ผักกาดขาว ประโยชน์ สารอาหาร และเมนูแนะนำ

ผักกาดขาว เป็นพืชที่นิยมนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าต้ม  ผัด  แกง นึ่ง หรือเป็นผักเคียงกินกับน้ำพริก ส้มตำ ปลาเผาก็อร่อยเพลิน แถมยังได้ประโยชน์ ดีต่อสุขภาพชนิดที่คุณอาจคาดไม่ถึง ไม่แน่ว่าพออ่านบทความนี้จบ หนึ่งในเมนูอาหารของคุณในวันนี้อาจจะมีเมนูผักกาดขาวรวมอยู่ด้วยก็ได้

รู้จักผักกาดขาว

ผักกาดขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica chinensis (L.) Jusl มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนเมื่อราว 6-7 พันปีก่อนจึงมีชื่อสามัญว่า Chinese Cabbage  จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งเอเชีย  อเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย  โดยเฉพาะในเกาหลีที่นิยมนำผักกาดขาวมาทำเป็นส่วนผสมอาหารหลายเมนู ที่โด่งดังมากคือ “กิมจิ” อาหารเลื่องชื่อของเกาหลีนั่นเอง

ผักกาดขาวเป็นผักที่มีระบบรากตื้น ก้านใบใหญ่มีสีเขียวอ่อนออกขาว ใบอวบ มีความฉ่ำน้ำ เส้นลายของใบนูนเด่น แต่อาจมีลักษณะการห่อปลีแตกต่างไปตามแต่ละสายพันธุ์  สำหรับพันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ พันธุ์เข้าปลียาว พันธุ์เข้าปลีกลม และพันธุ์เข้าปลีหลวม  ผักกาดขาวสามารถรับประทานได้ทั้งแบบสดและปรุงสุก กรณีรับประทานสด รสชาติจะออกหวานเล็กน้อย ไม่ขม แม้แต่คนไม่ชอบรับประทานผักเพราะกลัวขมก็ยังรับประทานได้

ความแตกต่างของผักกาดขาวแต่ละสายพันธุ์

  1. พันธุ์เข้าปลียาว ลักษณะของปลีจะห่อยาวสูง หัวตั้งตรงเหมือนรูปไข่
  2. พันธุ์เข้าปลีกลมแน่น ลักษณะของปลีจะห่อรวมกันเป็นแบบทรงสั้น มีความอ้วนกลมกว่าพันธุ์เข้าปลียาว
  3. พันธุ์เข้าปลีหลวมหรือไม่ห่อปลี ลักษณะจะมีใบแบบไม่ห่อรวมตัวกันออกมาเป็นปลี  เป็นผักกาดที่มักพบมากในแถบเอเชีย สามารถปลูกได้กับทุกสภาพอากาศ แต่ไม่สามารถเก็บรักษาได้นานเหมือนพันธุ์ปลียาว แต่ผักกาดชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทย

คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดขาว

ผักกาดขาวจัดว่า เป็นพืชที่มีน้ำและเส้นใยเป็นส่วนประกอบหลักค่อนข้างสูง มีวิตามินและแร่ธาตุหลายอย่าง จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย และบำรุงสุขภาพได้ดี

ผักกาดขาว 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

ประโยชน์ของผักกาดขาว

1. กระตุ้นระบบขับถ่าย

มีน้ำและเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำเป็นส่วนประกอบหลักจึงทำให้อุ้มน้ำได้ดี เมื่อรับประทานผักกาดขาวลงไปจะส่งผลทำให้กากอาหารในลำไส้อ่อนนุ่ม ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น สำหรับผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำ แนะนำให้รับประทานผักกาดขาวบ่อยๆ จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

2. ป้องกันมะเร็งลำไส้

มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด มีเส้นใยอาหารสูงจึงทำให้ลำไส้สะอาดและช่วยขจัดสารพิษ นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายจึงลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดี

3. บำรุงเม็ดเลือดแดง

มีปริมาณโฟเลตสูงส่งผลดีต่อเม็ดเลือดแดง เหมาะสำหรับหญิงที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์เพราะร่างกายต้องการโฟเลตปริมาณมาก เพื่อนำไปเสริมพัฒนาการของทารกในครรภ์ช่วง 3 เดือนแรกให้เป็นปกติ และป้องกันภาวะหลอดเลือดประสาทไม่ปิด (Neural tube defect)

