คางที่สวย จะทำให้ใบหน้าแลดูมีเสน่ห์ และสมส่วนน่ามอง สำหรับคนเอเชียรวมถึงคนไทยจำนวนมาก มักมีคางสั้น ส่งผลให้ใบหน้าสั้นไม่สมส่วน การเสริมคางด้วยซิลิโคนจะช่วยปรับรูปหน้าให้ดูมีมิติสมส่วนมากขึ้น จึงเป็นที่นิยมกันทั้งชายและหญิง เพราะสามารถแก้ไขปัญหาหน้ากลม หน้าสั้น คางบุ๋ม คางสั้น คางถอย รวมถึงไม่มีคาง ซึ่งจะช่วยปรับรูปหน้าให้ดูดีเป็นธรรมชาติ สร้างความมั่นใจในภาพลักษณ์ของตนเองมากขึ้น
สารบัญ
- เสริมคางด้วยซิลิโคนคืออะไร?
- เสริมคางด้วยซิลิโคนเหมาะกับใคร?
- การผ่าตัดเสริมคางด้วยซิลิโคนมีกี่แบบ?
- การผ่าตัดเสริมคางแผลนอกปากคืออะไร?
- การผ่าตัดเสริมคางแผลในปากคืออะไร?
- การเตรียมตัวก่อนเสริมคางด้วยซิลิโคน
- ขั้นตอนการเสริมคางด้วยซิลิโคน
- การดูแลตัวเองหลังเสริมคางด้วยซิลิโคน
- ความเสี่ยงของการเสริมคางด้วยซิลิโคน
- เสริมคางด้วยซิลิโคนเจ็บไหม?
- เสริมคางด้วยซิลิโคนพักฟื้นนานไหม?
- เสริมคางด้วยซิลิโคนอยู่ได้กี่ปี?
- เสริมคางด้วยซิลิโคนมีแผลเป็นไหม?
เสริมคางด้วยซิลิโคนคืออะไร?
การเสริมคางด้วยซิลิโคน (Chin Augmentation) เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขคางให้มีมิติและมีความสมดุล ด้วยการเสริมซิลิโคนเข้าไปปรับแต่งรูปทรงของคาง ซึ่งจัดรูปทรงได้ง่ายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้รับการผ่าตัด โดยเป็นการผ่าตัดเล็กที่ให้ผลลัพธ์ถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะออกแบบปรับรูปทรงคางร่วมกับผู้รับบริการ โดยผู้หญิงมักต้องการมีรูปหน้าที่ดูยาวขึ้นและเรียวเล็กลง แบบ V Shape ส่วนผู้ชายมักต้องการเสริมคางเพื่อให้ใบหน้าดูมีความคมชัดได้สัดส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ
โดยซิลิโคน (Silicone) ที่ใช้ในการเสริมคางมี 2 แบบ ดังนี้
- การเสริมคางด้วยซิลิโคนชนิดไม่มีขา หรือเรียกกันว่า ซิลิโคนขาสั้น เป็นซิลิโคนที่ไม่มีขายาวยื่นออกมาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งนำมาใช้สำหรับตัดแต่งเหลาให้คางมีความโค้งนูน ที่ยื่นออกมารับกับรูปหน้าได้ง่าย ในตำแหน่งที่ได้กำหนดจุดไว้ ช่วยปรับให้รูปทรงส่วนปลายคางที่ไม่ชัดเจน สามารถดูมีมิติมากขึ้นได้ การใช้ซิลิโคนชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีคางเล็กแนวตั้ง (Horizontal Microgenia) ที่ต้องการเน้นที่บริเวณปลายคาง เพื่อให้แลดูยาวขึ้น และเดิมมีโครงสร้างคางที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ต้องการปรับสัดส่วนบนใบหน้าให้กรอบหน้าดูเรียวยาว มีรูปหน้าที่คมชัดขึ้น
- การเสริมคางด้วยซิลิโคนชนิดมีขา หรือเรียกกันว่า ซิลิโคนขายาว เป็นซิลิโคนที่มีด้านข้างยาวออกมา เป็นขาที่ยาววางรับแนวโค้งตามความยาวไปบนกระดูกปลายคาง และสามารถตัดแต่งเหลาซิลิโคน เพื่อให้เข้ากับใบหน้ามากที่สุด ซึ่งการใช้ซิลิโคนชนิดนี้ จะวางให้อยู่ในระนาบเดียวกับกรอบหน้าพอดี ไม่ทำให้เกิดรอยต่อระหว่างแก้มและคาง ตัวขาของซิลิโคนจะช่วยยึดไว้ ไม่ให้ซิลิโคนเกิดการห้อยย้อยตกลงมาที่ใต้คาง เป็นการครอบยึดฐานกระดูกคาง เพื่อป้องกันคางไม่ให้เบี้ยวเอียง เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหา หน้ากลม ดูไม่สมส่วน มองด้านข้างใบหน้าดูสั้น คางเหลี่ยม คางบุ๋ม โดยเฉพาะคางเล็กแนวนอนหรือ คางถอย (Vertical Microgenia) ตัวซิลิโคนชนิดมีขานี้ จะยาวครอบคลุมไปถึงรอยต่อแนวกราม ทำให้รับกับกรอบหน้า และรูปหน้ามีสัดส่วนที่ดูดีมากขึ้น
เสริมคางด้วยซิลิโคนเหมาะกับใคร?
- ผู้ที่มีปัญหาคางเล็ก คางสั้น มีรูปคางไม่ชัดเจน การเสริมคางสามารถช่วยเพิ่มขนาดและทำให้คางเรียวยาวขึ้น กรอบหน้ามีความคมชัด และสวยงามขึ้น
- ผู้ที่มีปัญหารูปคางบิดเบี้ยว คางไม่สมมาตร การเสริมคางด้วยซิลิโคน สามารถทำให้คางกลับมาเท่ากันทั้งสองข้างได้
- ผู้ที่ต้องการให้ใบหน้าเข้ากับ Golden Ratio โดยแพทย์จะวิเคราะห์ และออกแบบคางให้มีรูปหน้าที่เหมาะสมสำหรับผู้รับบริการ
- ผู้ที่มีรูปคางถอย คางร่นเข้าไปด้านใน คางไม่มีความนูน สามารถเสริมด้วยซิลิโคนปรับคางให้นูนและยื่นออกไปด้านหน้า เพื่อให้รับกับปลายจมูกและหน้าผาก ทำให้มีรูปคางที่ชัดเจน และใบหน้าแลดูมีมิติขึ้น
- ผู้ที่มีปัญหาคางเป็นรอยหยักตรงกลาง คางบุ๋ม ซึ่งมักสร้างความกังวลให้กับผู้รับบริการที่เป็นผู้หญิง เพราะทำให้มีรูปหน้าดูคล้ายผู้ชาย ไม่ละมุนอ่อนหวาน สามารถใช้ซิลิโคนเปลี่ยนรูปคางได้
- ผู้ที่ต้องการรูปหน้าแบบ V–Shape การเสริมคาง สามารถช่วยปรับรูปหน้าให้ยาวเรียวขึ้นได้
- ผู้ที่ต้องการคางที่มีลักษณะเหลี่ยมและป้าน ส่วนใหญ่ผู้รับบริการ จะเป็นผู้ชาย เพื่อช่วยให้มีใบหน้าที่แลดูดี เหมาะสมกับความเป็นชาย มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น
- ผู้ที่เคยเสริมคางมาแล้ว และต้องการปรับแก้ไข เพื่อให้ได้รูปทรงสวยงามที่รับกับรูปหน้ามากขึ้น
การผ่าตัดเสริมคางด้วยซิลิโคนมีกี่แบบ?
การผ่าตัดเสริมคางด้วยซิลิโคน (Chin Augmentation with Implant) สามารถทำได้ 2 แบบ คือ
- การผ่าตัดเสริมคางแผลนอกปาก
- การผ่าตัดเสริมคางแผลในปาก
ซึ่งจะต้องเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเสริมคาง เพราะต้องประเมินรูปหน้า การเลือกใช้ซิลิโคนให้เหมาะสม และเลือกวิธีเหลาซิลิโคนให้รับกับใบหน้าของผู้รับบริการ รวมถึงสามารถวางซิลิโคนให้ถูกต้องตามชั้นของโครงสร้างผิวด้วย
การผ่าตัดเสริมคางแผลนอกปากคืออะไร?
การผ่าตัดเสริมคางแผลนอกปาก (Extraoral Technique) เป็นการเปิดแผลบริเวณใต้คาง และใส่ซิลิโคนใต้เยื่อหุ้มกระดูกปลายคาง จากนั้นเย็บปิดแผล วิธีนี้แพทย์จะผ่าตัดได้ง่าย เพราะสามารถหลีกเลี่ยงเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ในการผ่าตัดขอบล่างของฐานกระดูกกรามโดยตรง และสามารถเย็บเพื่อยึดซิลิโคนป้องกันการเบี้ยวเอียงได้ รวมไปถึงการวางตำแหน่งในการใส่ซิลิโคนทำได้ง่าย และแม่นยำ ทำแล้วไม่ห้อยย้อย ไม่เป็นก้อน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากเศษอาหารและน้ำลาย ไม่เกิดการอักเสบภายในช่องปาก นอกจากนี้แผลที่ผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก ดูแลรักษาง่าย และหายเร็วอีกด้วย
การผ่าตัดเสริมคางแผลในปากคืออะไร?
การผ่าตัดเสริมคางแผลในปาก (Intraoral Technique) เป็นการเปิดแผลที่ด้านในของปาก บริเวณระหว่างซอกเหงือกกับริมฝีปากล่าง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูง เพราะจะทำให้ไม่เห็นแผลเป็นภายนอกที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการมีรอยแผลผ่าตัดภายนอก หรือผู้ที่มีผิวเกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย และต้องรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบ รวมไปถึงการติดเชื้อด้วย
การเตรียมตัวก่อนเสริมคางด้วยซิลิโคน
หากสนใจเสริมคางด้วยซิลิโคน ต้องเตรียมตัวดังต่อไปนี้
- ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินรูปทรง และออกแบบใบหน้า สามารถเตรียมรูปทรงคาง หรือตัวอย่างที่ต้องการไปให้แพทย์ดูด้วยได้
- หากมีโรคประจำตัวหรือมียาที่ต้องใช้เป็นประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบโดยละเอียด
- งดรับประทานยาในกลุ่มยาที่ต้านเกล็ดเลือด และยาละลายลิ่มเลือด ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันภาวะเลือดไหลออกง่ายในระหว่างการผ่าตัด
- งดทานสมุนไพร วิตามิน และอาหารเสริมต่างๆ เช่น วิตามินอี วิตามินเอ น้ำมันตับปลา เมล็ดองุ่น ใบแปะก๊วย โสม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจเป็นเหตุให้เลือดออกง่าย และออกมากกว่าปกติ
- ในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน จะต้องคุมอาการของโรคเหล่านี้ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ก่อนที่จะรับการผ่าตัด หากมียาที่ต้องใช้เป็นประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบโดยละเอียด
- หากมีประวัติการแพ้ยาที่รับประทาน หรือยาชา ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ ก่อนผ่าตัดประมาณ 1 เดือนเพราะจะทำให้แผลหายช้า เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- เตรียมวันหยุด เพื่อพักฟื้นที่บ้านหลังผ่าตัดประมาณ 7 วัน
- ควรเตรียมตัวเกี่ยวกับภาวะทางด้านจิตใจให้พร้อม ไม่ให้ตื่นเต้น
- ทำความสะอาดร่างกาย ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เช่น อาบน้ำ สระผม ล้างหน้า แปรงฟัน และบ้วนปากให้เรียบร้อย
- สวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า ที่ใส่สบายและหลวม เพื่อจะได้ถอดใส่ง่าย และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า ในวันรับการผ่าตัด
- งดใส่คอนแทคเลนส์ รีเทนเนอร์ ฟันปลอม และเครื่องประดับทุกชนิด
- ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร แต่ทานอาหารแค่พออิ่ม ก่อนเข้าผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องแน่น และอึดอัดระหว่างรับการผ่าตัด
- งดใช้เครื่องสำอางบริเวณใบหน้า เพราะถ้าหากล้างหน้าไม่สะอาด อาจจะทำให้ติดเชื้อได้
ขั้นตอนการเสริมคางด้วยซิลิโคน
ในวันผ่าตัดแพทย์จะแนะนำเกี่ยวกับซิลิโคนที่ใช้ ตรวจวัดสัดส่วนโครงใบหน้า และดูขนาดเดิมของคาง เพื่อวิเคราะห์ขนาดของซิลิโคนที่เหมาะสมให้เข้ากับใบหน้าของผู้รับบริการ และกำหนดตำแหน่งเป็นเครื่องหมายไว้ก่อนการผ่าตัด จะมีการตรวจวัดความดัน ทานยาแก้ปวด และยาฆ่าเชื้อ จากนั้นจะมีขั้นตอนการเสริมคางด้วยซิลิโคน (Personalized Surgical Planning) ดังนี้
- ฉีดยาชา บริเวณที่ต้องการวางซิลิโคน หากผ่าตัดเสริมคางแผลนอกปาก จะฉีดที่บริเวณใต้คาง และหากผ่าตัดเสริมคางแผลในปาก จะใช้ฉีดที่ด้านในปาก บริเวณฟันหน้าด้านล่าง
- กรีดเพื่อเปิดปากแผล เพื่อทำให้มีช่องว่าง และขนาดความยาวให้พอดีกับซิลิโคนที่จะใส่เข้าไป
- ตัดแต่งและเหลาซิลิโคน ให้เข้ารูป และรับกับใบหน้าของผู้รับบริการ จากนั้นทำการใส่ซิลิโคนเข้าไป ในบริเวณตำแหน่งช่องว่างของแผลที่ได้เตรียมไว้
- เย็บปิดปากแผล เมื่อแพทย์ประเมินสัดส่วน และรูปหน้าโดยรวมทั้งหมดของใบหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำความสะอาดแผล และดามเฝือกคางไว้จากนั้นแพทย์จะอนุญาตให้ผู้รับบริการกลับไปพักฟื้นบ้านได้
การดูแลตัวเองหลังเสริมคางด้วยซิลิโคน
การดูแลรักษาแผลหลังจากเสริมคางด้วยซิลิโคนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมีส่วนทำให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงตามที่ปรึกษากับแพทย์และป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนี้
- ประคบเย็นที่บริเวณคาง และให้ประคบอุ่นตาม ทำแบบนี้สลับกันไปเพื่อลดอาการบวมช้ำที่อาจเกิดขึ้นบริเวณคางให้เร็วขึ้น ประมาณ 4-5 วัน หรือ จนกว่าจะหายบวม
- งดล้างหน้าจนกว่าแผลจะหาย แต่สามารถทำใช้สำลีชุบน้ำหรือน้ำเกลือ หรือจะใช้ผ้าเปียกเช็ดความสะอาดใบหน้าแทนก็ได้
- ไม่กดบริเวณตำแหน่งที่มีซิลิโคน ประมาณ 4-5 วัน
- ไม่ใช้ลิ้นดุนแผล ไม่ใช้มือดึงไหมที่เย็บและไม่แกะเกาที่แผล
- กรณีผ่าตัดเสริมคางแผลในปาก ให้ระมัดระวัง ไม่แปรงฟันรุนแรง โดยค่อยๆ แปรง ไม่ให้โดนแผล และงดบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากประมาณ 1 สัปดาห์ แต่สามารถบ้วนปากบ่อย ๆ ด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือได้ ส่วนกรณีผ่าตัดเสริมคางแผลนอกปาก ก็ให้ทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ต้องคอยระวังแผลในปาก
- สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรออกแรง หรือออกกำลังกายหนักหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน และสามารถออกกำลังกายหนักๆ เช่น วิ่ง หรือว่ายน้ำ ประมาณหลัง 3 เดือนขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงแสงแดด และทาครีมกันแดดทุกวัน ในช่วงที่ยังมีรอยช้ำ
- สวมเสื้อที่ถอดใส่ง่าย หรือมีกระดุมด้านหน้า เพื่อลดโอกาสที่คางจะสัมผัสกับตัวเสื้อ
- งดรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัด อาหารที่แข็งเคี้ยวยาก และอาหารร้อนจัดเย็นจัด ควรรับประทานอาหารที่มีรสจืดและเหลว หลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน
- ไม่ดื่มน้ำที่ร้อนหรือเย็นเกินไป และควรดื่มน้ำให้มากๆ โดยใช้หลอดดูด
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่หลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน เพราะจะทำให้แผลหายช้า เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน
- งดรับประทานอาหารดิบ อาหารหมักดอง และอาหารทะเล หลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน เพราะมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคได้
- นอนศีรษะให้สูงประมาณ 4-5 วัน ไม่นอนตะแคงหรือนอนคว่ำ เพราะอาจกดทับบริเวณคางที่ยังอักเสบอยู่
- ไม่ก้มหน้า เช่น นั่งดูโทรศัพท์ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ นั่งอ่านหนังสือ หรือก้มหน้าสระผม และไม่ควรส่ายหน้า หรือเอียงหน้าแรงๆ หลังผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการเปิดปากยิ้มกว้าง หรือหัวเราะมากจนเกิน เพราะอาจส่งผลกับแผลที่ผ่าตัดได้
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระแทกที่บริเวณคาง
- ไม่นั่งเอามือท้าวคาง เพราะอาจทำให้คางบิดเบี้ยว และผิดรูปได้
- งดแต่งหน้า และเสริมความงามบนใบหน้า เช่น การกดสิว ทำทรีทเมนต์ หรือยิงเลเซอร์ จนกว่าแผลจะหาย เพราะจะทำให้คางเกิดการอักเสบและหายช้า แต่สามารถใช้เครื่องสำอาง เช่น ลิปสติกได้ หลังผ่าตัด 1 สัปดาห์
- ทำแผลเช้าเย็น และจนกว่าจัดตัดไหม ไม่ให้แผลโดนน้ำ
- หลังการผ่าตัดในวันที่ 7 ให้แกะเฝือกที่คางออกได้ โดยใช้น้ำอุ่นช่วยให้พลาสเตอร์ค่อยๆ ลอกออก โดยการลูบเบาๆ
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งจนหมด และไม่ควรซื้อยาเพิ่มเอง แต่ถ้าจำเป็นต้องรับประทาน ให้ใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอนเท่านั้น
- ควรพบแพทย์ตามนัด และหากมีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ทันที ก่อนเวลานัดได้
ความเสี่ยงของการเสริมคางด้วยซิลิโคน
การเสริมคางด้วยซิลิโคนนั้น มีความเสี่ยงและมีผลข้างเคียงที่น้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เกิดกับผู้รับบริการ คือ อาการตึงบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งอาการนี้จะค่อยๆ หายไปเอง ภายในประมาณ 1 สัปดาห์ หลังผ่าตัด โดยอาการทั่วไปที่อาจพบได้ มีดังนี้
- เกิดอาการชาที่ ริมฝีปาก โดยอาการนี้จะหายไปเองได้
- คางและบริเวณรอบๆ มีอาการเลือดออก ปวด บวม ช้ำ หลังการผ่าตัด
- ประสาทสัมผัสในการรับความรู้สึกที่บริเวณคางเปลี่ยนไป ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเพียงชั่วคราว หรือเกิดขึ้นถาวร
- ซิลิโคนเลื่อนออกจากตำแหน่ง ที่เกิดจากการกระทบกระเทือนที่บริเวณใบหน้า
- เกิดการติดเชื้อที่แผลหลังการผ่าตัด หากไม่รักษาความสะอาด
โดยหากมีอาการที่ผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรแจ้งและปรึกษาแพทย์ หรือไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสติดเชื้อและการอักเสบที่แผลผ่าตัด ผู้รับบริการจะต้องรับการผ่าตัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และจะต้องดูแลตัวเองทั้งก่อนและหลังรับการผ่าตัดอย่างเคร่งครัด
เสริมคางด้วยซิลิโคนเจ็บไหม?
การเสริมคางด้วยซิลิโคนเป็นการผ่าตัดเล็ก โดยการผ่าตัดจะทำร่วมกับการฉีดยาชา จึงอาจเจ็บเฉพาะตอนฉีดยาชาเท่านั้น หลังยาชาออกฤทธิ์ในระหว่างผ่าตัดนั้น ผู้รับบริการจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่หลังจากที่ยาชาหมดฤทธิ์แล้ว อาจมีอาการตึงๆ ที่แผลผ่าตัด หรือรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อย ซึ่งสามารถทานยาแก้ปวดได้ รวมถึงการประคบเย็นประคบร้อนสลับกัน ก็จะช่วยลดปวดและลดบวมได้
เสริมคางด้วยซิลิโคนพักฟื้นนานไหม?
หลังจากผ่าตัดเสริมคางด้วยซิลิโคนเสร็จ สามารถเดินทางกลับไปพักฟื้นบ้านได้ โดยใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 7 วัน และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
เสริมคางด้วยซิลิโคนอยู่ได้กี่ปี?
ซิลิโคนเสริมคางสามารถอยู่ได้อย่างถาวร แต่หลังผ่าตัดเสริมคางด้วยซิลิโคนที่ตัดไหมแล้ว อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือนกว่าคางจะเข้าที่
เสริมคางด้วยซิลิโคนมีแผลเป็นไหม?
การเสริมคางด้วยซิลิโคนจะมีเพียงแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไปเองภายในเวลาประมาณ 1-3 เดือน และมีโอกาสที่จะเกิดแผลเป็นน้อยมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพผิวของผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการเป็นแผลเป็นได้ง่าย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจทำ และดูแลตนเองหลังผ่าตัดอย่างเคร่งครัดตามที่แพทย์แนะนำ
การเสริมคางด้วยซิลิโคนเพียงครั้งเดียว ก็สามารถอยู่ได้อย่างถาวร แต่จะต้องทำกับสถานเสริมความงามที่ได้มาตรฐานและมีแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจได้ในความปลอดภัยและได้รับความพึงพอใจสูงสุดโดยไม่ต้องผ่าตัดแก้ไขซ้ำ
เปรียบเทียบแพ็กเกจราคาเสริมคาง
ที่มาของข้อมูล
- Chin Implants, Health, JOHNS HOPKINS MEDICINE, (https://www.hopkinsmedicine.or… Resorption after Use of Silicone Chin Implants, Long-term Follow-up Study with Lateral Chin Radiography, (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6110682/), July 9, 2018.
- Delayed Mental Nerve Neuralgia Following Chin Augmentation, (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3562649/), January 20, 2013.
- Chin Augmentation, Facial Plastic and Reconstructive Surgery, Stanford MEDICINE, (https://med.stanford.edu/drmos… Surgery, (https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-procedures/chin-surgery).
- William C. ; Blake S. Raggio, Facial Chin Augmentation, (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK554506/), May 1, 2022.
- Mandibular Bone Resorption Following Chin Augmentation: A Systematic Review, (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8989922/), March 25, 2022.
- นพ.สุกิจ เมษรักษาวนิช, การเตรียมตัวก่อนทำศัลยกรรม, สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย, (https://www.thprs.org/blog/2018/7/10/blog-headline-tlps8-y2578)