โรคแพ้ฝุ่น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก จามบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น บางรายก็อาจมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกไหล หรือมีอาการคันที่ตา ตาแดง มีน้ำตาไหลร่วมด้วยได้
อาการแพ้ฝุ่นอาจเป็นตัวกระตุ้นอาการของโรคหอบหืดได้ เช่น หายใจมีเสียงวี๊ด ไอ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจไม่อิ่ม
นอกจากนี้ฝุ่นยังสามารถทำให้บางคนมีอาการคัน หรือเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้อีกด้วย
สารบัญ
อาการแพ้ฝุ่นเกิดขึ้นได้ที่ใดบ้าง?
อาการแพ้ฝุ่นสามารถเกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าจะในบ้านของตนเอง หรือในบ้านของคนอื่น
ผู้ป่วยมักจะมีอาการแย่ลงเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ฝุ่นเยอะๆ หรือช่วงที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับฝุ่น เช่น เวลาทำความสะอาดบ้าน ซึ่งเป็นเวลาที่ฝุ่นฟุ้งกระจาย เมื่อผู้ป่วยสูดหายใจเอาฝุ่นเข้าไปก็จะเกิดอาการแพ้ตามมานั่นเอง
อาการของโรคแพ้ฝุ่น
- จาม
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ตาแดง คันตา มีน้ำตาไหล
- หายใจมีเสียงวี๊ด ไอ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม
- คัน
ปัจจัยกระตุ้นอาการแพ้ฝุ่น
องค์ประกอบที่พบบ่อยในฝุ่นภายในบ้านอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอาการแพ้ฝุ่น มีดังนี้
1. ไรฝุ่น (Dust mites)
- ไรฝุ่นเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของการแพ้ฝุ่นภายในบ้าน และยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหอบหืดในเด็ก
- ไรฝุ่นจะมีชีวิต และเพิ่มจำนวนได้ง่ายในสภาพอากาศอบอุ่น และชื้น
- อุณหภูมิที่ไรฝุ่นชอบ คือ ตั้งแต่ 21.1 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับความชื้น 75-80% และจะตายเมื่อความชื้นลดลงต่ำกว่า 50% เราจึงไม่ค่อยพบไรฝุ่นในสภาพอากาศแห้ง
- ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินเซลล์ผิวหนังของคน และสัตว์เลี้ยงที่หลุดลอกออกมาทุกๆ วัน
- ไรฝุ่นมักพบได้ในหมอน ที่นอน พรม และเฟอร์นิเจอร์หุ้มเบาะ โดยไรฝุ่นจะลอยขึ้นสู่อากาศเมื่อเราใช้เครื่องดูดฝุ่น เดินบนพรม หรือนอนลงบนเตียง
- ไรฝุ่นมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และไม่อาจกำจัดด้วยวิธีการทำความสะอาดตามปกติ
ข้อควรระวังในการกำจัดไรฝุ่น
การทำความสะอาดบ้านบ่อยครั้ง หรือทำมากเกินไปจะยิ่งทำให้อาการแพ้ฝุ่นของผู้ป่วยแย่ลงได้ เนื่องจากจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายเป็นจำนวนมาก จึงควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น และสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดเพื่อป้องกันการสัมผัสฝุ่นด้วย
2. แมลงสาบ
- แมลงสาบเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในอาคารบ้านเรือนทุกประเภท รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ
- บางคนจะมีอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อมีแมลงสาบอยู่ใกล้ๆ
- อนุภาคขนาดเล็กๆ จากแมลงสาบเป็นองค์ประกอบที่พบบ่อยในฝุ่นภายในบ้าน และอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอาการแพ้ฝุ่นได้
3. เชื้อรา (Mold)
- เชื้อราสามารถสร้างสปอร์ให้ลอยอยู่ในอากาศได้ เมื่อผู้ป่วยที่แพ้เชื้อราสูดดมสปอร์เหล่านี้เข้าไป จะทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้น
- เชื้อราที่เป็นสาเหตุนั้นมีจำนวนหลากหลายชนิด บางชนิดก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในขณะที่บางชนิดไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
- เชื้อรามีอยู่ทุกที่ โดยอยู่บนไม้แปรรูปต่างๆ ใบไม้ที่ร่วงกองอยู่บนพื้นดิน และในสถานที่ที่มีความชื้น เช่น ในห้องน้ำ หรือห้องครัว
4. เกสร/ละอองเกสร
- เกสรต่างๆ มาจากต้นไม้ หญ้า ดอกไม้ และวัชพืช
- เราสามารถแพ้เกสรดอกไม้ได้หลายชนิด บางคนอาจแพ้เฉพาะเกสรดอกไม้จากต้นไม้ชนิดหนึ่งเท่านั้น หรือบางคนอาจแพ้เฉพาะเกสรจากหญ้าบางชนิด
5. ขนสัตว์ เสื้อขนสัตว์
- สัตว์เลี้ยงสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้หลายช่องทาง เช่น สะเก็ดจากผิวหนัง รังแค น้ำลาย หรือปัสสาวะของสัตว์
- เมื่อสิ่งเหล่านี้สัมผัสรวมกับฝุ่นภายในบ้าน เช่น ในบ้านที่มีการเลี้ยงนก ขนนกและขี้นกอาจรวมตัวกันกลายเป็นฝุ่นภายในบ้าน และทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้นตามมา
การตรวจหาสาเหตุของการแพ้ฝุ่น
การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้อาจทำให้คุณสามารถหาสาเหตุของอาการแพ้ได้ โดยแพทย์จะมีขั้นตอนการคัดกรองภูมิแพ้ ดังนี้
- ซักประวัติ แพทย์สามารถประเมินคร่าวๆ ได้ว่า คุณมีโอกาสแพ้สิ่งใดได้บ้าง
- ทดลองเลี่ยงสารที่คาดว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้ แพทย์อาจให้คุณลองเลี่ยงสารที่คาดว่า เป็นสารก่อภูมิแพ้ในระยะเวลา 1-3 เดือน หากมีอาการดีขึ้นก็แสดงว่า คุณแพ้สารนั้นๆ
- ตรวจภูมิแพ้ เป็นวิธีที่สามารถบอกได้ว่า คุณแพ้สิ่งใดบ้าง และแพ้ในระดับใด โดยวิธีตรวจภูมิแพ้ที่นิยม มี 2 วิธี คือ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (Skin Prick Test: SPT) และการตรวจเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน (Food specific IgG)
โรคแพ้ฝุ่นหลีกเลี่ยงได้อย่างไร?
ในการจัดการป้องกันอาการแพ้ฝุ่นเบื้องต้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมภายในบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งนับเป็นวิธีที่ดีที่สุด
วิธีการต่อไปนี้เป็นวิธีง่ายๆ ในการลดการสัมผัสกับฝุ่นภายในบ้านที่สามารถปฏิบัติตามได้
- ควรเลือกใช้พื้นไม้แทนพื้นพรม โดยเฉพาะภายในห้องนอน
- ทำความสะอาดบ้านและห้องนอนเป็นประจำ โดยใช้เครื่องดูดฝุ่นสุญญากาศ หรือเครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง (HEPA Filter)
- หากมีอาการแพ้ขณะทำความสะอาดบ้าน แนะนำให้สวมหน้ากากกรองอากาศคุณภาพสูงที่เรียกว่า “หน้ากาก N95” และอาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงภายหลังการทำความสะอาด กว่าที่ฝุ่นในอากาศจะตกลงสู่พื้น
- เลือกใช้ที่นอน ผ้าปูที่นอน และหมอนกันไรฝุ่น รวมทั้งทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำด้วยน้ำร้อน
- ทำความสะอาดพื้นผิวภายในบ้านด้วยผ้าเปียก เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ฟุ้งขึ้นไปในอากาศ
- ไม่ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในห้องนอนของผู้ที่แพ้ฝุ่น หรือหากจะให้ดีควรเลี้ยงไว้นอกบ้าน
- เก็บอาหารที่ไม่แช่เย็นในภาชนะปิด และทิ้งเศษอาหารในถังขยะที่มีฝาปิดสนิท
- หากแมลงสาบเป็นปัญหาของอาการแพ้ ให้ใช้ที่ดักแมลงสาบ หรือใช้บริการจากบริษัทกำจัดแมลงภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ
- ใช้แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูงที่มีการจัดอันดับ MERV ระดับ 11 หรือ 12 ภายในเครื่องปรับอากาศที่อยู่ในบ้าน ควรเปิดเครื่องไว้เพื่อกรองอากาศภายในบ้าน และกำจัดฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ
- แนะนำให้เปลี่ยนแผ่นกรองอากาศนี้ทุก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือทุกครั้งก่อนการเปลี่ยนฤดูกาล เพื่อช่วยให้อากาศภายในบ้านสะอาดตลอดทั้งปี และอย่าลืมรับบริการตรวจเช็กเครื่องปรับอากาศจากศูนย์บริการทุกๆ 6 เดือน
- หาซื้อเครื่องวัดความชื้น (Hydrometer) มาวัดความชื้นภายในบ้านของคุณ และพยายามรักษาระดับความชื้นภายในบ้านให้ต่ำกว่า 55% เนื่องจากไรฝุ่นสามารถเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นมาก
มียารักษาโรคแพ้ฝุ่นหรือไม่?
หากคุณพยายามลดการสัมผัสฝุ่นภายในบ้านแล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้มากนัก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาแก้คัดจมูก ยาต้านฮีสตามีน หรือยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการคัดแน่นจมูก น้ำมูกไหล จาม และคัน
นอกจากนี้อาจใช้ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดพ่นจมูก ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการจมูกอักเสบ เนื่องจากออกฤทธิ์โดยป้องกันไม่ให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้
โดยแพทย์จะประเมิน และติดตามอาการ เพื่อหาว่า ยาใดที่ดีที่สุดสำหรับคุณ ควรใช้ยาวันละกี่ครั้ง และควรใช้ในปริมาณเท่าใด
ถึงแม้ว่าอาการแพ้ฝุ่นจะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การหมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ และใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่ออยู่ในที่ที่มีฝุ่นคลุ้งกระจาย จะช่วยลดความรุนแรงของอาการแพ้ที่เกิดขึ้นได้