การกินของอร่อยมันดีต่อใจก็จริง แต่ถ้ากินมากเกินไปก็อาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงในภายหลังได้ โดยเฉพาะโรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญ
นอกจากนี้โรคเบาหวานยังสร้างผลกระทบต่อหลายระบบของร่างกาย ไม่ใช่แค่ปัญหาน้ำตาลในเลือดที่ต่ำหรือสูงเกินอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่โรคนี้สามารถลุกลามรุนแรงจนถึงขั้นทำให้หลายคนสูญเสียอวัยวะสำคัญไปจากร่างกายได้ เช่น แขน ขา หรือเท้า
สารบัญ
โรคเบาหวานคืออะไร?
โรคเบาหวาน (Diabetes) หมายถึงโรคที่มีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุล และส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการทางกายภาพหรือโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง
โดยปกติร่างกายของเราจะมีอวัยวะตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ที่คอยทำหน้าที่นำส่งน้ำตาลที่เรากินเข้าไปแปลงเป็นพลังงานให้กับร่างกายและนำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ
แต่เมื่อใดก็ตามที่ฮอร์โมนอินซูลินทำงานบกพร่อง หรืออวัยวะในร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินน้อยเกินไป ก็จะเกิดปริมาณน้ำตาลคงเหลืออยู่ในกระแสเลือดมากเกินจำเป็น และนำไปสู่การเกิดอาการผิดปกติต่างๆ แสดงออกมา
อาการของโรคเบาหวาน
อาการแสดงของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สังเกตเห็นได้ชัด ได้แก่
- อ่อนเพลียง่าย
- หิวบ่อย
- กระหายน้ำบ่อย
- แม้มีพฤติกรรมกินจุ แต่น้ำหนักกลับลดลง
- การมองเห็นพร่าเบลอ
- มักชาตามปลายมือและเท้า
- เมื่อเกิดบาดแผลตามร่างกาย แผลจะหายช้ากว่าคนทั่วไป
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืน
โรคเบาหวานมีกี่ชนิด?
โรคเบาหวานสามารถจำแนกได้ 3 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแตกต่างกัน ได้แก่
1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) มีสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติของร่างกายมากกว่ามาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
โดยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ไปทำลายเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินซึ่งทำหน้าที่นำส่งน้ำตาลไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆ และเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และส่งผลให้ร่างกายมีน้ำตาลสะสมมาเกินจำเป็น
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายไปทำลายเซลล์ของตับอ่อนจนทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มีโอกาสที่จะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ หรือเชื้อไวรัสบางชนิด ที่ไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเกิดความปกติขึ้น
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ยังมีลักษณะอาการแสดงของโรคที่ค่อนข้างชัดและเร็วกว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็ก
2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) ถือเป็นโรคเบาหวานที่พบได้มากที่สุด โดยสามารถเกิดได้ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ได้แก่
- มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดที่เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน
- กินอาหารที่มีไขมัน แป้ง หรือน้ำตาลสูงเกินไป
- ไม่ออกกำลังกาย
- ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกาย
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือมีภาวะอ้วน
3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นชนิดของโรคเบาหวานที่ได้รับผลกระทบมาจากการตั้งครรภ์โดยเฉพาะ
เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงเมื่อเกิดการตั้งครรภ์จะมีการผลิตฮอร์โมน HPL (Human Placental Lactogen) ซึ่งต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินขึ้นมา ร่วมกับกลไกของร่างกายที่ต้องการกักเก็บน้ำตาลบางส่วนไว้เลี้ยงทารกในครรภ์ จึงส่งผลให้ร่างกายของหญิงมีครรภ์มีปริมาณน้ำตาลสะสมสูงกว่ากลุ่มคนทั่วไป และทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตามคุณแม่หลายคนสามารถหายจากโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หลังคลอดบุตรได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่ในอนาคต
โรคเบาหวานเกิดจากอะไรได้อีก?
นอกจากปัจจัยการตั้งครรภ์ การไม่ออกกำลังกาย ติดกินอาหารรสหวานหรือมีไขมันสูงเกินไป หรือพันธุกรรมของคนในครอบครัว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถส่งผลทำให้เกิดโรคเบาหวานได้อีก เช่น
- โรคคุชชิง (Cushing’s Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากเกินไป ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้หากมีปริมาณมากเกินจำเป็น ก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะอ้วน มีน้ำตาลในเลือดสูง มีก้อนไขมันสะสมในบางตำแหน่งของร่างกาย และทำให้เกิดโรคเบาหวานได้
- โรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) มากเกินไป ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดความบกพร่องและปกติหลายส่วน รวมถึงทำให้ปริมาณน้ำตาลที่สะสมในร่างกายสูงขึ้น จนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิด ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
- ยารักษาโรคบางชนิด ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินได้ เช่น ยาทางจิตเวช ยากลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) วิตามินบีสาม ยาเพนทามิดีน (Pentamidine)
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานสามารถส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ หากไม่ประคองอาการของโรคให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ เช่น
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหัวใจ
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคเส้นเลือดในสมองตีบ
- ภาวะเส้นเลือดอุดตันจนอวัยวะขาดเลือดไปเลี้ยง หรือเกิดการติดเชื้อจนต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง
- อัมพฤกษ์
- อัมพาต
- สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย
- โรคนอนไม่หลับ
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวล
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ภาวะเบาหวานขึ้นตา ส่งผลให้อาจตาบอดได้
- เป็นโรคต้อหิน หรือโรคต้อกระจก
- ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ทารกตัวโตกว่าปกติ
- คลอดบุตรก่อนกำหนด
- บาดแผลหายช้า
- อาการปวดแสบร้อนในช่วงกลางคืน
- อาการชาตามปลายมือและเท้า
โรคเบาหวานวินิจฉัยอย่างไร?
เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าตนเองมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรไปตรวจคัดกรองโรคเบาหวานกับแพทย์ทันที โดยการวินิจฉัยโรคเบาหวานนิยมใช้วิธี “ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด” เป็นหลัก จากนั้นแพทย์จะแจ้งผลระดับน้ำตาลที่เสี่ยงบ่งชี้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งวิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็จะแบ่งได้หลายวิธี เช่น
1. วิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting Plasma Glucode Test)
ผู้เข้ารับบริการจะต้องงดอาหารในช่วงเย็นก่อนวันตรวจเลือดประมาณ 8-12 ชั่วโมง โดยดื่มได้เพียงน้ำเปล่าเท่านั้น จากนั้นเดินทางไปเจาะเก็บตัวอย่างเลือดกับแพทย์ในตอนเช้า ในส่วนของผลตรวจจะมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ที่ประมาณ 70-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือเป็นเกณฑ์ปกติและไม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ที่ประมาณ 10-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ที่ประมาณ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำในวันถัดไปหรือสัปดาห์ถัดไปเพื่อยืนยันผลตรวจอีกครั้ง
2. วิธีตรวจระดับน้ำตาลที่สะสมในฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง (Hemoglobin A1c)
เป็นวิธีเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อดูค่าเฉลี่ยน้ำตาลที่สะสมอยู่ในกระแสเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อดูประสิทธิภาพในการคุมระดับน้ำตาลของร่างกาย โดยผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืองดอาหารก่อนตรวจ สำหรับเกณฑ์ผลตรวจเลือด มีดังต่อไปนี้
- ระดับน้ำตาลในฮีโมโกลบินน้อยกว่า 5.7% ถือเป็นเกณฑ์ปกติและไม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในฮีโมโกลบินอยู่ที่ประมาณ 5.7-6.4% ถือเป็นเกณฑ์ความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในฮีโมโกลบินอยู่ที่ประมาณ 6.5% ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
3. วิธีตรวจแบบ 2 ขั้นตอน (Two Step Screening)
เป็นวิธีตรวจคัดกรองโรคเบาหวานผ่านการกินหรือดื่มน้ำตาลกลูโคสเข้าร่างกาย จากนั้นเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอีกครั้ง นิยมใช้ตรวจในกลุ่มหญิงมีครรภ์ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สำหรับวิธีตรวจทั้ง 2 ขั้นตอนได้แก่
- วิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบกินน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม (Glucose Challenge Test: GCT) ผู้เข้ารับบริการต้องดื่มน้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคสหรือกินก้อนน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม โดยไม่ต้องอดอาหารก่อน แล้วแพทย์จะเจาะเก็บตัวอย่างเลือด หากผลตรวจพบระดับน้ำตาลกลูโคสมากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน แพทย์มักจะแนะนำให้รับการตรวจในข้อถัดไป
- วิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบกินน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT) ผู้เข้ารับบริการจะต้องอดอาหารก่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นแพทย์จะเจาะเก็บตัวอย่างเลือดก่อน 1 ครั้ง แล้วให้ผู้เข้ารับบริการดื่มน้ำหรือก้อนน้ำตาลที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม แล้วเจาะเก็บตัวอย่างเลือดอีกครั้งในชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 หลังดื่มน้ำหรือกินก้อนน้ำตาล สำหรับเกณฑ์ผลตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน ได้แก่
- ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนดื่มหรือกินน้ำตาลกลูโคส ควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 1 ชั่วโมงหลังดื่มหรือกินก้อนน้ำตาล ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 2 ชั่วโมงหลังดื่มหรือกินก้อนน้ำตาล ควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 3 ชั่วโมงหลังดื่มหรือกินก้อนน้ำตาล ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
เป็นโรคเบาหวานควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
ก่อนอื่นผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องเข้าใจก่อนว่า “โรคเบาหวานเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้” แต่สามารถประคองให้อาการของโรคอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ผ่านการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น
- ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด งดกินจุกจิก โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล แป้ง และไขมันสูง แต่ยังต้องกินอาหารในครบ 5 หมู่อย่างครบถ้วนและเพียงพอต่อร่างกาย และควรหมั่นกะปริมาณกับสัดส่วนของอาหารที่กินแต่ละมื้ออย่างเหมาะสม เช่น ปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน
- หมั่นออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายได้มีการเผาผลาญไขมันและนำน้ำตาลที่สะสมในร่างกายออกมาใช้ แต่ทั้งนี้ให้สอบถามแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วย เนื่องจากการออกกำลังกายที่หนักเกินไป อาจไปเสริมให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดสูงเกินไปได้
- งดการสูบบุหรี่
- งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบริโภคแต่น้อยที่สุดตามคำแนะนำของแพทย์
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เสมอ และหากมีปัญหาความดันโลหิต ต้องกินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลกับร่างกาย หรือหากพบว่ามีแผลที่ส่วนใดแม้เพียงขนาดเล็ก ให้รีบรักษา และหากพบว่าแผลยังไม่สมานตัวอย่างที่ควรจะเป็น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ระวังสุขภาพของเท้าให้ดี เช่น ใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ใส่สบาย อย่าให้เล็บไปบาดเท้าจนเกิดแผล ดูแลความสะอาดของเท้าให้ดี เนื่องจากเท้าเป็นตำแหน่งที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีปัญหาเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมและเลือดไปเลี้ยงได้ไม่เพียงพอเนื่องจากหลอดเลือดแดงแข็ง จึงมักทำให้เท้ามีแผลได้ง่าย หรือมักมีอาการเท้าเย็น เป็นตะคริว ปวดเท้าง่ายเวลาก้าวเดิน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ เช่น วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- กินยาหรือฉีดยาคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำทุกปี หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
โรคเบาหวานป้องกันอย่างไร?
จากข้อมูลข้างต้น โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดได้จากหลายปัจจัยมาก บางปัจจัยก็ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยจากโรคประจำตัวอื่นๆ การตั้งครรภ์ หรือยาประจำตัวที่แพทย์สั่งจ่าย
แต่ในส่วนของปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ในส่วนนี้สามารถป้องกันได้ ผ่านการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ประมาณ 3-5 วันต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสหวาน มีน้ำตาลหรือไขมันสูงเป็นประจำ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากพบว่าน้ำหนักเกินเกณฑ์ ให้พยายามลดน้ำหนักให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- พักผ่อนให้เพียงพอในทุกคืน เนื่องจากร่างกายที่อ่อนล้าสามารถมีผลกระทบต่อการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลในร่างกายได้
- หมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ
- ในกรณีตั้งครรภ์ ควรรักษาสุขภาพขณะตั้งครรภ์อย่างระมัดระวัง และหมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์พร้อมรับคำแนะนำในการรักษาสุขภาพอยู่เสมอ เพื่อป้องกันโอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอดบุตร
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้คุณภาพชีวิตของใครหลายคนแย่ลงได้ ทางที่ดีเพื่อป้องกันตั้งแต่ก่อนจะสาย เราควรระมัดระวังเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของตนเองให้ดี
การกินอาหารรสหวานไม่ใช่เรื่องผิด แถมยังสามารถคลายเครียดได้ดีอีกด้วย แต่ต้องรับในปริมาณที่พอดีและไม่มากเกินไป เพื่อให้ร่างกายสามารถระบายนำน้ำตาลที่สะสมอยู่ไปใช้ต่อได้จนหมดและไม่เหลือสะสมคงไว้มากจนกเกินไป
หรือหากคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจากพันธุกรรม โรคประจำตัว หรือยาบางชนิด ก็ควรเดินทางไปตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์อยู่เสมอ เพื่อจะได้วางแผนดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานให้ได้มากที่สุด
แพ็กเกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน
ที่มาของข้อมูล
- National Institute Of Diabetes And Digestive And Kidney Diseases, Preventing Type 2 Diabetes (https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-type-2-diabetes)
- NHS, Symptoms and getting diagnosed (https://www.nhs.uk/conditions/type-1-diabetes/about-type-1-diabetes/symptoms-and-getting-diagnosed/)
- Rama Channel, การรักษาโรคเบาหวาน ค้นหาสาเหตุและวิธีแก้ไขได้ที่นี่ (https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/diabetes-treatment-guidelines/)
- Rama Channel, เบาหวาน ไม่หายขาดแต่คุมได้ (https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/เบาหวาน-ไม่หายขาดแต่คุม/)
- กรมกิจการผู้สูงอายุ, วิธีรักษาโรคเบาหวานให้หายขาด (https://www.dop.go.th/th/know/15/658)
- นพ.ธรรมพจน์ จีรากรภาสวัฒน์ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.พญ.สุพัตรา ศิริโชติยะกุล, โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus) (https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/4456/)
- โรงพยาบาลพญาไท, โรคแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน (https://www.phyathai.com/article_detail/3572/th/โรคแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน)
- โรงพยาบาลพญาไท, รู้มั้ย? ค่า HbA1c ในผลตรวจสุขภาพ…สำคัญอย่างไร (https://www.phyathai.com/article_detail/1716/th/view)