ยาหอม เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ในการดูแลสุขภาพตั้งแต่บรรพบุรุษ สมัยก่อนยาหอมป็นยาที่ใช้สูดหรือดมเฉพาะในวังเท่านั้น จึงถือเป็นของหายาก แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ยาหอมก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มคนทั่วไป หลายคนคิดว่ายาหอมเหมาะสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงแล้วยาหอมเหมาะกับทุกวัย ที่น่าสนใจคือสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าแก้อาการวิงเวียน ทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่า ยาหอมคือยาที่ช่วยปรับธาตุดิน น้ำ ลม และไฟในร่างกายให้สมดุล คนสมัยก่อนจึงนิยมมียาหอมติดไว้ทุกบ้าน
สารบัญ
สรรพคุณของยาหอม
ยาหอมมีหลายตำรับ ทุกตำรับมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี แต่หากต้องการรักษาอาการบางอย่างโดยเฉพาะ ก็สามารถหายาหอมตำรับที่เหมาะสำหรับคุณโดยเฉพาะได้ ซึ่งสรรพคุณจะขึ้นอยู่กับสมุนไพรและตัวยาที่ใช้ปรุง เช่น มียาหอมตำรับแก้อาการใจสั่น หน้ามืด ปวดศีรษะ แก้ไข้ หรือแม้กระทั่งใช้แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ก็สามารถใช้ยาหอมบรรเทาอาการเบื้องต้นได้
ยาหอมฤทธิ์ร้อนกับยาหอมฤทธิ์เย็น
ยาหอมเป็นยาที่สามารถรับประทานได้แม้จะไม่มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งยาหอมแต่ละรับตำรับจะใช้สมุนไพรหลายชนิดมารวมกัน จึงสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้หลากหลาย แบ่งประเภทของยาหอมออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- ยาหอมฤทธิ์ร้อน ประกอบด้วยสมุนไพรรสร้อน เช่น เหง้าขิงแห้ง ดีปลี กานพลู ดอกจันทน์ เหง้ากระชาย เป็นต้น มีสรรพคุณช่วยขับลมกองหยาบบริเวณช่องท้อง หรือลมที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด อาหารไม่ย่อย เรอเหม็นเปรี้ยว (กรดไหลย้อน)
- ยาหอมฤทธิ์สุขุมเย็น ช่วยแก้อาการหน้ามืด ตาลาย ตาพร่า วิงเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่อยู่ หูอื้อ แก้ไข้ เสียดบริเวณหัวใจ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น รักษาอาการนอนไม่หลับ แก้อาการไฟระส่ำระสาย ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ทางแพทย์แผนไทยรวมเรียกอาการเหล่านี้ว่าเกิดจากลมกองละเอียด เป็นลมที่พัดอยู่บริเวณเบื้องบนศรีษะ
การเลือกใช้ยาหอมให้ถูกกับอาการเป็นสิ่งจำเป็น โดยผู้บริโภคหรือผู้ที่ใช้ยาควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดทุกครั้ง เพื่อการรักษาที่ตรงจุด ไม่รับประทานยาโดยเปล่าประโยชน์
5 ตำรับยาหอมสามัญประจำบ้าน
ตัวอย่างตำรับยาหอมที่มีสรรพคุณแตกต่างกัน เหมาะสำหรับมีติดบ้านไว้ มีดังต่อไปนี้
- ตำรับยาหอมนวโกฐ เป็นตำรับยาหอมที่เพิ่มความแรงในการบีบตัวของหัวใจ มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ป้องกันพิษไข้ ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว แก้ลมวิงเวียน คลื่นไส้ แก้ลมจุกอกในผู้สูงอายุ มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้อาการปวดท้องได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่าทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว ทำให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ช่วยแก้อาการปวดศีรษะไมเกรนได้
- ตำรับยาหอมอินทรจักร สรรพคุณคล้ายกับยาหอมนวโกฐ เพราะปรุงจากสมุนไพรรสร้อนเหมือนกัน สามารถบรรเทาอาการคลื่นไส้ แก้ลมจุกเสียด
