รู้หรือไม่ อาการป่วยคล้ายๆ กัน อาจมีสาเหตุมาจากโรคที่แตกต่างกัน หากเราสามารถแยกโรคเบื้องต้นได้ย่อมรักษาได้เร็วกว่า และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ดีกว่า
มาดูกันว่า 3 โรคฮิตที่คนส่วนใหญ่มักแยกอาการไม่ค่อยออกอย่างไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร หากป่วยขึ้นมาจะแยกโรคเหล่านี้ได้
สารบัญ
โรคไข้หวัดธรรมดา (Common cold)
สาเหตุของโรคเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น ไรโนไวรัส (Rhinovirus) ประมาณ 50% โคโรน่าไวรัส (Coronavirus) ประมาณ 10-15% และไวรัสอื่นๆ
โดยทั่วไปโรคไข้หวัดธรรมดาจะก่อให้เกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก มีน้ำมูกไหล จาม อาจมีไข้ต่ำๆ บางรายอาจมีอาการเจ็บคอและไอร่วมด้วยแต่ไม่รุนแรงนัก อาการเหล่านี้จะรบกวนชีวิตประจำวันเป็นระยะ และค่อยๆ หายไปเอง
การรักษาทำได้โดยการดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้อาจรับประทานยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ เพื่อบรรเทาอาการได้ด้วย
โรคไข้หวัดใหญ่ (Flu)
โรคไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza virus) โดยอาการที่รุนแรงมักเกิดจากสายพันธุ์ Influenza A และ B เป็นหลัก
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะเกิดขึ้นรวดเร็ว ฉับพลัน และค่อนข้างรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา
ลักษณะเด่นคือ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง (บางรายอาจจะไม่มีไข้ก็ได้) อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บคอ คออักเสบ ไอ จาม อาจคัดจมูกและมีน้ำมูกได้บ้าง บางรายอาจคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วงร่วมด้วย
การรักษาจำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัสร่วมกับยาที่ใช้รักษาตามอาการที่มี เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล รวมถึงเช็ดตัวเพื่อลดไข้
ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจอ่อนเพลียและหมดแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติจึงจำเป็นต้องดูแลตัวเอง โดยการนอนพักผ่อน และดื่มน้ำสะอาดมากๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้
โรคไข้เลือดออก (Dengue fever)
สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (Dengue) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อ
อาการของไข้เลือดออกในระยะแรกจะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ตัวร้อน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอ่อนเพลีย บางรายอาจคลื่นไส้อาเจียนด้วย
แต่ไข้เลือดออกจะมีลักษณะที่โดดเด่นคือ มีจุดเลือดหรือจ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนัง เกิดจากมีเกล็ดเลือดต่ำและอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การมีเลือดออกตามเยื่อบุอวัยวะ ทำให้ความดันโลหิตต่ำและช็อกได้
หลายคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกในระยะแรก อาจสับสนว่าเป็นอาการของไข้หวัดใหญ่ จึงเลือกรับประทานยาแอสไพริน หรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดไข้ และลดอาการอักเสบ ซึ่งเป็นทางเลือกที่อันตรายมาก เพราะยาดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดอาการเลือดออกรุนแรงขึ้น
การรักษาไข้เลือดออกในขั้นแรกคือ การให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol หรือ Acetaminophen) เพื่อระงับอาการ รวมถึงอาจต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปด้วย
สรุปความแตกต่างของไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก
ไข้หวัดธรรมดา | ไข้หวัดใหญ่ | ไข้เลือดออก |
สาเหตุของโรคมาจากไวรัสหลายชนิด สามารถติดต่อได้ผ่านการรับเชื้อทางการหายใจและการกิน โดยติดต่อได้จากสิ่งแวดล้อมและคนที่เป็นโรค | สาเหตุของโรคมักมาจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา สามารถติดต่อได้ผ่านการรับเชื้อทางการหายใจและการกิน โดยติดต่อได้จากสิ่งแวดล้อม คน และสัตว์ | สาเหตุของโรคเกิดจาก Dengue virus ติดต่อกันโดยมียุงลายเป็นพาหะ |
|
|
|
ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และสามารถรักษาได้ด้วยการพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ หรืออาจป้องกันได้โดยดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง | อาจมีอาการแทรกซ้อนได้ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน หรือภาวะร่างกายขาดน้ำ
สามารถรักษาโดยการกินลดไข้ แก้หวัด พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ ไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้บางชนิด แต่ต้องฉีดปีละครั้ง |
อาจมีอาการแทรกซ้อนได้จากการมีเลือดออกมากในร่างกาย ความดันโลหิตต่ำ ช็อกหมดสติ ดูแลรักษาโดยกินยาลดไข้และยาระงับอาการ
ไข้เลือดออกมีวัคซีนป้องกันได้ประมาณ 65% โดยต้องฉีด 3 เข็ม และระวังไม่ให้ยุงกัด |
ทั้ง 3 โรคนี้ หากรักษาอย่างถูกวิธีย่อมลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้เลือดออก เมื่อร่างกายป่วยเป็นโรคไข้หวัดให้สังเกตุอาการเบื้องต้น หากสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที