมีการตรวจสแกนสมองหลายชนิดเพื่อหาบริเวณที่เป็นปัญหา และคุณจะได้รับการทดสอบด้านความจำและทางจิตวิทยาก่อนการผ่าตัดเพื่อประเมินว่าคุณมีแนวโน้มที่จะรับมือกับความเครียดของการผ่าตัดได้อย่างไร และการผ่าตัดจะส่งผลกระทบต่อคุณอย่างไรบ้าง
การผ่าตัดจะถูกแนะนำเฉพาะในกรณี:
- มีสมองแค่บริเวณเดียวที่ทำให้เกิดอาการชัก (การชักเฉพาะที่ หรือ partial seizures)
- การผ่าตัดเอาส่วนของสมองออกจะต้องไม่ทำให้เกิดการสูญเสียหน้าที่การทำงานของสมองอย่างมีนัยสำคัญ
เช่นเดียวกับการผ่าตัดชนิดอื่นๆ การผ่าตัดสมองนี้มีความเสี่ยงต่อผู้ป่วยหลายประการ คือความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาร้ายแรง เช่น ปัญหาด้านความจำ และปัญหาด้านโรคหลอดเลือดสมอง (strokes) ภายหลังการผ่าตัด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคลมชักที่ได้รับการผ่าตัด 70% จะหายจากอาการชัก
ก่อนการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะอธิบายถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัดที่จะเกิดขึ้น
ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดส่วนใหญ่มักฟื้นตัวจากผลของการผ่าตัดในเวลาไม่กี่วัน แต่อาจใช้เวลาหลายเดือนก่อนที่จะฟื้นตัวเต็มที่และสามารถกลับไปทำงานได้
การรักษาทางเลือก
หากอาการชักของคุณไม่สามารถควบคุมได้ดีด้วยการใช้ยากันชัก และการผ่าตัดไม่ใช่วิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับคุณแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้คุณรักษาด้วยการรักษาทางเลือก
การรักษาทางเลือกนอกเหนือจากการผ่าตัดคือ การผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve stimulation; VNS) และในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วย การผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation; DBS)
การผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve stimulation; VNS)
การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส แพทย์จะทำการผ่าตัดเผื่อฝังอุปกรณ์ขนาดเล็กคล้ายเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้ภายใต้ผิวหนัง ซึ่งอยู่บริเวณใกล้ๆ กระดูกไหปลาร้า
อุปกรณ์นี้จะมีสายที่เชื่อมต่อกับเส้นประสาทที่อยู่ด้านซ้ายของลำคอ ที่เรียกว่าเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) อุปกรณ์นี้จะส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทเพื่อกระตุ้นเส้นประสาท วิธีการนี้จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการชักได้
หากคุณรู้สึกถึงอาการเตือนของการเกิดอาการชัก คุณสามารถเปิดใช้การกระตุ้นแบบพิเศษที่ตัวเครื่อง ซึ่งอาจป้องกันไม่ให้เกิดอาการชักได้
สำหรับกลไกในการทำงานของการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสในการป้องกันอาการชักยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ แต่แนวคิดคือการกระตุ้นเส้นประสารทเวกัสจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างเซลล์ภายในสมองที่อาศัยการทำงานของสารสื่อประสาท
คนส่วนใหญ่ที่เข้ารับการผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทเวกัส จะยังคงต้องรับประทานยากันชักอยู่
มีรายงานผลข้างเคียงในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางของการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทเวกัส ได้แก่ เสียงแหบ เจ็บคอ และมีอาการไอขณะเครื่องถูกใช้งาน (โดยปกติจะเกิดขึ้นทุก ๆ ถ นาที และกินเวลานานประมาณ 30 วินาที)
สำหรับแบตเตอร์รี่ของอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทเวกัส โดยทั่วไปจะมีอายุนานสูงสุด 10 ปี หลังจากนั้นจะต้องทำการเปลี่ยนตัวใหม่
การผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation (DBS))
การผ่าตัดนี้คือการผ่าตัดเพื่อฝังขั้วไฟฟ้าเข้าไปที่บริเวณจำเพาะของสมองเพื่อลดการสร้างกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการชัก
ขั้วไฟฟ้านี้จะถูกควบคุมด้วยอุปกรณ์ภายนอกสมองอีกชนิดซึ่งเชื่อมต่อกันไว้และฝังไว้ที่ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกซึ่งมักจะเปิดสวิตซ์การทำงานไว้ตลอดเวลา
การผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองส่วนลึก สามารถช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการชัก แต่การผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีข้อที่ต้องกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ เลือดออกในสมอง, ซึมเศร้า และปัญหาด้านความจำ
คีโตเจนิคไดเอต (Ketogenic diet)
คีโตเจนิคไดเอต คืออาหารที่มีไขมันสูงและมีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำ ซึ่งคิดกันว่าอาหารนี้อาจทำให้เกิดอาการชักได้น้อยลง โดยการไปเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีภายในสมอง
การรักษานี้เป็นหนึ่งในหลักการรักษาโรคลมชักที่ใช้กันมาก่อนที่จะมียากันชักใช้เหมือนในปัจจุบัน แต่ปัจจุบันไม่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการชักแล้ว เพราะอาการไขมันสูงมีความเชื่อมโยงกับสภาวะทางสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจหลอดเลือด (cardiovascular disease; CVD)
อย่างไรก็ตามคีโตเจนิคไดเอตจะถูกแนะนำเป็นบางครั้งในเด็กที่มีอาการชักแต่ไม่สามารถควบคุมอาการชักและไม่ตอบสนองต่อการใช้ยากันชัก เพราะมีข้อมูลว่าคีโตเจนิคไดเอตสามารถลดจำนวนครั้งของการชักได้ในเด็กบางราย ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชักร่วมกับนักโภชนาการเท่านั้น
การรักษาเสริม (Complementary therapies)
มีการรักษาเสริมหลายชนิดที่ผู้ป่วยโรคลมชักบางรายรู้สึกว่าเป็นประโยชน์สำหรับพวกเขา อย่างไรก็ตามยังไม่มีการพิสูจน์เป็นข้อสรุปจากการศึกษาทางการแพทย์ว่าสามารถช่วยลดการเกิดอาการชักได้
ดังนั้นคุณควรระมัดระวังเมื่อได้รับคำแนะนำให้ลดขนาดยากันชัก, หยุดยากันชัก และให้ทดลองรักษาด้วยการรักษาทางเลือก ซึ่งเป็นคำแนะนำจากผู้ที่ไม่ใช่แพทย์หรือไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชัก เพราะการหยุดยากันชักโดยไม่ได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจทำให้มีอาการชักเกิดขึ้นได้
การใช้สมุนไพรก็ควรใช้อย่างระมัดระวังเช่นกัน เพราะส่วนผสมบางอย่างของสมุนไพรจะเกิดปฏิกิริยากับยากันชักได้ ตัวอย่างเช่น สมุนไพรที่ชื่อว่า St John’s Wort ซึ่งใช้สำหรับรักษาอาการซึมเศร้าในระดับรุนแรงน้อยเป็นสมุนไพรที่ไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคลมชักเพราะจะส่งผลต่อระดับยากันชักในเลือด และอาจส่งผลต่อการควบคุมอาการชักได้
ในบางคนที่เป็นโรคลมชักจะพบว่าความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ดังนั้นการผ่อนคลายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย การเล่นโยคะ และการนั่งสมาธิอาจช่วยได้