ความต้องการทางเพศ (Libido) และเพศสัมพันธ์ (Sexual intercourse) เป็นเรื่องพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้คู่แต่งงานบางคู่ต้องถึงขั้นหย่าร้าง
สิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ ความเสื่อมของสุขภาพโดยรวมตามอายุ โดยเพศชายและเพศหญิงจะมีความแตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างของร่ายกาย ระบบฮอร์โมน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศด้วย นอกจากนี้ ความเครียดและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง
การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Sexual dysfunction) เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่ง หากปล่อยไว้ให้เรื้อรังอาจจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ หรือนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่ครอง
การเสื่อมสมรรถภาพสามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกัน เช่น ในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือนฮอร์โมนเพศมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง ประกอบกับปากช่องคลอดมีสารให้ความหล่อลื่นน้อยลง จึงทำให้มีความรู้สึกเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ในที่สุด
ส่วนเพศชาย เมื่อมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ ก็ทำให้สมรรถภาพโดยรวมของร่างกายลดลงเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ รวมถึงเวลามีเพศสัมพันธ์ก็จะรู้สึกเหนื่อยมาก อัตราการมีเพศสัมพันธ์จึงลดลง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์การแพทย์และกายภาพบำบัดได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขและฟื้นฟูผู้ที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอย่างมาก ทำให้สามารถแก้ปัญหาอย่างค่อนข้างได้ผล และปลอดภัย
สารบัญ
การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศคืออะไร?
การหย่อนยานหรือการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อาจจะนิยามได้กว้างๆ ว่ามีการตอบสนองทางเพศลดลง จนทำให้เกิดความไม่พอใจหรือกังวลใจต่อคู่นอน
การศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้ให้นิยามไว้ว่า การเสื่อมสมรรถภาพนั้นควรจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ใน 4 ส่วนของความพยายามมีเพศสัมพันธ์ และต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป
เช่น สามีภรรยาที่แต่งงานแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามเริ่มมีเพศสัมพันธ์รวม 4 ครั้ง และอีกฝ่ายไม่สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้ 3 ครั้ง เป็นแบบนี้ซ้ำๆ เป็นระยะเวลารวม 6 เดือน นั่นถือว่าฝ่ายที่ไม่สามารถตอบสนองได้มีการเสื่อมสมรรถภาพ
อย่างไรก็ตาม ถ้าคู่สามีภรรยาทั้งสองต่างฝ่ายต่างไม่มีความต้องการทางเพศเลยเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 6 เดือน ถึงแม้จะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กันเลย ในกรณีนี้ถือว่าไม่มีฝ่ายใดเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพราะตามนิยามให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อความต้องการทางเพศที่เกิดขึ้น มากกว่าจำนวนครั้งในการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง
สาเหตุของการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศมีอะไรบ้าง?
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสาเหตุของการมีเพศสัมพันธ์นั้นมีหลากหลายมาก ในที่นี้จะขอแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
- ปัญหาสุขภาพ ความบกพร่องหรือผิดปกติของร่างกายหลายชนิด สามารถส่งให้ให้สมรรถภาพทางเพศลดลงได้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้
- ปัญหาสุขภาพที่เกิดกับอวัยวะสืบพันธ์และระบบสืบพันธ์โดยตรง เช่น การไม่แข็งตัวและการหลั่งเร็วของเพศชาย การถึงจุดสุดยอดยาก และการที่ช่องคลอดมีสารหล่อลื่นน้อยในผู้หญิงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่มีผลให้ความต้องการทางเพศลดลงในวัยกลางคนและวัยสูงอายุของทั้งสองเพศ เป็นต้น
- ปัญหาที่เกิดจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดผลทางอ้อมต่อการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเสื่อม มะเร็ง ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อสมรรถภาพโดยรวมของร่างกายให้ไม่สามารถทำกิจกรรมได้เต็มความสามารถ เนื่องจากการเหนื่อยหอบ การอยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่งนานๆ ไม่ได้ จึงส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศในที่สุด
- ปัญหาด้านอารมณ์และสังคม เนื่องจากมนุษย์ในปัจจุบันมีแนวโน้มเผชิญกับความเครียดมากขึ้น ส่งผลให้มีอารมณ์ทางเพศลดลงการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งอาจจะมีผลดีต่อการมีเพศสัมพันธ์ระยะแรก แต่ส่งผลเสียในระยะยาว หรือการสูบบุหรี่ก็สามารถส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ นอกจากนี้ ประสบการณ์ไม่ดีที่มีต่อเพศสัมพันธ์ครั้งก่อนๆ ก็มีผลต่อการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศมาก เช่น ผู้หญิงที่มีเพศสัมพัน์แล้วเจ็บมากอาจฝังใจจนไม่อยากมีเพศสัมพันธ์อีก หรือผู้ชายที่หลั่งเร็วจนหมดความมั่นใจในตนเองก็จะไม่อยากมีเพศสัมพันธ์อีก เป็นต้น
ระบบฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือไม่ อย่างไร?
ระบบการทำงานของฮอร์โมนเพศของเพศชายกับเพศหญิงแตกต่างกัน ในหนึ่งรอบเดือน ฮอร์โมนของเพศหญิงจะเปลี่ยนแปลงเป็นวงจร ในขณะที่ฮอร์ของเพศชายนั้นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย
นอกจากนี้เพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยทอง (Menopause) แล้ว ฮอร์โมนเพศจะน้อยลงมาก ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลงไปด้วย เพราะฮอร์โมนเพศของเพศหญิงส่วนใหญ่ผลิตจากรังไข่ และเปลี่ยนแปลงไปตามวงจรการตกไข่ซึ่งมีจำนวนจำกัด
ในขณะที่ฮอร์โมนเพศชายผลิตจากอัณฑะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เพศชายมักจะมีความต้องการทางเพศได้เกือบตลอดตลอดช่วงอายุขัย
ฮอร์โมนเพศมีด้วยกันหลายตัว บางส่วนอาจจะไม่ได้ผลิตจากอวัยวะสืบพันธ์ ฮอร์โมนเพศหญิงกับชายมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- ฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogens) ส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นโดยรังไข่ (Ovaries) มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนารูปลักษณ์ของเพศหญิง (Female sex characteristics) เช่น ทำให้หน้าอกขยายขนาด เอวขอด เสียงแหลมเล็ก และเตรียมมดลูกให้พร้อมกับการตั้งครรภ์ เป็นต้น
- ฮอร์โมนเพศชาย (Androgens) ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นโดยอัณฑะ (Testes) และต่อมหมวกไต (Adrenal glands) มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนารูปลักษณ์ของเพศชาย (Male sex characteristics) เช่น มีขนดก กล้ามเนื้อกำยำ และเสียงห้าวทุ้ม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพศหญิงก็มีความต้องการฮอร์โมนเพศชาย ทำให้ร่างกายก็ผลิตฮอร์โมนเพศชายออกมาด้วยแต่ในปริมาณน้อยกว่า และอาจมีหน้าที่สำคัญที่ไม่ได้เกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ เช่น ควบคุมความหนาแน่นของมวลกระดูก
ในทางตรงกันข้าม เพศชายก็ต้องการฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณน้อยกว่าฮอร์โมนเพศชายเช่นกัน
การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่พบบ่อยและวิธีรักษา
การรักษาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นขึ้นกับสาเหตุของการเสื่อมสมรรถภาพนั้น แพทย์จะต้องทำการตรวจร่างกายและหาสาเหตุที่ชัดเจน ก่อนจะส่งต่อผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่างๆ หรือนักกายภาพบำบัด ตามความเหมาะสม เช่น
- หากปัญหาหลักที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นมากจากการบกพร่องของฮอร์โมนชนิดใดชนิดหนึ่ง แพทย์อาจจะพิจารณาส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrinologist) เพื่อบำบัดด้วยการให้ฮอร์โมนเสริม
- หากพบว่าปัญหามาจากความไม่มั่นใจหรือประสบการณ์มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ดี ก็อาจจะส่งผู้ป่วยไปปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านจิตวิทยา (Psychiatrist)
- หากพบว่าปัญหาของผู้ป่วยเกิดจากสมรรถภาพโดยรวมของร่างกายที่ลดลง การทำงานของกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทที่บกพร่อง สามารถแก้ไขด้วยด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดก็จะส่งผู้ป่วยมาปรึกษานักกายภาพบำบัด
การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่พบได้บ่อยในเพศชายคือ การไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศ (Erectile dysfunction) กล้ามเนื้ออวัยวะเพศชายเป็นกล้ามเนื้อคล้ายฟองน้ำ แข็งตัวเมื่อดูดซับเลือดมาขังไว้ หากมีความเครียดเส้นเลือดก็จะหดตัว ทำให้ไม่เกิดการแข็งตัว หรือหากเส้นประสาทรับความรู้สึกและสั่งการให้เกิดการแข็งตัว (Pudendal nerve) มีปัญหา ก็จะส่งผลให้เกิดการแข็งตัวได้
การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่พบได้บ่อยในเพศหญิงหญิง คือ กล้ามเนื้อุ้งเชิงกรานหย่อนยาน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หลังตั้งครรภ์และอายุที่มากขึ้น มักสังเกตได้จากการมีปัสสาวะเล็ด โดยเฉพาะเวลาไอหรือจาม ซึ่งทั้งสองอาการก็มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย และวิธีการที่ได้รับความนิยมมากวิธีหนึ่งก็คือการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด
การฟื้นฟูที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วยกายภาพบำบัด
โดยทั่วไปแล้ว การรักษาทางกายภาพบำบัดจะต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ตามอาการและความรุนแรงของอาการ โดยในที่นี้จะขอแบ่งวิธีการรักษาออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- การออกกำลังกาย (Exercise therapy) เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งในผู้ป่วยเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยจะใช้การออกกำลังกายเฉพาะส่วน เช่น การฝึกเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เป็นต้น นอกจากนี้การฝึกกลั้นปัสสาวะก็ยังเป็นวิธีที่นิยมใช้ เพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งด้วย
- การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด (Physical modalities) เช่น ในผู้ป่วยเพศหญิงที่มีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนตัว หรือเพศชายที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวนักกายภาพอาจจะพิจารณาให้การรักษาด้วยการระตุ้นไฟฟ้า (Electrical stimulation) เบาๆ เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อนั้นทำงาน นอกจากนี้อาจจะให้ผู้ป่วยเกร็งตามจังหวะการกระตุ้นของไฟฟ้าไปด้วยก็ได้
- ให้ความรู้ (Education) แก่ผู้ป่วย ในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง เคยผ่าตัดกระดูกสันหลัง หรือมีข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งเสื่อม นักกายภาพบำบัดควรจะให้คำแนะนำเรื่องท่าทางที่เหมาะสมขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวด รวมถึงข้อห้ามและข้อควรระวังระหว่างมีเพศสัมพันธ์
กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคหัวใจหรืออยู่ในช่วงหลังผ่าตัดหัวใจ ควรระวังท่าทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นพิเศษ เพราะแต่ละท่าทางใช้พลังงานต่างกัน ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ ความหนักของการออกกำลังกายและทำกิจกรมมต่างๆ จะถูกกำหนดเป็นหน่วยที่แตกต่างจากการออกำลังกายในผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ คือ จะเป็นหน่วยของการใช้พลังงานที่เปรียบเทียบกับการใช้พลังงานขณะพัก (Metabolic Equivalent of Task: MET) ระยะเวลาพักหลังผ่าตัดก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ได้ใหม่ และความหนักของการมีเพศสัมพันธ์ จะต้องถูกควบคุมด้วยระดับความเหนื่อยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไป
เพศสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของการของการดำรงชีวิตประจำวันอย่างปกติ การเสื่อมสมรรถภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งจากสาเหตุของอวัยวะและการทำงานของระบบสืบพันธ์เอง หรือจากสาเหตุอื่นๆ ถึงแม้การพูดเรื่องเพศจะยังคงป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย แต่ผู้ให้บริการทางด้านสาธารณะสุขเข้าใจ และมองเป็นปัญหาสุขภาพชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ปัญหาสุขภาพชนิดอื่นๆ หากมีปัญหาควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันทีไม่ควรอาย เพราะการรักษาแต่เนิ่นๆ ย่อมให้ผลการรักษาที่ดีกว่า และสามารถควบคุมอาการไม่ให้ลุกลามได้ดีกว่า
เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล