แครอท มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Daucus carota L.subsp. sativus (Hoffim). Arcang. เป็นพืชล้มลุก รากมีลักษณะพองโตและยาวเรียวสีส้ม แต่เรามักเรียกส่วนนี้กันว่า “หัว” ก้านใบยาว ใบสีเขียวแตกออกรอบๆ เหนือส่วนหัว แครอทเป็นพืชที่มีรสชาติหวานกรอบ นิยมนำมารับประทานทั้งแบบสด (ดิบ) และแบบปรุงสุก ส่วนในทางยา ส่วนราก หรือหัว มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย
สารบัญ
ในทางโภชนาของแครอท
- แครอท 100 กรัม จะมีพลังงาน 41 กิโลแคลอรี่
- ส่วนราก หรือหัว มีสารเบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) สูง โดยเฉพาะบริเวณเปลือกแก่ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอสูง
- มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล ไขมัน เส้นใย และแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 บี 5 บี 6 บี 9 และวิตามินซีด้วย
ประโยชน์ต่อสุขภาพของแครอท
ช่วยลดระดับ Cholesterol
แครอทมีสารต้านอนุมูลอิสระแคโรทินอยด์ (carotenoid antioxidants) สารเบต้า-แคโรทีน สารอัลฟาแคโรทีน ( alpha-carotene) และสารลูทีน จึงช่วยลดระดับ cholesterol ได้ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ขึ้น
ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
แครอทมีสารเบต้า-แคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน และมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
บำรุงสายตา
แม้จะไม่สามารถช่วยรักษาปัญหาทางการมองเห็นที่มีอยู่เดิมได้ แต่แครอทสามารถช่วยป้องกันปัญหาที่เกิดจากการขาดวิตามินเอได้ โดยร่างกายจะมีการเปลี่ยนสารเบต้า-แคโรทีน ให้เป็นวิตามินเอซึ่งช่วยบำรุงสายตา นอกจากนั้นยังสามารถป้องกันการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อม และอาการมองเห็นไม่ชัดในตอนกลางคืนได้
ช่วยหยุดการสูญเสียความจำ
งานวิจัยเชื่อว่า สารเบต้า-แคโรทีน ในแครอทช่วยชะลอการเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาวได้ในผู้ที่รับประทานสารเบต้า-แคโรทีน มากกว่า 15 ปี ขึ้นไป
ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
แครอทมีสารเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถลดน้ำตาลในเลือดและรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้
เพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก
แครอทมีวิตามินอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินซี (5 มิลลิกรัมต่อ 1 ถ้วย) และแคลเซียม (96 มิลลิกรัมต่อ 1 ถ้วย) ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอาจได้รับแคลเซียมไม่พอ ดังนั้นการรับประทานแครอทก็ช่วยเสริมแคลเซียมได้ แม้ว่าจะมีในปริมาณที่ไม่มากก็ตาม นอกจากนี้สารเบต้า-แคโรทีนยังสามารถป้องกันการเกิดกระดูกเสื่อมรุนแรงได้ เพียงแต่ไม่ได้ป้องกันภาวะเสื่อมของกระดูกที่เกิดขึ้นตามอายุ
คำแนะนำในการบริโภค
- หากต้องการได้รับประโยชน์จากแครอทสูงสุดโดยเฉพาะสารเบต้าแคโรทีน แนะนำให้ปรุงสุกก่อนรับประทาน
- หากต้องการได้รับประโยชน์จากแครอทสูงสุด ไม่ควรหั่นแครอทก่อนปรุงอาหาร
- ควรรับประทานแครอทกับอาหารที่มีไขมันเพราะเบต้าแคโรทีนจะละลายได้ดีในไขมัน
- เช่นเดียวกับมะละกอที่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะอาจทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีส้มได้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการหยุดรับประทาน
- เลือกซื้อแครอทอย่างระมัดระวัง ป้องกันการปนเปื้อนของสาารตะกั่ว
ถึงแม้ว่าแครอทจะมีประโยชน์มากมาย แต่ควรรับประทานอย่างเหมาะสม ไม่ควรรับประทานมากเกินไป บ่อยเกินไป หรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ
คำถามที่พบบ่อย
ทำไมกินน้ำแครอทมากๆ ถึงผิวกลายเป็นสีส้มคะ จะเป็นอันตรายไหม?
เพราะในแครอทมีสารชื่อว่า”แคโรทีนอยด์ (carotenoid)” ที่ทำให้ตัวกลายเป็นสีส้มเหลืองได้หากทานมากเกินไป แต่ไม่ได้อันตรายค่ะ
วิธีแก้ไขทำได้ง่ายๆ ด้วยการลดปริมาณการกินลงค่ะ แต่อาจจะใช้เวลานานสักนิดกว่าผิวจะกลับมามีสีเดิมนะคะ ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)
การที่คนเรารับประทานผัก ผลไม้ที่มีสี เช่น แครอท มะละกอ ข้าวโพดเยอะๆ จะทำให้ผิวของเรามีสีเหลืองได้จริงไหมคะ?
เพราะผลไม้เหล่านี้มีเบต้าแคโรทีนค่ะ เมื่อรับประทานเป็นปริมาณมากๆ จะทำให้เบต้าแคโรทีนไปสะสมที่ผิวหนังจึงทำให้ผิวดูเหลืองนั่นเอง ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่เพียงใด ถือเป็นข้อดีด้วยซ้ำ เพราะเบต้าแคโรทีนจะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังของเราโดนสารพิษต่างๆ และทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลดลง ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)