4. ทำให้ผิวสวย

มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมากทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง ป้องกันอาการเจ็บป่วยได้ดี  รวมทั้งช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากการถูกทำลาย ทำให้ผิวพรรณสดใส

5. บำรุงกระดูก

มีแร่ธาตุที่ดีต่อร่างกายหลายชนิดรวมถึงแคลเซียมซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง  การรับประทานผักกาดขาวเป็นประจำจะช่วยชะลอการเสื่อมของกระดูก  สำหรับเด็ก แคลเซียมที่ได้รับจะช่วยป้องกันโรคกระดูกอ่อนได้

6. ช่วยซ่อมแซมร่างกายและสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

มีกรดอะมิโนและโปรตีนจำนวนมากซึ่งทำหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอและเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้  จึงทำให้กล้ามเนื้อและเซลล์มีความแข็งแรง และช่วยลดอาการเจ็บป่วยได้อย่างดี

7. ช่วยลดไขมันเลว

มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันเลว ทำให้ร่างกายผลิตไขมันดีได้มากขึ้น ส่งผลให้ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. ทำให้รู้สึกสดชื่น

มีทองแดงซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ดีของร่างกาย  ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น ร่างกายมีแรงพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดี จึงส่งผลให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้นนั่นเอง

9. ลดน้ำหนัก

ผักกาดขาวให้รสหวานกรอบอร่อยแต่ไม่ทำให้อ้วนเพราะมีเส้นใยสูง  มีน้ำมาก และให้แคลอรีต่ำ จึงเหมาะที่จะรับประทานเป็นเมนูลดน้ำหนักได้ดีเพราะจะทำให้อิ่มนาน  ลดอาการหิวระหว่างมื้อได้

10. บรรเทาอาการไอ

มีวิตามินซีสูงมากจึงช่วยบรรเทาอาการไอ  เจ็บคอ  มีเสมหะในช่วงที่เป็นหวัดได้เป็นอย่างดีและยังสามารถลดไข้ได้อีกด้วย

11. ขับปัสสาวะ

ผักกาดขาวมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 96.6% จึงช่วยขับปัสสาวะและสารพิษออกจากร่างกายได้ดี ดังนั้นในคนที่มีปัญหาปัสสาวะไม่ออก เป็นนิ่ว หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ การรับประทานผักกาดขาวก็จะช่วยได้มากทีเดียว

12. ป้องกันโรคตาบอดกลางคืน

มีวิตามินเอและสารเบต้าแคโรทีนจำนวนมากจึงช่วยในการบำรุงสายตาและป้องกันโรคตาบอดกลางคืนได้  รวมถึงในคนที่ต้องใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน การรับประทานผักกาดขาวจะช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาและดูแลสุขภาพตาให้ดีอยู่เสมอได้

13. แก้โรคเหน็บชา

มีวิตามินบีช่วยบำรุงระบบประสาท จึงไม่ทำให้เกิดอาการเหน็บชา

ไอเดียกินผักกาดขาวให้อร่อยและดีต่อสุขภาพ

นอกจากผักกาดขาวจะเหมาะสำหรับการนำไปผัด ต้ม โดยเฉพาะเมนูแกงจืดและสุกี้ที่นิยมใส่ผักกาดขาวเป็นหลัก  เรายังมีไอเดียการกินผักกาดขาวให้อร่อยและดีต่อสุขภาพที่น่าสนใจอีกหลายเมนูไปดูกันเลย

1. ผักกาดขาวห่อหมู

โขลกพริกและกระเทียมให้ละเอียดเตรียมไว้ นำหมูสับมาหมักกระเทียม ใส่พริกไทย ซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย และน้ำตาลลงไปเล็กน้อย หมักทิ้งไว้ 30 นาที  นำผักกาดขาวลงไปลวกในน้ำเดือด เสร็จแล้วแช่ลงในน้ำเย็นจัด นำขึ้นมาสะเด็ดน้ำ ตัดก้านออกใช้เฉพาะส่วนใบ นำหมูสับมาใส่บนใบผักกาดขาว ห่อให้สวยงาม นำไปนึ่งในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที หรือจนกว่าจะสุก ตักขึ้นเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มสุกี้ เป็นเมนูลดน้ำหนักที่ทานได้แบบอิ่มอร่อยแถมไม่ทำให้อ้วนเลย

2. น้ำผักกาดขาว

ใส่ผักกาดขาวลงไปในโถปั่น ตามด้วยแอ๊ปเปิ้ลเขียว แล้วเติมน้ำสัปปะรดลงไป ปั่นจนทุกอย่างเข้ากันดี กรองเอากากออก เทใส่แก้ว เก็บไว้ในตู้เย็น นำออกมาดื่มยามว่าง เป็นน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพที่ได้สารอาหารจากผักกาดขาวอย่างครบเครื่อง

3. สุกี้แห้งผักกาดขาว

ตำกระเทียมกับพริกขี้หนู ตั้งหม้อต้มน้ำใส่เกลือลงไปเล็กน้อย นำผักกาดขาวลงไปลวก จากนั้นตักใส่น้ำเย็นแล้วบีบน้ำออกพักไว้ ลวกหมูจนสุกตักขึ้นพัก นำน้ำจิ้มสุกี้มาคลุกกับวุ้นเส้น นำกระทะขึ้นตั้งไฟใส่น้ำมันลงไปเล็กน้อย (กรณีกินลดน้ำหนักใส่แค่น้ำเปล่า หรือน้ำซุปแทนน้ำมันก็ได้) จากนั้นใส่กระเทียมและพริกขี้หนูที่เตรียมไว้ลงไปผัดจนหอม ตอกไข่ใส่ลงไป ยีไข่ให้เริ่มสุก ใส่วุ้นเส้น เติมน้ำลงไปเล็กน้อยเพื่อไม่ให้แห้งมาก ผัดจนกว่าวุ้นเส้นจะเริ่มสุก ใส่ผักบุ้งและขึ้นฉ่ายลงไปผัด ตามด้วยหมูหมัก ผักกาดขาวลวก ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและเติมน้ำจิ้มสุกี้ลงไปผัด  จากนั้นตักใส่จาน รับประทานคู่กับน้ำจิ้มสุกี้ได้เลย

ข้อควรระวังการบริโภคผักกาดขาว

1. หลีกเลี่ยงการกินตอนผักเริ่มเน่าเสีย  เนื่องจากผักกาดขาวมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากจึงเน่าเสียได้ง่าย สิ่งที่ต้องระวังคือ การกินผักกาดขาวตอนเน่าเพราะอาจทำให้เกิดพิษได้ง่าย เนื่องจากแบคทีเรียกับเกลือไนเตรตที่มีอยู่ในผักกาดขาวจะทำปฏิกิริยาต่อกัน ส่งผลทำให้ธาตุเหล็กและฮีโมโกบีนในร่างกายสูงขึ้นทำให้เลือดขาดออกซิเจนจนก่อให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง และอาจรุนแรงจนถึงขั้นหมดสติได้

2. ผู้ที่อาหารไม่ย่อย ม้ามพร่อง ควรเลี่ยง เพราะผักกาดขาวจะเข้าไปกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ให้ทำงานหนักมากยิ่งขึ้น จนอาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาดังกล่าวได้ แม้ว่าผักกาดขาวจะมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหารได้ก็ตาม

3. เสี่ยงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ผักกาดขาวจะช่วยในเรื่องของการขับปัสสาวะ หากรับประทานมากเกินไปก็จะส่งผลทำให้น้ำภายในร่างกายถูกขับออก เสี่ยงทำให้ไตมีโอกาสติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะได้มากขึ้น

4. เสี่ยงความดันโลหิตต่ำ ผักกาดขาวจะมีโพแทสเซียมที่ช่วยในการควบคุมระดับความดันโลหิต ถ้าหากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง  ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ รวมถึงอาการอื่นๆ ตามมาอีกได้

5. รบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ธาตุเหล็กที่อยู่ในผักกาดขาวมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคโลหิตจางได้ แต่หากได้รับมากเกินไปในจะส่งผลให้ร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เพราะรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไปด้วยนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ประโยชน์และสรรพคุณของผักกาดขาวนั้นมีมากมาย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีประโยชน์สูงสุดแนะนำให้รับประทานแบบสดมากกว่าปรุงสุกเพราะจะได้รับสารอาหารมากกว่า เนื่องจากสารอาหารส่วนมากจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้นั่นเองรวมทั้งต้องรับประทานอย่างพอดีไม่มากจนเกินไป


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top