จากข้อมูลของศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ปัจจุบันโรงมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยผู้ที่มีความเสี่ยงจะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่จะมีประมาณ 10% เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 40 ปี
ขณะที่ผลการศึกษาของ Global Cancer 2020 พบว่า สถานการณ์ภาพรวมมะเร็งเต้านมในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปีเช่นกัน จากสถิติล่าสุด พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากอันดับ 1 ในหญิงไทย โดยพบรายใหม่ 22,158 รายต่อปี หรือชั่วโมงละ 2.5 คน คิดเป็น 11.6% ของโรคมะเร็งทุกประเภท รองจากมะเร็งตับที่มี 14.4% และมะเร็งปอด 12.4% โดยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 8,266 รายต่อปี หรือ ชั่วโมงละ 0.94 คน
จากแนวโน้มอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่สูงขึ้นทุกปีข้างต้น และปัจจุบันยังพบอีกว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมไม่ใช่แค่เพศหญิงที่มากกว่า 50 ปีขึ้นไปเหมือนที่ผ่านมา แต่ในผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีลงมาก็มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นด้วย HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้รู้เท่าทัน ในการดูแลรักษา และป้องกันตัวเองให้ลดความเสี่ยงจากเกิดมะเร็งเต้านม มาฝากกัน
สารบัญ
มะเร็งเต้านมคืออะไร?
มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คือ ความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม โดยเซลล์เต้านมเกิดการแบ่งตัวผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ จนเกิดเป็นเนื้องอกแล้วกลายเป็นมะเร็งในที่สุด จากนั้นก็แพร่กระจายผ่านระบบทางเดินไหลเวียนโลหิต หรือน้ำเหลือง สู่อวัยวะใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่น โดยมะเร็งเต้านมสามารถแบ่งชนิดตามตำแหน่งที่เกิดได้ ดังนี้
- มะเร็งเต้านมที่บริเวณท่อน้ำนม หรือ มะเร็งท่อน้ำนม ซึ่งเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามออกจากท่อน้ำนม ปัจจุบันพบมะเร็งชนิดนี้มากขึ้น และหากไม่รักษาตั้งแต่ระยะนี้ เซลล์มะเร็งก็อาจลุกลามออกจากท่อน้ำนมไปยังบริเวณอื่นได้
- มะเร็งท่อน้ำนมที่ลุกลามออกจากท่อน้ำนมแล้ว เป็นมะเร็งที่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านมรอบข้างแล้ว พบได้บ่อยที่สุดหรือประมาณ 80% ของมะเร็งเต้านมทุกประเภท หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ
- มะเร็งเต้านมบริเวณต่อมน้ำนม เป็นมะเร็งที่สามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และอวัยวะอื่นได้ พบได้บ่อยรองลงมาจากมะเร็งเต้านมบริเวณท่อน้ำนม หรือประมาณ 10% ของมะเร็งเต้านมทุกชนิด และพบได้ในทุกช่วงวัย แต่จะพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 55-60 ปี และหากเคยรับฮอร์โมนทดแทน ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย
- มะเร็งบริเวณหัวนม พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงประมาณ 5% ของโรมะเร็ง โดยมีอาการเริ่มแรก คัน บวมแดง ผิวหนังอักเสบ เป็นขุยบริเวณหัวนมและลานนม ทั้งนี้มะเร็งบริเวณหัวนมที่พบทั้งในผู้หญิงและผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ยที่ 62-69 ปี และมากกว่า 97% ของมะเร็งหัวนม มักมีมะเร็งท่อน้ำนมร่วมด้วย
- มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ออกสู่กระแสเลือด และไปยังอวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย เช่น ตับ ปอด กระดูก และสมอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งใช้ระยะเวลาเป็นระดับ 9-12 เดือน โดยพบว่า 30% ของมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นจะพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายได้
- มะเร็งท่อน้ำนมชนิดทูบูล่าร์ (Tubular Carcinoma) เป็นมะเร็งที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า ส่วนใหญ่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร จึงมักพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์มากกว่าการคลำ พบในประมาณ 1-4% ของมะเร็งเต้านมทั้งในผู้หญิงและชายที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป
- มะเร็งท่อน้ำนมชนิดเมดูลารี่ (Medullary Carcinoma)โดยก้อนมะเร็งมีลักษณะเป็นก้อนนุ่มๆ คล้ายเนื้อสมอง มีการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า และไม่ค่อยแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง พบประมาณ 3-5% ในทุกช่วงอายุ
- มะเร็งท่อน้ำนมชนิดมิวซินัส (Mucinous Carcinoma) เป็นมะเร็งที่มีการสร้างสารเยื่อเมือกออกมา ซึ่งสารนี้สร้างมาจากอวัยวะหลายส่วน เช่น ทางเดินอาหาร ปอด ตับ เป็นต้น มีโอกาสน้อยที่จะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง พบได้ประมาณ 2-3% และมีประมาณ 5% ที่มีมะเร็งท่อน้ำนมชนิดอื่นร่วมด้วย พบมากในผู้สูงอายุประมาณ 60-70 ปี
- มะเร็งท่อน้ำนมชนิดแปปปิลารี่ (Papillary Carcinoma) เป็นมะเร็งของท่อน้ำนมที่มีขนาดเล็ก ขอบเขตก้อนเรียบ แต่ภายในก้อนมีติ่งยื่นลักษณะคล้ายนิ่วอยู่ และมีมะเร็งของท่อน้ำนมชนิดอื่นร่วมด้วย พบได้ประมาณ 1-2% ส่วนใหญ่ในผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยทองแล้ว
มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมได้แน่ชัด แต่ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งเต้านม อาจมีดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม 5-10% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการถ่ายทอดมาจากพันธุกรรม ดังนั้นผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้
