เดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) ใช้ในการรักษาโรคหลายชนิดประกอบด้วย โรครูมาติก อาการที่เกี่ยวข้องกับผิวหนังหลายชนิด อาการแพ้รุนแรงโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไอกรน ภาวะสมองบวม และใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะในการรักษาวัณโรค ในผู้ป่วยต่อมหมวกไตบกพร่อง ให้มีการใช้ยาเดกซาเมธาโซนร่วมกับยาอื่นที่มีฤทธิ์ mineralocorticoid เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) ประสิทธิผลของยาเดกซาเมธาโซนมักเห็นผลภายในหนึ่งวัน และมีฤทธิ์ยาวนานประมาณสามวัน การใช้ยาเดกซาเมธาโซนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลต่อการลดลงของมวลกระดูก เกิดต้อกระจก และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
สารบัญ
- สรรพคุณของยา Dexamethasone
- กลไกการออกฤทธิ์ของยา Dexamethasone
- ข้อบ่งใช้ของยา Dexamethasone
- ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Dexamethasone
- ข้อควรระวังของการใช้ยา Dexamethasone
- ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Dexamethasone
- ข้อมูลการใช้ยา Dexamethasone ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
- ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
- สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
สรรพคุณของยา Dexamethasone
- โรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด ผื่นแพ้ทางผิวหนัง อาการแพ้รุนแรง
- โรคอักเสบ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ กล้ามเนื้ออักเสบ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เช่น โรคโครห์น หรืออาการลำไส้ใหญ่อักเสบ
- โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง โรคเอสแอลอี
- โรคทางระบบประสาท เช่น สมองบวม การอักเสบของเส้นประสาทตา
- การรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง ช่วย ลดอาการอักเสบที่เกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็ง หรือ ใช้ร่วมกับเคมีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้
- โรคทางระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคแอดดิสัน หรือภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนคอร์ติโซล
- การรักษาภาวะฉุกเฉิน เช่น ภาวะช็อกจากการแพ้ยา และการลดอาการบวมของสมองหรือระบบทางเดินหายใจ
- การรักษาโรค COVID-19 (ในบางกรณีที่รุนแรง) เพื่อลดการอักเสบในปอดและช่วยการหายใจ
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Dexamethasone
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือ เดกซาเมธาโซน เป็นยากลุ่มกลูโคคอติคอยด์ ชนิดสังเคราะห์ (synthetic glucocorticoid) ใช้สำหรับยับยั้งการอักเสบ (anti-inflammatory) และผลในด้านการกดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ฤทธิ์ในการยับยั้งการอักเสบ เนื่องมาจากการกดการคืบผ่านของเม็ดเลือดขาวในกลุ่มที่มีนิวเคลียสหลายรูปร่าง (polymorphonuclear leukocyte) และกลับคืนสภาพคุณสมบัติการเลือกผ่านของเส้นเลือดฝอยที่เพิ่มขึ้นหลังเกิดการอักเสบ เดกซาเมธาโซนใช้สำหรับกดการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันทั่วไป
ข้อบ่งใช้ของยา Dexamethasone
ข้อบ่งใช้สำหรับโรคข้ออักเสบ
ยาสำหรับฉีดเข้าข้อ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 0.8 ถึง 4 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดข้อ อาจฉีดยาซ้ำทุกสามถึงห้าวัน ไปจนถึงทุกๆสองถึงสามสัปดาห์
ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเคมีบำบัด
ยาในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดสำหรับป้องกัน ขนาด 10 ถึง 20 มิลลิกรัม ให้ยา 15 ถึง 30 นาทีก่อนการทำเคมีบำบัด
ข้อบ่งใช้สำหรับอาการช็อกที่ไม่มีการตอบสนอง
ยาในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ในรูปของฟอสเฟต ขนาดยาเริ่มต้น 40 มิลลิกรัม หรือ 1 ถึง 6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำครั้งเดียว อาจให้ยาซ้ำทุก 2 ถึง 6 ชั่วโมง ไม่ให้ยาต่อเนื่องเกินกว่า 48 ถึง 72 ชั่วโมง
ข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมอง
ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 0.15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันละสี่ครั้ง ให้ยา 10 ถึง 20 นาทีก่อนหรือร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะครั้งแรกของการรักษา ควรให้ยานี้ในช่วง 2 ถึง 4 วันแรกของการใช้ยาปฏิชีวนะ
ข้อบ่งใช้สำหรับการอักเสบของดวงตา
