ระบบย่อยอาหาร รู้จักกับกระบวนการสำคัญของร่างกาย

ระบบย่อยอาหาร (Digestive system) มีความสำคัญต่อร่างกายมาก เพราะนอกจากจะช่วยย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าไปซ่อมแซมส่วนต่างๆ ในร่างกายแล้ว ยังช่วยให้ระบบการทำงานต่างๆ เป็นไปได้ปกติ หากอยากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ผิวพรรณสดใส รูปร่างกระชับสมส่วน ควรให้ความสำคัญการดูแลระบบย่อยอาหารของมนุษย์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบย่อยอาหาร คืออะไร

การย่อยอาหาร (Digestion) คือการเปลี่ยนสภาพอาหารที่รับประทานเข้าไปจากขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นสารอาหารขนาดเล็กที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้

อวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารจะมีหลายส่วน ได้แก่ ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และ ลำไส้ใหญ่ อวัยวะช่วยย่อยในสิ่งมีชีวิต มีความสําคัญต่อระบบย่อยอาหารเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่ได้มีหน้าที่ย่อยอาหารโดยตรง แต่ทำหน้าที่ช่วยย่อยในทางอ้อม ได้แก่ ตับ ตับอ่อน และต่อมน้ำลาย ซึ่งอวัยวะเหล่านี้จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เรียกว่า “ระบบย่อยอาหาร”

5 อวัยวะหลักที่ทำงาน ในระบบย่อยอาหารของมนุษย์

หลังจากรับประทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะมีขั้นตอนการย่อยอาหารเกิดขึ้นที่อวัยวะต่างๆ ตามลำดับ กระบวนการย่อยอาหาร 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. ปาก

ขั้นตอนแรกหลังจากที่รับประทานอาหารเข้าไป เราจะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารในปากให้มีขนาดเล็กลงร่วมกับเอนไซม์เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ที่อยู่ในน้ำลาย เพื่อย่อยอาหารประเภทแป้งให้กลายเป็นคาร์โบไฮเดรตสายสั้นๆ และน้ำตาลโมเลกุลคู่

การที่เราใช้ฟันและลิ้น บดเคี้ยว คลุกเคล้าอาหารให้เข้ากันกับเอนไซม์มากขึ้น จะยิ่งทำให้อาหารถูกย่อยได้ดีขึ้น ซึ่งอาหารที่ถูกกลืนเข้าไปจะเตรียมพร้อมกับการถูกย่อยในขั้นตอนต่อไป

2. หลอดอาหาร

หลอดอาหารไม่มีการย่อยมากนัก แต่เมื่อมีอาหารเคลื่อนผ่านหลอดอาหารจะบีบรัดตัวเป็นช่วงๆ ทำให้อาหารมีขนาดเล็กลง และคลุกเคล้าเข้ากับเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายได้ดีขึ้น จึงนับเป็นอวัยวะที่มีการย่อยอาหารต่อเนื่องมาจากปากเพื่อส่งอาหารลงกระเพาะ

3. กระเพาะอาหาร

เมื่ออาหารเคลื่อนมาถึงกระเพาะ สารอาหารประเภทโปรตีนจะถูกย่อยโดยเอนไซม์เพปซิน (Pepsin) เป็นเอนไซม์ที่ทำงานได้เฉพาะในสภาวะเป็นกรด ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารต้องมีการหลั่งกรดออกมาด้วย

ระหว่างย่อยกระเพาะอาหารจะเกิดการหดและคลายตัว ทำให้อาหารถูกคลุกเคล้ากับเอนไซม์ได้ดี  โปรตีนที่ถูกย่อยในกระเพาะจะมีขนาดเล็กลงกลายเป็นสายสั้นๆ เรียกว่า เปปไทด์ (Peptide) ซึ่งยังไม่สามารถดูดซึมได้ ต้องผ่านการย่อยขั้นต่อไปในลำไส้เล็กก่อน

ในกระเพาะอาหารเอง ก็สามารถดูดซึมสารบางชนิดในอาหาร เช่น น้ำ แร่ธาตุ และแอลกอฮอล์

4. ลำไส้เล็ก

ทำหน้าที่ย่อยอาหาร สารอาหารแทบทุกชนิดจะถูกย่อยและดูดซึมที่นี่ ได้แก่

  • น้ำตาลโมเลกุลคู่ ที่ได้จากการย่อยแป้ง จะถูกย่อยต่อด้วยเอนไซม์มอลเทส (Maltase) ซูเครส (Sucrase)  แลกเทส (Lactase) กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ กลูโคส (Glucose) ฟรักโทส (Fructose) กาแลกโทส (Galactose) และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
  • โปรตีนและเปปไทด์ จะถูกย่อยต่อด้วย เอนไซม์ทริปซิน (Trypsin) เอนไซม์คาร์บอกซิเพปทิเดส (Carboxypeptidase) ซึ่งสร้างจากตับอ่อน ได้เป็นกรดอะมิโนที่มีขนาดเล็ก สามารถดูดซึมได้
  • ไขมัน จะถูกน้ำดีซึ่งสร้างจากตับ ย่อยให้แตกตัวเป็นเม็ดไขมันเล็กๆ จากนั้นจะถูกย่อยต่อด้วยเอนไซม์ลิเพส (Lipase) ซึ่งสร้างจากตับอ่อน ได้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล (Glycerol)

จากนั้นสารอาหารที่ได้จะถูกดูดซึมผ่านลำไส้เล็ก เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนกากใยอาหารก็จะเคลื่อนไปยังลำไส้ใหญ่เพื่อรอกำจัดต่อไป

5. ลำไส้ใหญ่

ที่ลำไส้ใหญ่จะไม่มีการย่อย อาหารส่วนที่เหลือจากลำไส้เล็ก จะถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่ โดยน้ำและของเหลวจากอาหารที่เหลือ จะถูกดูดซึมให้เหลือแต่กาก กลายเป็นอุจจาระ ผนังกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่ลำเลียงอุจจาระไปยังลำไส้ตรงเพื่อขับถ่าย

ความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร

ระบบย่อยอาหารของมนุษย์มีอวัยวะหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ความผิดปกติของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนด้วย จุดที่ต้องสังเกตมีดังนี้

  • ความผิดปกติในช่องปาก เช่น ปวดฟัน แผลในปาก เหงือกอักเสบ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวลดลง เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ทำให้อาหารย่อยลำบาก กระเพาะและลำไส้ต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดอาการปวดท้องแน่นท้องได้
  • ความผิดปกติของกระเพาะอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ จากการที่กรดในกระเพาะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร สาเหตุมักเกิดจากรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดกรดมาก รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
    ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย จุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และปวดแสบท้องรุนแรงจากการอักเสบของกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม การเกิดแผลในกระเพาะเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ เมื่อเกิดอาการจึงควรรีบรักษา
  • ความผิดปกติของลำไส้เล็ก ลำไส้เล็กเป็นอวัยวะที่ย่อยอาหารหลายชนิด และมีหน้าที่หลักในการดูดซึมสารอาหาร ดังนั้น ความผิดปกติของลำไส้เล็กจะส่งผลต่อร่างกายค่อนข้างมาก
    เช่น ภาวะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรคในอาหาร จะทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง จุกเสียด แน่นท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องร่วง  หากเกิดขึ้นเรื้อรังจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร น้ำหนักลดลง เนื่องจากดูดซึมสารอาหารไม่ได้
  • ความผิดปกติของตับและตับอ่อน เช่น โรคตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มีพยาธิใบไม้ในตับ นอกจากจะมีอาการที่เด่นชัดอย่างดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลืองแล้ว

อาจพบว่าระบบย่อยอาหารเกิดความแปรปรวนได้ด้วย เช่น มีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย รู้สึกคลื่นไส้วิงเวียน โดยเฉพาะเมื่อทานอาหารไขมันสูงเข้าไป เป็นต้น

วิธีการดูแลระบบย่อยอาหาร

เพื่อให้ระบบย่อยอาหารของเราทำงานได้เป็นปกติ ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรรับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก หรือรวดเร็วเกินไป และหลีกเลี่ยงการทานบุฟเฟต์ที่จำกัดเวลาบ่อยๆ เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักเกินไปได้
  • ทานอาหารที่ไม่ระคายเคืองระบบย่อย อาหารที่มีรสจัดจะกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมาก ซึ่งเป็นที่มาของอาการปวดแสบท้อง อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบได้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ ก็ทำให้ระบบย่อยต้องทำงานหนักกว่าปกติเช่นกัน
  • ทานอาหารและน้ำที่สะอาด การทานอาหารปนเปื้อนเชื้อโรค นอกจากจะทำให้ท้องร่วงท้องเสียแล้ว ยังส่งผลให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ การย่อยและการดูดซึมอาหารมีปัญหา ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

แพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง

Scroll to Top