เลสิก ทำได้กี่ครั้ง ทำซ้ำได้ไหม เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะแม้จะมีการโปรโมทว่า เลสิกเป็นการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาผิดปกติได้อย่างถาวร
แต่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ หากทำเลสิกแล้วค่าสายตาเปลี่ยน แต่ไม่อยากกลับไปใส่แว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์อีกแล้ว จะกลับไปทำเลสิกอีกครั้งได้หรือไม่ อย่างไร HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ
สารบัญ
เลสิก ทำได้กี่ครั้ง? และทำซ้ำได้ไหม?
การผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาด้วยวิธีเลสิกเหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป และควรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่หากผิดเงื่อนไขดังกล่าวก็มีโอกาสที่สายตาจะสั้นเพิ่มได้เช่นกัน
นอกจากนี้การใช้งานดวงตาที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้สายตาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ หลายชั่วโมงโดยไม่ได้พัก ก็สามารถทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนหลังทำเลสิกได้เช่นกัน
ส่วนคำถามที่ว่า เลสิกทำได้กี่ครั้ง และหลังทำเลสิกไปแล้วหากสายตากลับมาสั้นอีกจะทำเลสิกซ้ำได้ไหม
เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่า การผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาด้วยวิธีเลสิกจะเป็นการปรับความโค้งของกระจกตาลง จึงมีผลให้ความหนาของกระจกตาลดน้อยลงไปด้วย
ดังนั้นหากจักษุแพทย์ตรวจประเมินอย่างละเอียดแล้วพบว่า กระจกตายังมีความหนามากพอคือ ไม่ต่ำกว่า 480 ไมครอน ก็สามารถทำเลสิกซ้ำได้ เรียกได้ว่า “ความหนาของกระจกตาเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่า บุคคลคนนั้นจะสามารถทำเลสิกซ้ำได้หรือไม่ รวมทั้งทำได้กี่ครั้ง” นั่นเอง
จะปลอดภัยหรือเปล่า?
การทำเลสิกซ้ำจะปลอดภัยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความหนาของกระจกตาที่เหลืออยู่ เทคนิคการทำเลสิกที่เลือกใช้ รวมทั้งการดูแลตนเองอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของจักษุแพทย์
บางคำแนะนำจึงบอกว่า การทำเลสิกครั้งแรกควรเลือกเทคนิคที่รบกวนประจกตาน้อยที่สุด แผลมีขนาดเล็ก สามารถปรับความโค้งกระจกตาได้ตามต้องการ และลดโอกาสที่สายตาจะเกิดภาวะถดถอยได้ในระยะยาว เช่น การทำเลสิกด้วยเทคนิค ReLEx Smile
ถ้าทำเลสิกซ้ำอีกไม่ได้จริงๆ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร?
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า หลังทำเลสิกแล้วความโค้งของกระจกตาจะลดลง หรือแบนลง ซึ่งมักจะไม่พอดีกับความโค้งของคอนแทคเลนส์แบบที่เคยใส่อยู่ โดยอาจจะหลวมไม่เกาะกระจกตา ทำให้เลื่อนหลุดง่าย
หรือหากเปลี่ยนขนาดคอนแทคเลนส์ให้มีความโค้งมากขึ้น ก็อาจบีบรัดดวงตามากเกินไปจนทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้
ทางที่ดีหากต้องการใส่คอนแทคเลนส์ แนะนำให้สอบถามความโค้งของกระจกตาตนเองกับจักษุแพทย์ก่อน เพื่อจะได้เลือกคอนแทคเลนส์ที่มีความโค้งเหมาะสม
แต่หากไม่ได้จำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ ก็แนะนำให้ตัดแว่นสายตาเพื่อใส่เฉพาะเวลาจำเป็น เช่น ทำงาน อ่านหนังสือ
นอกจากนี้หากมีสายตาสั้นมากๆ หรือกระจกตาบางมากๆ อาจปรึกษาจักษุแพทย์เกี่ยวการใส่เลนส์เสริม หรือการทำ ICL (The Implantable Contact Lens) ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่ ไม่สูญเสียเนื้อกระจกตาเลย สามารถรองรับสายตาสั้นได้มากถึง 2,500 รวมทั้งหากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นสามารถเอาเลนส์นี้ออกได้