การสูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติไปนั้น อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้สูญเสียฟันได้ เพราะไม่ว่าจะยิ้ม จะพูด หรือกินอาหาร ก็อาจกังวลว่าซี่ฟันที่โหว่หายไปจะเป็นจุดสนใจของคนอื่น
แน่นอนว่าปัจจุบันมีทางเลือกหลายทางในการทดแทนฟันที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นฟันปลอมแบบถอดได้ หรือฟันปลอมแบบติดแน่นอย่างสะพานฟัน
แต่ผู้ที่สวมฟันปลอมเองก็อาจรู้สึกไม่เป็นหนึ่งเดียวกับฟันซี่ดังกล่าว รวมถึงฟันปลอมแบบถอดได้ก็มีโอกาสขยับออกจากตำแหน่งเวลาเคี้ยวอาหาร ทำให้กังวลอยู่บ่อยครัง
การทำรากฟันเทียม จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการทดแทนที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติที่สุด เพราะหลังจากรักษาสำเร็จแล้วก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผู้รับบริการไปเลย
ข้อมูลต่อไปนี้จะพูดถึงภาพรวมในหลายๆ ด้านที่ควรทราบก่อนการตัดสินใจทำรากฟันเทียม รวมถึงช่วยให้ผู้อ่านปรึกษากับทันตแพทย์ได้อย่างเข้าใจยิ่งขึ้นด้วย
สารบัญ
- รากฟันเทียม คืออะไร?
- ใครควรใส่รากฟันเทียม?
- ใครไม่ควรใส่รากฟันเทียม?
- รากฟันเทียมมีกี่รูปแบบ?
- การเตรียมตัวก่อนทำรากฟันเทียม
- ขั้นตอนการทำรากฟันเทียม
- อาการหลังใส่รากฟันเทียม
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่รากฟันเทียม
- การดูแลตัวเองหลังใส่รากฟันเทียม
- ข้อดีของการทำรากฟันเทียม
- ข้อเสียของการทำรากฟันเทียม
- ทำรากฟันเทียมยี่ห้อไหนดี?
- ทำรากฟันเทียมเจ็บไหม?
- ทำรากฟันเทียมอันตรายไหม?
- ใส่รากฟันเทียมแล้วจัดฟันได้ไหม?
- การดูแลรักษารากฟันเทียม?
รากฟันเทียม คืออะไร?
รากฟันเทียม (Dental Implants) คือวัสดุที่ใช้ทดแทนรากฟันที่หลุดออกไป มีลักษณะคล้ายกับน็อตหรือสกรู ฝังลงไปในกระดูกขากรรไกรจุดที่สูญเสียรากฟัน จากนั้นก็จะติดฟันปลอมไว้ด้านบนเพื่อทดแทนซี่ฟันที่หายไป
รากฟันเทียมส่วนใหญ่ทำจากไทเทเนียมซึ่งเป็นวัสดุที่เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้ดีที่สุด ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับฟันปลอมด้านบนไม่ว่าจะเป็นครอบฟันหรือสะพานฟัน โดยจะสามารถรองรับแรงบดเคี้ยวได้เช่นเดียวกับฟันแท้ตามธรรมชาติ
ใครควรใส่รากฟันเทียม?
ผู้ที่สูญเสียฟันแท้ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของขากรรไกร แต่มีสุขภาพดีเพียงพอสำหรับรับการผ่าตัดในช่องปาก ถอนฟัน และสะดวกในการมาพบทันตแพทย์ตลอดระยะเวลารักษา
หลังทำรากเทียมแล้วสามารถเลือกใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ หรือฟันปลอมแบบติดแน่น เช่น ครอบฟัน หรือทำสะพานฟันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคลร่วมกับการประเมินของทันตแพทย์
ใครไม่ควรใส่รากฟันเทียม?
ผู้ที่ไม่ควรใส่รากฟันเทียม หรือควรชะลอการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมออกไปก่อน มีดังนี้
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
- ผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาด้วยรังสีบำบัด (Radiation Therapy) บริเวณคอ หรือศีรษะ อาจต้องรับการประเมินเป็นรายคนไป
- ผู้ที่ขากรรไกรยังไม่หยุดการเจริญเติบโต
อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่ควรรับการรักษาด้วยรากฟันเทียมตามที่กล่าวมา แต่การสูญเสียฟันโดยไม่รับการรักษาหรือทดแทนฟัน อาจส่งผลให้ฟันข้างเคียงล้มมาในบริเวณช่องว่างฟันที่เสียไป ทำให้ทำความสะอาดได้ยาก และนำไปสู่โรคเหงือกในอนาคตได้ จึงควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อไป
รากฟันเทียมมีกี่รูปแบบ?
การทำรากฟันเทียมแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
1. การทำรากฟันเทียมแบบดั้งเดิม
การทำรากฟันเทียมแบบดั้งเดิม (Conventional Implant) คือการทำรากฟันเทียมหลังจากถอนฟันซี่ที่มีปัญหาออก จากนั้นรอให้กระดูกและแผลหายสนิท โดยใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพช่องปากและขากรรไกรของแต่ละคน
เมื่อแผลหายสนิทแล้วจึงนัดผ่าตัดใส่รากเทียม และรอจนกว่ากระดูกจะยึดติดกับรากฟันเทียม จึงค่อยใส่ครอบฟันหรือทำสะพานฟันบนรากเทียมนั้น ข้อดีคือมั่นคง แข็งแรง แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือระยะเวลารักษาค่อนข้างนาน
2. การทำรากฟันเทียมหลังจากถอนฟันทันที
การทำรากฟันหลังจากถอนฟันทันที (Immediate implant placement) คือการใส่รากฟันเทียมทันทีหลังจากถอนฟันเสร็จเลย จากนั้นรอประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้รากฟันเทียมยึดกับกระดูก แล้วจึงครอบฟันหรือทำสะพาน วิธีนี้ประหยัดเวลามากกว่า แต่ต้องให้ทันตแพทย์เฉพาะทางประเมินสภาพช่องปาก และกระดูกขากรรไกรร่วมด้วย
3. การทำรากฟันเทียมพร้อมฟันปลอม
การทำรากฟันเทียมพร้อมฟันปลอม (Immediate loaded implant) คือรากฟันเทียมที่ใส่ร่วมกับครอบฟันในครั้งเดียว
วิธีนี้คือวิธีที่รวดเร็วที่สุด ลดขั้นตอนและเวลารักษาได้มาก แต่ก็มีข้อจำกัดมากเช่นกัน เช่น เหมาะกับตำแหน่งฟันหน้าหรือฟันกรามน้อยเท่านั้น สภาพกระดูกขากรรไกรต้องสมบูรณ์ มีกระดูกเพียงพอในการฝังรากเทียม ลักษณะการสบของฟันเหมาะสม ซึ่งต้องให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินอย่างละเอียด
การเตรียมตัวก่อนทำรากฟันเทียม
การทำรากฟันเทียมเป็นการรักษาที่มีหลายขั้นตอน ก่อนเริ่มกระบวนการผ่าตัดจึงมักต้องวางแผนล่วงหน้าให้รัดกุมเสียก่อน
โดยการทำรากฟันเทียมหนึ่งเคสอาจต้องมีแพทย์พิจารณาร่วมกันมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป เช่น ทันตแพทย์ผู้ทำการออกแบบฟันปลอม ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาโรคในช่องปาก ศัลยแพทย์ช่องปาก เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่และสภาพช่องปากแต่ละบุคคล
ทีมแพทย์อาจตรวจความพร้อมของผู้รับบริการ ดังนี้
- ตรวจทันตกรรมครบวงจร เป็นการตรวจสภาพช่องปากที่อาจต้องใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น เอกซเรย์ ถ่ายภาพ 3 มิติ รวมถึงสร้างแบบจำลองช่องปากและขากรรไกร
- ซักประวัติสุขภาพ ทันตแพทย์จะสอบถามเรื่องโรคประจำตัว ยาที่ใช้เป็นประจำ รวมถึงอาหารเสริมทุกชนิดที่ใช้ ควรบอกทันตแพทย์อย่างครบถ้วน และไม่คิดเอาเองว่าโรคที่มีนั้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำรากฟันเทียม เพราะหลายๆ โรคอาจส่งผลกระทบต่อการผ่าตัดได้ เช่น โรคเบาหวาน
- วางแผนการรักษา เมื่อได้รับข้อมูลเพียงพอแล้ว ทันตแพทย์จะวางแผนที่เหมาะสมกับแต่ละคนตามปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนฟันที่ต้องการใส่รากฟันเทียม รูปแบบขากรรไกร ฟันซี่อื่นๆ ที่เหลืออยู่ และโรคประจำตัว
เมื่อได้กำหนดนัดหมายแล้ว ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนถึงวันผ่าตัด เช่น จำเป็นต้องอดอาหารหรือน้ำก่อนหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทยาระงับความรู้สึกที่ใช้
ขั้นตอนการทำรากฟันเทียม
การทำรากฟันเทียมอาจใช้เวลาในการรักษานานหลายเดือนรวมถึงมีรายละเอียดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพช่องปากของแต่ละคน โดยขั้นตอนหลักๆ ที่อาจพบได้ มีดังนี้
1. เตรียมพร้อมสำหรับใส่รากฟันเทียม
ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำฟันซี่ที่เสียหายและไม่สามารถรักษาได้ออก เพื่อเตรียมใส่รากฟันเทียม ทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากจะพิจารณาความเหมาะสมถึงว่าสามารถใส่รากฟันเทียมได้เลยหรือไม่ หรืออาจต้องปลูกกระดูกก่อน
2. ปลูกกระดูกเหงือก
สำหรับผู้ที่ศัลยแพทย์ช่องปากประเมินแล้วว่ามีกระดูกสันเหงือกบางเกินกว่าจะใส่รากฟันเทียมได้ อาจต้องทำการปลูกกระดูก (Bone Grafting) ให้แข็งแรงพอก่อนที่จะผ่าตัดใส่รากฟันเทียม
ศัลยแพทย์ช่องปากอาจใช้กระดูกธรรมชาติจากตำแหน่งอื่นในร่างกาย หรือใช้กระดูกสังเคราะห์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับศัลยแพทย์ประเมิน
การปลูกกระดูกอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่ากระดูกจะโตพอที่จะรองรับรากฟันเทียมได้ แต่บางกรณีที่ต้องปลูกกระดูกเพิ่มเพียงเล็กน้อย อาจทำร่วมกับการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมเลยก็ได้
ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากกระดูกไม่แข็งแรงพอ หลังจากใส่รากฟันเทียมแล้วก็จะไม่สามารถรองรับแรงบดเคี้ยวอาหารได้ และมีโอกาสจะทำให้การรักษาล้มเหลวจนต้องรักษาใหม่ แต่หากศัลยแพทย์ประเมินแล้วว่ากระดูกเดิมแข็งแรงพอ ก็อาจข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย
3. ใส่รากฟันเทียม
เมื่อถึงกำหนดใส่รากฟันเทียม ศัลยแพทย์ช่องปากจะให้ยาชาเฉพาะที่ จากนั้นจะทำการเปิดเหงือกให้เห็นส่วนที่เป็นกระดูก และใส่รากฟันเทียมเข้าไปแทนที่ฟันที่นำออก ช่วงนี้ศัลยแพทย์ช่องปากอาจพิจารณาให้ใส่ฟันปลอมชั่วคราวแบบถอดได้ไปก่อน เพื่อปกปิดช่องว่างไว้จนกว่าจะถึงขั้นตอนต่อไป
4. รอให้กระดูกยึดกับรากฟันเทียม
เมื่อใส่รากฟันเทียมเข้าไปในกระดูกขากรรไกรแล้ว กระดูกขากรรไกรจะเริ่มกระบวนการเติบโต (Osseointegration) โดยค่อยๆ ยึดเข้ากับรากฟันเทียม กระบวนการนี้อาจจะใช้เวลาตั้งแต่ 6-12 สัปดาห์ หรือนานกว่านี้ จนกว่ากระดูกจะยึดกับรากฟันเทียมได้แข็งแรงพอสำหรับใช้งาน
5. ใส่เดือยรองรับฟัน
เมื่อกระดูกยึดกับรากฟันเทียมเรียบร้อยแล้ว ศัลยแพทย์ช่องปากจะนัดมาใส่เดือยรองรับฟัน (Implant abutment) เดือยรองรับฟันนี้มีลักษณะคล้ายฟันที่ถูกกรอเมื่อต้องใส่ครอบฟัน มีหน้าที่ไว้สวมฟันปลอมแบบติดแน่นด้านบนนั่นเอง
ขั้นตอนนี้ถือเป็นการผ่าตัดเล็กและมักใช้ยาชาเฉพาะที่ หลังจากใส่เดือยรองรับฟันแล้ว เหงือกของคุณจะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะทำการสวมฟันปลอมด้านบน
มีบางกรณีที่ศัลยแพทย์ช่องปากจะติดเดือยรองรับฟันตั้งแต่ตอนที่ใส่รากฟันเทียมเลย แต่ข้อเสียคือทำให้คนอื่นสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่ออ้าปาก หลายคนจึงเลือกใส่เดือยรองรับฟันในภายหลัง
6. ใส่ฟันปลอมทดแทนฟันที่สูญเสียไป
เมื่อรากฟันเทียม และเดือยรองรับฟันเรียบร้อยดีแล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ช่องปากเพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหว การกัด จากนั้นนำไปผลิตฟันปลอมเพื่อสวมลงไปบนเดือยรองรับฟันอีกที
โดยฟันปลอมที่ทันตแพทย์ทำอาจมีสีคล้ายฟันธรรมชาติซี่อื่นๆ ในช่องปากเพื่อให้ดูกลมกลืนกับฟันซี่อื่น
อาการหลังใส่รากฟันเทียม
การใส่รากฟันเทียมอาจรับการผ่าตัดหลายครั้ง จนอาจมีอาการข้างเคียงหลังจากรับการรักษาได้ โดยอาการที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- เหงือกและใบหน้าบวม
- เหงือกหรือผิวเกิดรอยช้ำ
- อาจรู้สึกปวดบริเวณที่ใส่รากฟันเทียม
- อาจมีเลือดออกเล็กน้อย
อาการดังกล่าวเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ และถือเป็นอาการปกติที่ควรจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากอาการบวมหรือปัญหาอื่นๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ควรปรึกษาศัลยแพทย์ช่องปากทันที
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่รากฟันเทียม
เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่มีความเสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นได้ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่รากฟันเทียม อาจมีดังนี้
- อาจเกิดการติดเชื้อบริเวณที่ใส่รากฟันเทียม
- อาจเกิดการบาดเจ็บหรือเสียหายรอบโครงสร้างช่องปาก เช่น ฟันซี่อื่นๆ หรือเส้นเลือด
- อาจเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาท ทำให้เกิดอาหารปวด ชา บริเวณฟัน เหงือก ริมฝีปาก หรือคาง
- อาจเกิดผลกระทบโพรงอากาศไซนัส (Sinus) กรณีใส่รากฟันเทียมที่ขากรรไกรบน อาจทะลุสู่โพรงอากาศไซนัส
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนนี้พบได้ค่อนข้างน้อย หรือแม้เกิดขึ้นก็มักไม่รุนแรง การปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดจะช่วยลดโอกาสเกิดความเสี่ยงที่กล่าวมาได้ส่วนหนึ่ง
การดูแลตัวเองหลังใส่รากฟันเทียม
หลังจากรับบริการจากทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากมาในแต่ละขั้นตอน และยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการรักษา อาจต้องระมัดระวังแผลผ่าตัดให้ดีจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการใส่รากฟันเทียม ดังนี้
- ควรกินอาหารอ่อนๆ โดยเฉพาะบริเวณที่รับการผ่าตัดใส่รากฟันเทียม
- สามารถกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ รวมถึงใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อตามที่ศัลยแพทย์แนะนำ
- ควรไปพบศัลยแพทย์ช่องปากตามนัดในกรณีที่ต้องตัดไหม
- งดสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้แผลหายช้าและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้
ผู้รับบริการสามารถขอคำแนะนำจากศัลยแพทย์ช่องปากถึงอาหาร และพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาดให้เหมาะสมด้วย
ข้อดีของการทำรากฟันเทียม
การทำรากฟันเทียมมีข้อดีหลายข้อ ดังนี้
- ใช้ทดแทนรากฟันธรรมชาติได้ใกล้เคียงที่สุด รากฟันเทียมฝังลึกลงไปถึงกระดูกขากรรไกร ผู้ที่ใส่รากฟันเทียมจึงรู้สึกราวกับรากฟันเทียมเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ต่างกับฟันปลอมแบบถอดได้ หรือสะพานฟันตรงตำแหน่งฟันลอย
- ช่วยลดโอกาสเกิดฟันล้ม โดยปกติหากฟันธรรมชาติสูญหายไปและไม่ได้รับการรักษาทดแทน อาจทำให้ฟันซี่อื่นๆ เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมจนเกิดปัญหาฟันล้มได้
- ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ที่สูญเสียฟัน รากฟันเทียมเป็นเหมือนเสาค้ำยันที่แข็งแรงกว่าฟันธรรมชาติ ผู้รับบริการสามารถเลือกใส่ครอบฟันหรือสะพานฟันด้านบนเพื่อให้ช่องปากดูเป็นปกติ และใช้งานได้เหมือนเดิม
- ช่วยให้พูดได้เป็นปกติมากขึ้น รากฟันเทียมที่เสร็จสิ้นการรักษาแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนตอนที่ยังมีฟันตามธรรมชาติอยู่
- ช่วยให้กินอาหารได้เป็นปกติขึ้น รากฟันเทียมจะติดแน่นกับเหงือกเหมือนรากฟันธรรมชาติ ทำให้ไม่เคลื่อนที่ไปมาเหมือนฟันปลอมถอดได้ ช่วยให้เคี้ยวอาหารได้ปกติยิ่งขึ้น
- ช่วยให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น รากฟันเทียมไม่จำเป็นต้องกรอฟันซี่อื่นเหมือนการใส่สะพานฟันที่ต้องกรอฟันซี่ข้างๆ เพื่อเป็นหลักยึด นอกจากนี้รากฟันเทียมยังดูแลรักษาความสะอาดได้ง่ายเหมือนฟันธรรมชาติ
- มีความทนทานสูง หากดูแลรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี ไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ เช่น โรคเหงือก รากฟันเทียมอาจใช้งานได้ตลอดชีวิต
- ใช้ชีวิตประจำวันได้ง่าย ผู้ที่ใส่รากฟันเทียมไม่ต้องคอยถอด ใส่ เหมือนกับฟันปลอมแบบถอดได้
ข้อดีโดยสรุปของการทำรากฟันเทียม คือช่วยให้ผู้รับบริการกลับมามีสภาพฟันที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด ทั้งภาพลักษณ์ และการใช้งานที่แข็งแรง
ข้อเสียของการทำรากฟันเทียม
ข้อเสีย และข้อจำกัดของการทำรากฟันเทียม อาจมีดังนี้
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำฟันปลอมทั่วไป
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถทำรากฟันเทียมได้ เนื่องจากกระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
- ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน บางกรณีอาจใช้เวลาถึง 1 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องปลูกกระดูกสันเหงือกเพิ่มเติม
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ โรคปริทันต์อักเสบรุนแรง โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ผู้ที่มีอาการไขข้ออักเสบรุนแรง ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมกล้ามเนื้อ ฯลฯ จำเป็นต้องมีการปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักประสบปัญหากระดูกไม่ผสานกับรากฟันเทียม และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าปกติ
ดังนั้น แม้การทำรากฟันเทียมจะมีข้อดีมากมาย และดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในระยะยาว แต่ก็มีข้อจำกัดที่ควรพิจารณาร่วมกันด้วยมากมาย ทางที่ดีควรดูข้อมูลของทางเลือกต่างๆ เช่น สะพานฟัน ฟันปลอมแบบถอดได้ ประกอบการพิจารณาร่วมกันกับทันตแพทย์ด้วย
ทำรากฟันเทียมยี่ห้อไหนดี?
รากฟันเทียมมีหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็จะมีระดับราคาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ผลิตในประเทศไทย เอเชีย และยุโรป ซึ่งแต่ละประเทศก็จะใช้นวัตกรรมที่แตกต่างกัน
แต่หลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการเลือกรากฟันเทียม ได้แก่ ความแข็งแรง ทนทาน ความสามารถในการยึดเกาะกับกระดูก และการรับประกัน ควรปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมที่สุด
ทำรากฟันเทียมเจ็บไหม?
ส่วนใหญ่จะรู้สึกเจ็บขณะที่ฉีดยาชา แต่ขณะทำจะไม่รู้สึกเจ็บ และจะมีอาการปวดบวมอีกครั้งหลังจากทำเสร็จแล้ว ซึ่งทันตแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดตามความเหมาะสม และอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงตามลำดับ
ทำรากฟันเทียมอันตรายไหม?
หลายคนอาจกังวลว่ามีการฝังวัสดุลงไปในกระดูกขากรรไกร จะเป็นอันตรายหรือไม่ โดยหลักแล้วหากทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะมีความปลอดภัยสูงและไม่อันตราย
แต่การทำรากฟันเทียมก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เช่น ติดเชื้อในตำแหน่งที่ฝังรากฟัน หรือขณะฝังรากเทียมอาจทำให้ฟันข้างเคียงเส้นเลือด หรือเส้นประสาทบาดเจ็บจนเกิดความรู้สึกเจ็บปวด หรือชา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ผลลัพธ์ในการรักษาด้วยรากฟันเทียมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งตำแหน่งที่ใส่รากฟันเทียม การดูแลรักษา และอื่นๆ แต่โดยปกติแล้วการทำรากฟันเทียมมีอัตราความสำเร็จในการรักษาสูงถึง 98% หากดูแลอย่างเหมาะสม และทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ใส่รากฟันเทียมแล้วจัดฟันได้ไหม?
ตามปกติทันตแพทย์จะแนะนำให้จัดฟันให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงค่อยทำรากฟันเทียม เนื่องจากรากฟันเทียมจะไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เหมือนฟันธรรมชาติ
แต่หากตำแหน่งที่ต้องการฝังรากฟันไม่ใช่ตำแหน่งที่ต้องเคลื่อนที่ ทันตแพทย์ก็อาจพิจารณาให้ทำรากฟันเทียมก่อนการจัดฟันได้
การดูแลรักษารากฟันเทียม?
การดูแลรักษาความสะอาดของรากฟันเทียมนั้นไม่แตกต่างกับการดูแลช่องปากตามปกติ โดยการ
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อาจปรึกษาทันตแพทย์ถึงประเภทแปรงสีฟันที่เหมาะสม
- ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน
- ใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็ง เช่น น้ำแข็ง กระดูก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และยาสูบประเภทอื่นๆ
- ไม่ควรใช้ฟันเพื่อจุดประสงค์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เปิดกระป๋อง
- ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ
โดยสรุปแล้ว การใส่รากฟันเทียมเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติไป และต้องการใส่ฟันทดแทนที่แข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้เหมือนฟันปกติ เงื่อนไขสำคัญในการทำรากฟันเทียมคือต้องมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง และสามารถไปพบทันตแพทย์ได้หลายครั้งตลอดการรักษา
หากสนใจทำรากฟันเทียม สามารถเช็กราคารากฟันเทียมได้ที่ลิงก์ รวมถึงสามารถสอบถามรายละเอียดกับแอดมินเพื่อทำนัดเข้าประเมินก่อนใช้บริการจริงได้