ยาในรูปแบบยาหยอดตา ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูปแบบยาแขวนตะกอนความเข้มข้น 0.1% หยด 1 ถึง 2 หยดในดวงตาข้างที่เป็น สี่ถึงหกครั้งต่อวัน ในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคปานกลาง สามารถให้ยาเป็นทุกชั่วโมงในกรณีที่มีระดับความรุนแรงของโรคสูง ยาในรูปแบบขี้ผึ้งความเข้มข้น 0.05% ป้ายยา 0.5 ถึง 1 นิ้ว ที่บริเวณถุงใต้ตา วันละสี่ครั้ง หากอาการดีขึ้นสามารถลดลงได้เหลือวันละหนึ่งครั้ง
ข้อบ่งใช้สำหรับต้านการอักเสบ
ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 0.75 ถึง 9 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้ยาสองถึงสี่ครั้ง อาจให้ยาในรูปแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 1 เดือนถึง 18 ปีขนาด 10 ถึง 100 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อวันโดยแบ่งให้หนึ่งถึงสองครั้ง สามารถปรับขนาดยาได้ตามการตอบสนอง และสามารถให้ขนาดยาได้ถึง 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ในกรณีฉุกเฉิน
ข้อบ่งใช้สำหรับอาการกำเริบเฉียบพลันของ multiple sclerosis
ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 30 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ตามด้วยขนาด 4 ถึง 12 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลาหนึ่งเดือน ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 1 เดือนถึง 12 ปี ขนาด 100 ถึง 400 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน แบ่งให้ยาหนึ่งถึงสองครั้ง เด็กอายุ 12 ถึง 18 ปี ขนาดยาเริ่มต้น 0.5 ถึง 24 มิลลิกรัมต่อวัน ขนาดยาสูงสุด 24 มิลลิกรัมต่อวัน
ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Dexamethasone
หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด
ข้อควรระวังของการใช้ยา Dexamethasone
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาเดกซาเมธาโซน
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อและยังไม่ได้รับการรักษา
- ห้ามใช้ยานี้ในรูปแบบยาหยอดตาในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อราที่ดวงตา
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยฮอร์โมนไธรอยด์ต่ำ
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล แผลในกระเพาะอาหาร
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคต้อกระจก โรคต้อหิน หรือติดเชื้อวัณโรคที่ดวงตา
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ให้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดและการแข็งตัวของเลือดระหว่างการใช้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Dexamethasone
ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตกระดูกพรุนแผลในกระเพาะอาหารต้อหินต้อกระจกเกิดกลุ่มอาการคุชชิ่งตับอ่อนทำงานผิดปกติตับอ่อนอักเสบกระตุ้นระบบทางเดินอาหารเพิ่มความอยากอาหารผิวหนังบางลงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเมื่อใช้ยาในรูปแบบที่ต้องสัมผัสกับดวงตาอาจก่อให้เกิดอาการเกิดแผลที่กระจกตาต้อหินลดความสามารถในการมองเห็นเมื่อต้องใช้ยาในรูปแบบสูดนอาจก่อให้เกิดอาการติดเชื้อแคนดีด้าในปากและลำคอ ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ กดการทำงานของไฮโปทาลามัส ต่อมพิทูอิทารี และต่อมหมวกไต ซึ่งอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
ข้อมูลการใช้ยา Dexamethasone ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category C คือ ควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ สำหรับสตรีให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยา และอยู่ใน category D ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คือ ไม่แนะในการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ เว้นแต่ในกรณีช่วยชีวิตหรือรักษาอาการรุนแรงที่ยาที่ปลอดภัยกว่ารักษาไม่ได้ผล
ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
- ยาใช้ภายนอก ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
- ยาสำหรับรับประทานและยาฉีดจัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยา โดยมีการจัดทำบัญชียาควบคุมพิเศษแต่ละอย่างทุกครั้ง
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
แพทย์และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา
- แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่
- แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์) อาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง
- แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง