การมีรอยยิ้มที่สดใสเป็นมิตร ย่อมสร้างความประทับใจต่อผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก หากยิ่งมีลักยิ้มก็อาจช่วยดึงดูดสายตาชวนมองมากยิ่งขึ้น แม้ลักยิ้มจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่หากคุณรู้สึกอยากมีลักยิ้ม ก็สามารถผ่าตัดทำลักยิ้มได้ไม่ยาก แต่แม้จะเป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน การทำลักยิ้มก็ถือเป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งซึ่งมีรายละเอียดและข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจมากมาย ทั้งลักษณะของลักยิ้ม การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ขั้นตอนการทำ และการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
สารบัญ
ทำลักยิ้มคืออะไร?
ลักยิ้ม (Dimple) เป็นรอยบุ๋มขนาดเล็กบริเวณแก้มหรือมุมปากเวลายิ้ม อมยิ้ม หรือหัวเราะ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาจมีข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
ซึ่งลักยิ้มนี้เกิดมาจากเส้นใยของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกมุมปากไปยึดเกาะกับผิวหนังบริเวณมุมปากตรงชั้นผิวหนัง จนทำให้เกิดรอยขีดหรือรอยบุ๋มของผิวหนัง โดยลักษณะทั่วไปของลักยิ้มมี 2 แบบ ได้แก่ ลักยิ้มแบบจุด เป็นลักยิ้มรอยบุ๋มลงไปตรงพวงแก้ม และลักยิ้มแบบขีด เป็นลักยิ้มแนวยาวในแนวดิ่งประมาณครึ่งเซ็นติเมตร
การทำลักยิ้ม (Dimple Surgery/ Dimpleplasty) เป็นการผ่าตัดสร้างลักยิ้มเลียนแบบธรรมชาติ โดยการผ่าตัดให้เกิดจุดยึดติดระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณแก้มด้านในช่องปาก และเย็บเนื้อเยื่อดังกล่าวให้ติดกันไว้ตลอดเวลาระยะหนึ่ง จนกระทั่งร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมายึดเนื้อเยื่อนั้นไว้ถาวร ซึ่งผู้ที่ผ่าตัดทำลักยิ้มสามารถเลือกได้ว่าจะทำแบบขีดหรือแบบจุด แต่ในปัจจุบันแบบขีดจะเป็นที่นิยมทำมากกว่า
ทำลักยิ้มมีกี่แบบ?
การผ่าตัดทำลักยิ้ม สามารถทำได้ทั้ง 2 แบบ ได้แก่
- ลักยิ้มแบบจุด เป็นลักษณะรอยบุ๋มลงไปตรงกลางแก้ม มีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทำ โดยสามารถทำได้หลายตำแหน่ง เช่น ใกล้มุมปาก อยู่เหนือหรือใต้ หรือระดับเดียวกัน หรือไกลออกไปด้านข้าง ซึ่งลักยิ้มแบบบุ๋มจะทำให้รอยยิ้มแลดูหวาน เป็นธรรมชาติ
- ลักยิ้มแบบขีด เป็นลักษณะลักยิ้มเป็นรอยขีดแนวยาวในแนวดิ่งประมาณครึ่งเซนติเมตร โดยตำแหน่งลักยิ้ม ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน สามารถทำข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ เมื่อทำเสร็จจะได้รอยยิ้มแบบขีดในแนวตั้ง ไม่ลึกและยาวมากเกินไป ทำให้ใบหน้าในเวลายิ้มแลดูเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว และเป็นธรรมชาติ
การเตรียมตัวก่อนทำลักยิ้ม
เมื่อตัดสินใจทำลักยิ้มจะต้องเข้าปรึกษาแพทย์ถึงตำแหน่งของลักยิ้ม ทำความเข้าใจผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ และแพทย์จะแนะนำวิธีเตรียมตัวก่อนถึงวันนัดผ่าตัดอีกครั้ง โดยการเตรียมตัวหลักๆ อาจมีดังต่อไปนี้
- รับการตรวจสุขภาพทั่วไป และตรวจภายในช่องปากหรือลำคอ
- แจ้งแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับประวัติแพ้ยา และโรคประจำตัว
- งดรับประทานยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้า งดวิตามิน งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- งดรับประทานสมุนไพรบางชนิด เช่น อีฟนิ่งพริมโรส วิตามินอี อย่างน้อย 3-5 วัน
- งดรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส กระเทียม หัวหอม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ก่อนการผ่าตัด เพราะมีผลทำให้เลือดออกมากผิดปกติ หรืออาจเกิดปัญหาระหว่างการผ่าตัดได้
- เตรียมลาหยุดงาน 1-2 วัน เพื่อพักฟื้นหลังผ่าตัด
- รับประทานอาหารให้เรียบร้อย พร้อมล้างหน้าและแปรงฟันให้สะอาดก่อนรับการผ่าตัด
ขั้นตอนการทำลักยิ้ม
ขั้นตอนการทำลักยิ้มในแต่ละสถานที่ให้บริการ อาจมีความแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับเทคนิคของผู้ให้บริการ และปัจจัยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลักๆ ที่อาจพบได้ มีดังต่อไปนี้
- แพทย์วางตำแหน่งและขนาดของลักยิ้มตามที่ผู้รับบริการต้องการ
- แพทย์ฉีดยาชาบริเวณที่จะผ่าตัด
- แพทย์เปิดแผลบริเวณเยื่อบุและกล้ามเนื้อในกระพุ้งแก้ม จากนั้นตัดกล้ามเนื้อบางส่วน แล้วเย็บบริเวณชั้นผิวหนังกับกล้ามเนื้อ เพื่อทำให้เกิดรอยบุ๋ม หรือรอยขีดในตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นเย็บปิดแผลบริเวณเยื่อบุกระพุ้งแก้มด้วยไหมละลาย 1-2 เข็ม โดยใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 30-40 นาที
- แพทย์ปิดแผลบริเวณผ่าตัดด้วยผ้าปิดแผล และแกะออกหลังการผ่าตัดประมาณ 3 วัน
- ผู้รับการผ่าตัดกลับบ้านได้โดยไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล แต่ต้องพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 2-5 วัน เพราะจะมีอาการบวมเล็กน้อย และจะค่อยๆ หายภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์
- แพทย์แนะนำวิธีดูแลรักษาตัวเองหลังผ่าตัดและนัดติดตามผลต่อไป
การดูแลตัวเองหลังทำลักยิ้ม
ภายหลังการผ่าตัดทำลักยิ้ม ในช่วง 1-5 วันแรก จะมีอาการบวมและรับประทานอาหารได้น้อย จึงอาจมีข้อจำกัดในการกินและการทำความสะอาด โดยแพทย์อาจแนะนำข้อควรปฏิบัติต่างๆ ดังต่อไปนี้โดย
- ประคบเย็นบ่อยๆ เพื่อลดอาการบวม ในช่วง 1-2 วันแรก
- ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม อาหารเหลวหรืออาหารที่ไม่ต้องเคี้ยวมาก และควรรับประทานของเย็นจะช่วยลดอาการบวมช้ำได้
- นอนยกศีรษะสูง ในช่วง 2 วันแรก
- งดแปรงฟันในช่วง 1-2 วันแรก จากนั้นหลีกเลี่ยงการแปรงฟันแรงๆ ซึ่งอาจกระทบกระเทือนแผล และควรเลือกยาสีฟันที่มีรสชาติอ่อน จนกว่าแผลจะหายสนิท
- งดรับประทานอาหารรสจัด อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบหรี่ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายสนิท
- งดนวดหน้า สปาหน้า ยิ้มหรือขยับแก้มบ่อยๆ หรือกิจกรรมที่กระทบกระเทือนแผล อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายสนิท เพราะอาจเกิดการอักเสบหรือแผลแยก
- ระวังอย่าให้น้ำเข้าแผล และควรใช้ผ้าหรือสำลีเช็ดทำความสะอาดหน้าแทนการล้างหน้า ในช่วง 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- ทายาขี้ผึ้งที่แพทย์จัดให้ตรงบริเวณรอยบุ๋มลักยิ้ม ในช่วง 1 สัปดาห์แรก และต่อเนื่องจนกว่าจะหาย
- หมั่นทำความสะอาดช่องปาก โดยบ้วนปากเช้า เย็น และหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ
- รับประทานยาที่แพทย์สั่งจนครบ และกลับมาพบแพทย์ตามนัดหมาย
- สามารถใช้พลาสเตอร์สีเนื้อปิดบริเวณตำแหน่งลักยิ้ม ในช่วง 1-3 เดือนแรก เนื่องจากช่วงเวลานี้จะเกิดลักยิ้มบุ๋มตลอดเวลาบนแก้มแม้จะไม่ได้ยิ้ม และจะเข้าที่เมื่อพังผืดคลายตัวทำให้มีรอยบุ๋มขึ้นเฉพาะเวลายิ้มเท่านั้น
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังทำลักยิ้ม