- อายุ อายุที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับความผิดปกติของเซลล์ที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งเต้านม โดย เช่น อายุระหว่าง 30-39 ปี มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม 1 ใน 228 คน หรือ 0.44% และความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 1 ใน 29 หรือ 3.5% เมื่ออายุ 60 ปี เป็นต้น
- เพศ เพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าเพศชาย เนื่องจากเต้านมของเพศหญิงมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนอเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน
- การบริโภค การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งบ่อยเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ และสูญเสียการควบคุมฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2-5 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่มถึง 1.5 เท่า
- การมีน้ำหนักมาก มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากไขมันในร่างกายจะทำหน้าที่หลักในการสร้างเอสโตรเจนแทนรังไข่ จึงเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
- ความเครียดและสภาวะแวดล้อม เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนไป การมีมลภาวะเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนว่าความเครียดเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่า การลดความเครียดสามารถเพิ่มความสามารถของภูมิต้านทานในร่างกาย และลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้
- การเป็นหมัน หรือใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากใช้ยาคุมกำเนิดในระยะเวลาจำกัดก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และหากหยุดยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปีแล้ว ความเสี่ยงจะไม่แตกต่างจากคนที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด
- การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนเป็นเวลานาน โดยเอสโตรเจนทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์เต้านมให้มีการเจริญเติบโต การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน จึงมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้
ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม?
โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการเกิดเซลล์มะเร็งเต้านม ได้แก่
- ผู้มีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป และอาจสูงถึงร้อยละ 50-60 เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง จะมีความเสี่ยง 3-4 เท่าในการเกิดก้อนมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้าง
- ผู้มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว หรือญาติสนิทเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ตัวคุณก็อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
- ผู้ที่ต้องมีการสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานานและบ่อย จะมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นได้ด้วย
- ผู้ที่ไม่ดูแลสุขภาพ เช่น ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย หรือปล่อยให้มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือได้รับรังสีในปริมาณสูงบ่อยๆ
- บุคคลอื่นๆ เช่น ผู้ที่เริ่มมีประจำเดือนมาครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ที่หมดประจำเดือนหรือวัยทองช้า ผู้ที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรยาก และผู้ที่เคยใช้ยากลุ่มฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี
มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ?
โดยทั่วไป มะเร็งเต้านมจะมีระยะเริ่มแรกที่เซลล์มะเร็งยังคงอยู่เฉพาะในเต้านม ไม่สามารถคลำหาก้อนผิดปกติที่เต้านมได้ และยังไม่มีการกระจายไปเนื้อเยื่อเต้านมหรือเนื้อเยื่อส่วนอื่น หากตรวจพบได้เร็วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ภายหลังจากตรวจพบเซลล์มะเร็งแล้วนั้น มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร และเริ่มลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แต่ยังไม่แพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น
- ระยะที่ 3 เป็นระยะลุกลาม พบได้มากที่สุด โดยก้อนมะเร็งอาจมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และลุกลามเข้าไปในต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ สามารถคลำพบก่อนที่รักแร้ แต่ยังไม่แพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นที่ห่างไกล
- ระยะที่ 4 เป็นระยะแพร่กระจาย เป็นระยะที่มะเร็งเต้านมแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นที่ห่างไกล เช่น ตับ ปอด กระดูก หรือสมอง เป็นต้น ซึ่งเป็นระยะที่โอกาสจะรักษาให้หายได้น้อยมาก ส่วนมากเป็นการรักษาเพื่อประคับประคอง เพื่อลดความเจ็บปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตเท่านั้น
มะเร็งเต้านมอาการเป็นอย่างไร?
ผู้ที่มีเซลล์มะเร็งเต้านมส่วนมากมักไม่มีอาการปรากฏให้เห็น จะมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีอาการและตัดสินใจมาพบแพทย์ ดังนั้นหากพบอาการใดๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
- มีก้อนหนาในเต้านมหรือใต้แขน
- บริเวณหัวนมบุ๋ม หรือเต้านมมีรูปร่างผิดไปจากเดิม
- มีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนมหรือมีแผลบริเวณเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลบริเวณหัวนมและรอบหัวนม
- เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
- ปวดบริเวณเต้านม
- ไม่มีอาการผิดปกติ แต่พบรอยโรคจากการตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวนด์เต้านม
ตรวจมะเร็งเต้านมทำยังไง?
มะเร็งเต้านมสามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยวิธีการ ดังนี้
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast Self Examination: BSE) ทำได้โดยยืนส่องหน้ากระจก และสำรวจเต้านมสองข้างว่าขนาดเท่ากันหรือไม่ หัวนมอยู่ในระนาบเดียวกันไหม ผิวเต้านม และหัวนมมีรอยบุ๋มหรือมีแผลผิดปกติไหม จากนั้นนอนราบโดยเอาแขนรองใต้ศีรษะ อาจใช้ผ้าเล็กๆ รองบริเวณไหล่เพื่อให้ตรวจได้ง่ายขึ้น จากนั้นคลำเต้านมให้ทั่วในลักษณะวนเป็นก้นหอย หรือคลำเป็นส่วนๆ ของเต้านมก็ได้ หากพบก้อนสะดุดมือผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อยืนยัน แต่การตรวจด้วยตัวเองควรตรวจหลังจากหมดประจำเดือน เนื่องจากเต้านมจะลดความตึงลงทำให้สามารถคลำได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่นของเดือน
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์ (Clinical Breast Examination: CBE) ผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าการตรวจด้วยตนเองไม่ได้ผิดพลาดไป หรือหากตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป
- การตรวจเต้านมโดยเครื่องแมมโมแกรม (Mammography) เครื่องเอกซเรย์แบบพิเศษ ที่จะมีฐานรองรับเต้านมและมีฝาอีกด้านประกบลงมา การตรวจด้วยเครื่องนี้จะทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น เช่น พบก้อนบริเวณเต้านม และหากพบ ก็จะทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์เต้านม เพื่อดูให้ละเอียดอีกครั้ง รวมถึงการตรวจความผิดปกติที่ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณรักแร้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการค้นพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกซึ่งไม่สามารถตรวจพบจากการตรวจร่างกายปกติ ด้วยการตรวจที่ถูกต้องให้ผลแม่นยำ และสามารถมองเห็นลักษณะของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดที่ชัดเจนได้ เช่น เนื้อเยื่อเต้านม หลอดเลือด ไขมัน หินปูน หรือกลุ่มแคลเซียมที่เกิดจากมะเร็งท่อน้ำนมในระยะแรก ก้อนเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก เป็นต้น
มะเร็งเต้านมรักษาอย่างไร?
วิธีการรักษามะเร็งเต้านมจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตำแหน่ง สุขภาพของผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยให้ตามแต่ละบุคคล ซึ่งการรักษามะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- การรักษาเฉพาะที่ ได้แก่ การผ่าตัดและการฉายรังสีที่เซลล์มะเร็งลุกลามในระยะที่ 1 และ 2 เพื่อควบคุมรอยโรคที่เต้านมและรักแร้ ซึ่งสามารถผ่าตัดได้ทั้งแบบสงวนเต้านมหรือผ่าตัดทั้งเต้านม หลังผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกไปจากร่างกายจนหมด จากนั้นจะต้องได้รับการฉายรังสีร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาเกิดมะเร็งอีก
- การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย ได้แก่ เคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมน เพื่อควบคุมเซลล์มะเร็งที่อาจกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย โดยการรักษารูปแบบนี้สามารถทำได้ทั้งแบบยาฉีด ยารับประทาน หรือยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ โดยหลักการของการรักษา คือ เมื่อยาเข้าไปในร่างกาย จะสามารถไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ไม่ว่าเซลล์นั้นจะอยู่ที่อวัยวะใด การรักษาแบบนี้ประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม ได้แก่ ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ยาต้านฮอร์โมน (Antihormonal Agents) การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) และยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด (Immunotherapy)
มะเร็งเต้านมป้องกันได้ไหม?
ปัจจุบันการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมไม่สามารถทำได้ 100 % เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมหลายอย่างมาก สิ่งที่ทำได้จึงเป็นการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุด ดังนี้
- การควบคุมน้ำหนัก ผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 10-15 กิโลกรัม อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 กิโลกรัมถึง 40%
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำในผู้ที่เคยได้รักษามะเร็งเต้านมได้ 20-30%
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ไม่กี่แก้วต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม รวมถึงแอลกอฮอล์ยังทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็งและยับยั้งความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็งด้วย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด หรือการรับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน เพราะปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและการรักษาด้วยฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน
- เพิ่มวิตามินดี ผู้ที่ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะมาจากการรับประทานอาหาร หรือได้รับจากแสงแดด มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมลดลง 50%
- ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสม่ำเสมอ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมเกรม เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะสามารถตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว ทำให้ได้รับการรักษาทันทีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งเต้านมมีโอกาสหายขาดได้
แม้มะเร็งเต้านม จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การหมั่นสังเกตด้วยตัวเอง และตรวจคัดกรองเป็นประจำทุก 3-5 ปี หรือตามที่แพทย์แนะนำ ก็จะช่วยให้พบความผิดปกติของโรคได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งทำให้การรักษาง่ายขึ้น และมีโอกาสหายได้มากขึ้นด้วย