- ตำรับยาหอมเทพจิตร มีดอกมะลิเป็นส่วนประกอบหลัก อุดมไปด้วยสารน้ำมันระเหยที่ชื่อว่าลินาลูล (Linalool) มีฤทธิ์ช่วยทำให้นอนหลับ มีส่วนประกอบของผิวเปลือกส้ม ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และมีสารจัสโมแลกโตนบี (Jasmolactone B) และจัสโมแลกโตนดี (Jasmolactone D) มีฤทธ์ิขยายหลอดเลือดและกระตุ้นหัวใจ แก้อาการหน้ามืดตาลาย แก้ลมวิงเวียน ตาพร่าจะเป็นลมได้ นอกจากนี้ยังช่วยแก้อาการคลื่นไส้ และบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่นได้อีกด้วย
- ตำรับยาหอมทิพโอสถ ช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากอาการไข้หวัด แก้ลมวิงเวียน
- ตำรับยาหอมแก้ลมวิงเวียน แก้ลมวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ
สมุนไพรหลักที่อยู่ในยาหอม
ขึ้นชื่อว่ายาหอม ส่วนใหญ่สมุนไพรหลักจะเน้นกลุ่มดอกไม้และเครื่องยาหอมที่มีกลิ่นเฉพาะตัว เช่น พิกุล มะลิ บุนนาค สารภี กฤษณา กระดังงา โกฐเชียง โกฐเขมา เป็นต้น นอกจากนี้ยาหอมบางตำรับอาจจะมีส่วนผสมของสมุนไพรหายากและมีราคาแพง เช่น ชะมดเช็ด (ต่อมน้ำมันหรือฟีโรโมน) ชะมดเชียง หญ้าฝรั่น (เกสรตัวเมียของพืชตระกูลพลับพลึง ใน 1 ดอก จะมีเพียง 7 เส้นเท่านั้น) พิมเสนที่เกิดจากธรรมชาติหรือพิมเสนที่เกิดจากปล้องไม้ไผ่ ซึ่งปัจจุบันยาไทยนิยมใช้พิมเสนสังเคราะห์ เพื่อความสะดวกในการหาวัตถุดิบ
เนื่องจากส่วนประกอบของยาหอมเป็นดังที่กล่าวไปนี้ ดังนั้นผู้แพ้เกสรดอกไม้จึงควรระมัดระวังการใช้ยาหอมด้วย
ยาหอมที่ขายในท้องตลาด มีรูปแบบไหนบ้าง
ส่วนใหญ่ยาหอมในท้องตลาดจะมีลักษณะเป็นผงยาละเอียด นอกจากนี้สามารถผลิตในรูปแบบของยาตอกเม็ด ยาลูกกลอน ไปจนถึงเป็นยาเม็ดแปะแผ่นทองคำเปลวบริสุทธิ์ก่อนที่จะนำยาไปอบแห้งอีกด้วย ทำให้ยาหอมน่ารับประทานขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น ทองคำเปลวที่ใช้ยังมีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณช่วยลดไข้และทำให้ผิวพรรณชุ่มชื่น ส่วนราคามีให้เลือกตั้งแต่ 20 บาทจนถึงหลักร้อย ขึ้นอยู่กับสมุนไพรในตำรับ
วิธีการใช้ยาหอมอย่างถูกต้อง
หากเป็นยาหอมชนิดผง ให้ตักยาหอมประมาณ 1 ช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุก ดื่มขณะที่ยังอุ่น จะช่วยให้น้ำมันหอมระเหยในสมุนไพรออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ถ้าเป็นชนิดเม็ด ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ดกับน้ำสะอาด ทั้ง 2 วิธีควรรับประทานทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ แต่ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ยารูปแบบผงละลายน้ำจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีกว่ายาเม็ด ทำให้ออกฤทธิ์เร็วกว่า หากมียาเม็ดอยู่แล้วและอยากให้ออกฤทธิ์เร็ว สามารถนำมาตำแล้วละลายน้ำรับประทานได้เช่นกัน
ข้อควรระวังการใช้ยาหอม
ระวังในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ผู้ที่มีอาการเลือดออกง่าย หรือผู้ที่รับประทานยากลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) แอสไพริน (Aspirin) เป็นต้น เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาต่อยาทั้งสองได้ รวมไปถึงผู้ที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด แนะนำว่าไม่ควรรับประทานยาหอม เนื่องจากยาหอมมีสรรพคุณที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาจส่งผลกระทบทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
ยาหอมเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 สามารถแก้อาการหลายอย่างที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน
เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD