ถั่วพู (Winged bean) เป็นพืชผักสวนครัว ที่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้ทุกส่วน เรียกว่าเป็นทั้งผักและสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อด้านสุขภาพร่างกายมากมาย
ชื่อถั่วพูในภาษาอังกฤษมีหลายชื่อเรียก เช่น cigarillas, Goa bean, four-angled bean, four-cornered bean, manila bean, princess bean, star bean, kamrangi bean, pea และ dragon bean
สารบัญ
คุณค่าทางโภชนาการของถั่วพู
ถั่วพูปริมาณ 100 กรัมประกอบไปด้วยพลังงาน 409 กิโลแคลอรี่
- โปรตีน 29.65 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 41.7 กรัม
- ใยอาหาร 25.9 กรัม
- ไขมันทั้งหมด 16.3 กรัม (โดยมีไขมันอิ่มตัว 2.3 กรัม, ไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 6 กรัม, ไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 4.3 กรัม)
- วิตามินบี 1 1.03 กรัม
- วิตามินบี 2 0.45 กรัม
- วิตามินบี 3 3.09 กรัม
- วิตามินบี 5 0.175 กรัม
- วิตามินบี 6 0.175 กรัม
- โฟเลต 45ไมโครกรัม
- แคลเซียม 440 มิลลิกรัม
- เหล็ก 13.44 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 179 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 3.721 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 451 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 977 มิลลิกรัม
- โซเดียม 38 มิลลิกรัม
- สังกะสี 4.48 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของถั่วพู
- ช่วยบำรุงกำลัง สำหรับคนที่มีอาการอ่อนเพลียหรืออ่อนล้า การรับประทานฝักอ่อนหรือจะนำเมล็ดแก่ไปตากแห้งมาบดแล้วชงกับน้ำร้อนเพื่อดื่มก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ช่วยให้สดชื่นขึ้น เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้
- ช่วยให้ฟันแข็งแรง เพราะในถั่วพูมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณสูง เมื่อรับประทานเป็นประจำจะช่วยให้ฟันแข็งแรงขึ้น แถมยังดีต่อการบำรุงกระดูกได้พร้อมกันด้วย
- ช่วยลดไข้ แก้ร้อนใน ถั่วพูเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยลดไข้ คลายอาการครั่นเนื้อครั่นตัวได้ และยังสามารถแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย
- มีไขมันอิ่มตัวที่ดีกับร่างกาย น้ำมันจากถั่วพู มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันพืช ไม่ก่อให้เกิดคอเลสเตอรอลในเลือด ทำให้ไม่เสี่ยงกับการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอไม่ให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพเร็ว รับประทานบ่อยๆ ในปริมาณที่พอเหมาะจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
- มีกากใยช่วยระบายท้อง ถั่วพูมีใยอาหารสูง หากนำมารับประทานไม่ว่าจะเป็นแบบดิบหรือสุกกับการทำเป็นเมนูอาหารต่างๆ เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก ยำ แกง เป็นดั่งยาระบาย ช่วยให้การขับถ่ายสะดวก หากเป็นราก สามารถนำมาใช้ทำเป็นยา จะสามารถช่วยแก้อาการปวดมวนท้อง โดยให้รสชาติขมเล็กน้อย
- ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม หากรับประทานถั่วพูเป็นประจำจะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมเพื่อนำไปใช้ได้มากถึง 40-50% เพราะในถั่วพูมีสารขัดขวางกระบวนการดูดซึมที่ต่ำนั่นเอง ซึ่งนอกจากการดูดซึมแคลเซียมที่ทำได้ดีแล้ว ย่อมส่งผลทำให้กระบวนการดูดซึมสารอาหารชนิดอื่นๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ในบางรายงานกล่าวว่า ถั่วพูมีคุณสมบัติช่วยลดการแบ่งเซลล์ของมะเร็งหรือป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง จึงสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม และส่งผลดีต่อฮอร์โมนเพศหญิง
ส่วนต่างๆ ของถั่วพูกับไอเดียการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพ
ถั่วพูในส่วนต่างๆ ก็สามารถนำไปทำเป็นยาได้ โดยพบได้ในตำรายาโบราณ ซึ่งเป็นการใช้พืชผักสวนครัวมาเป็นยารักษาโรคได้อย่างเห็นผล สำหรับส่วนต่างๆ ที่มักนำมาใช้เป็นยาก็มีดังนี้
- ราก ใช้มาต้มดื่ม เพื่อแก้อาการร้อนในตับ หรือหากมีอาการบวมในคอ สามารถใช้รากถั่วพูฝนกับสุราแล้วนำมาดื่ม อีกทั้งรากยังจะช่วยแก้โรคลมพิษ แก้อาการปวดท้องและรักษาสิวกับโรคผิวหนังบางชนิดได้อีกด้วย
- หัว สามารถนำมาใช้เป็นยาชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลียของผู้ป่วย โดยนำหัวถั่วพูหั่นตากแห้ง คั่วไฟให้เหลือง ชงกับน้ำร้อนแล้วนำมาใช้ดื่มเหมือนน้ำชา สำหรับบุคคลทั่วไปสามารถนำมาต้มหรือเผารับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งเมนูนี้อาจจะแปลกสำหรับคนไทย แต่กลับเป็นที่นิยมสำหรับชาวพม่ามานานแล้ว และก็นับเป็นยาบำรุงกำลังอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
- เมล็ด ให้คัดเอาเมล็ดถั่วพูมาต้มกินเพื่อบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง และช่วยเพิ่มกำลังได้พร้อมกัน วิธีคือ นำเมล็ดถั่วพูมาคัด แต่ต้องคัดเอาแต่เมล็ดแก่ที่เป็นสีน้ำตาลเข้มเท่านั้น ต้มให้สุกแล้วกรองเอาน้ำมาดื่ม หรือนำมาบดก่อนก็ได้ โดยดื่มก่อนทานอาหาร 3 เวลา ก็จะช่วยบำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดี
ข้อควรระวังในการรับประทานถั่วพู
เนื่องจากถั่วพู เป็นพืชที่อุดมไปด้วยโปรตีนสูงจากธรรมชาติ และถึงแม้จะสามารถนำถั่วพูมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนก็ตาม แต่ในทุกส่วนของถั่วพูกลับมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทริปซิน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถย่อยสลายโปรตีนหรือย่อยได้น้อยลง ดังนั้น จึงไม่ควรกินถั่วพูดิบมากจนเกินไป แต่ควรนำมาต้มให้สุกเสียก่อนก็จะได้ประโยชน์ทางสารอาหารอย่างเต็มที่ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้แล้ว
ถั่วพูจัดเป็นพืชผักที่มีดีเหนือกว่าพืชตระกูลถั่วทุกชนิด เพราะทุกส่วนของถั่วพูล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายอย่างแท้จริง จนนับว่าเป็นพืชใกล้ตัวที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร พร้อมสรรพคุณทางยาครบถ้วนชนิดที่ไม่ควรมองข้ามกันเลยทีเดียว
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับถั่วพู
ถั่วพู กินดิบได้ไหม ?
ถั่วพูสามารถกินดิบได้ แต่ควรล้างให้สะอาดก่อน เนื่องจากถั่วพูกินดิบอาจมีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงหรือเชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อน หากเป็นถั่วพูอ่อนจะมีรสชาติหวานกรอบ แต่ควรหลีกเลี่ยงการกินดิบในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก และในบางกรณีอาจเกิดอาการแพ้ได้
ถั่วพู ประโยชน์ โทษ มีอะไรบ้าง ?
ประโยชน์หลักๆ ของถั่วพู
- แหล่งโปรตีนและไฟเบอร์สูง ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและระบบขับถ่าย
- วิตามินและแร่ธาตุ มีวิตามิน A, C, และแคลเซียมที่ดีต่อกระดูกและฟัน
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ เนื่องจากอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
โทษและข้อควรระวังของถั่วพู
- หากกินดิบมากเกินไป อาจเสี่ยงต่ออาการท้องอืดหรือท้องเสีย
- ถั่วพูที่ไม่ได้ล้างสะอาด อาจมีสารเคมีตกค้างหรือเชื้อโรค
- ผู้ที่มีอาการแพ้ถั่ว ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค
ควรกินถั่วพูในปริมาณที่เหมาะสม และปรุงสุกในกรณีที่ต้องการลดความเสี่ยงจากสารปนเปื้อนหรือระบบย่อยอาหารทำงานหนักเกินไป