โดยส่วนมากผู้ที่ทำลักยิ้มมักมีเพียงผลข้างเคียงทั่วไป เช่น บวม หรือปวดบริเวณที่ทำลักยิ้ม ซึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติ แต่การทำลักยิ้มก็ถือเป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งที่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงไม่พึงประสงค์ได้ ดังนี้
- อาจมีเลือดออกและบวมเขียวช้ำมากบริเวณแก้ม เกิดจากการผ่าตัดโดนเส้นเลือดที่มีขนาดใหญ่ ในระหว่างการผ่าตัดอาจทำการห้ามเลือดได้ แต่ก็ยังมีลักษณะเขียวช้ำปรากฏให้เห็นเนื่องจากมีเลือดแทรกไปตามเนื้อเยื่อบริเวณแก้มแล้ว ซึ่งการบวมเขียวช้ำจะค่อยๆ หายไปในที่สุด
- อาจมีลักยิ้มเกิดขึ้นในการขยับปากลักษณะอื่น ที่ไม่ใช่ขณะยิ้ม เช่น เกิดรอยบุ๋มขึ้นในขณะที่จู๋ปาก เกิดจากผิวหนังยึดเข้ากับกล้ามเนื้อเวลาจู๋ปาก สามารถแก้ไขได้โดยการผ่าตัดเข้าไปแยกผิวหนังออกจากกล้ามเนื้อดังกล่าว แล้วทำลักยิ้มที่ตำแหน่งใหม่
- ลักยิ้มอาจหายไป เกิดจากผิวหนังไม่ได้ยึดติดกับกล้ามเนื้อด้านล่างถาวรอย่างที่ควรจะเป็น ในระยะแรกที่มีลักยิ้มเกิดขึ้นเป็นเพราะไหมที่เย็บใต้ผิวหนังให้ติดกับกล้ามเนื้อทำหน้าที่ยึดทั้ง 2 ส่วนเข้าหากัน แต่เมื่อไหมหลุดออกจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ลักยิ้มจะเลือนหายไปเหมือนไม่ได้ทำผ่าตัด ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการผ่าตัดใหม่อีกครั้ง
ทำลักยิ้มกี่วันหาย?
การทำลักยิ้ม เป็นการผ่าตัดเล็กบริเวณเยื่อบุและกล้ามเนื้อในกระพุ้งแก้ม และมีการเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย ซึ่งไหมจะละลายไปเอง และบาดแผลจะค่อยๆ หายไปในช่วง 1-2 สัปดาห์ รวมถึงการทายาขี้ผึ้งที่แพทย์จัดให้ตรงบริเวณรอยบุ๋มลักยิ้ม เช้าเย็นในช่วง 1 สัปดาห์ จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ส่วนอาการหลังจากผ่าตัดเสร็จจะมีอาการบวมในช่วง 1-5 วันแรก ผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล แต่จะต้องพักฟื้นต่อที่บ้าน เพื่อให้อาการค่อยๆ ลดลงโดยสามารถประคบเย็นเพื่อบรรเทาได้
อย่างไรก็ตามในช่วงแรกรอยบุ๋มลักยิ้มจะปรากฏบนใบหน้าตลอดทั้งเวลายิ้มและไม่ยิ้ม เป็นเวลาประมาณ 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับบุคคล แล้วจะค่อยๆ หายไป เหลือลักยิ้มบนแก้มเฉพาะเวลายิ้มเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาให้ลักยิ้มเข้าที่ประมาณ 3 เดือน
ทำลักยิ้มเจ็บไหม?
การผ่าตัดทำลักยิ้มถือเป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาไม่นาน และมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ในระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะฉีดยาชา เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บ หรือบางรายก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดก็สามารถรับประทานทานยาคลายความกังวลได้ด้วย หลังจากทำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยดูแลอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำแพทย์โดยเคร่งครัดเท่านั้น
ทำลักยิ้มอยู่ได้กี่ปี?
การผ่าตัดทำลักยิ้มจะให้ผลลัพธ์ถาวรได้ โดยแพทย์จะเย็บแผลด้วยไหมละลายประมาณ 1-2 เข็ม และเมื่อไหมละลายไปหมดภายในเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยไม่เกิดผลข้างเคียงจนต้องผ่าตัดใหม่ เช่น ลักยิ้มไม่หลุด หรือลักยิ้มไม่ผิดตำแหน่ง และได้ผลลัพธ์เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ทำแล้ว ลักยิ้มก็จะอยู่ติดตัวผู้ทำไปตลอดชีวิต
การมีรอยยิ้มที่ทรงเสน่ห์เป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่าการมีลักยิ้มบนพวงแก้มช่วยแต่งแต้มให้รอยยิ้มมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเพิ่มให้รอยยิ้มให้ดูสะดุดตา สดใส ชวนมองยิ่งขึ้น