ก้อนที่คอ มีหลายขนาด ตั้งแต่เล็กมากจนแทบไม่รู้ว่ามี หรือเป็นก้อนใหญ่ คลำเจอได้ง่าย ๆ ก้อนที่คอมีทั้งแบบไม่อันตรายและแบบอันตราย
ก้อนบางก้อนไม่เป็นอันตราย และอาจหายไปได้เอง แต่บางก้อนอาจเป็นอันตราย เสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้ายได้ ควรรีบไปพบแพทย์
บทความนี้จะพามารู้จักกับก้อนที่คอ พบแล้วต้องทำอย่างไร แบบใดปกติ แบบใดอันตราย พบแล้วต้องทำอย่างไรต่อ อันตรายหรือไม่ และคลายข้อสงสัยด้วยคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับก้อนที่คอ
สารบัญ
ก้อนเนื้อที่คอ ตำแหน่งไหนบอกอะไรได้บ้าง
ก้อนที่คออาจเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ ตำแหน่ง เช่น ตรงกลาง ข้างซ้าย ข้างขวา ด้านหลัง ซึ่งแต่ละตำแหน่งก็จะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป
กายวิภาคบริเวณคอ (Neck anatomy) แบ่งคอออกเป็น 2 ฝั่งจากตำแหน่งกึ่งกลาง ได้แก่ ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ทั้งสองฝั่งสมมาตรกัน
แต่ละฝั่งจะแบ่งโดยกล้ามเนื้อที่ยึดส่วนบนของกระดูกอก (Sternum) และกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) ไปยังกระโหลกศีรษะด้านหลังใบหู (Mastoid process of the skull) มีชื่อเรียกว่า “Sternocleidomastoid muscle”
การแบ่งโดยกล้ามเนื้อนี้ ทำให้คอมีพื้นที่ใหญ่ ๆ ด้วยกัน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่สามเหลี่ยมด้านหน้า (Anterior triangle) และพื้นที่สามเหลี่ยมด้านหลัง (Posterior triangle)
การแบ่งพื้นที่ในลักษณะนี้จะช่วยให้แพทย์คาดการณ์สาเหตุของก้อนที่คลำได้ในบริเวณต่าง ๆ ของลำคอ เพราะแต่ละตำแหน่งก็จะบ่งบอกถึงอวัยวะและการทำงานที่แตกต่างกัน ทั้งการไหลเวียนเลือด หรือระบบน้ำเหลือง
ตัวอย่างเช่น
- ถ้าคลำเจอก้อนบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมส่วนหน้า ใต้ขากรรไกร (ข้างหน้า) อาจเกิดจากการอักเสบ การติดเชื้อ หรือมีเนื้อร้ายบริเวณลิ้นส่วนหน้า ด้านล่างของช่องปาก เหงือก หรือกระพุ้งแก้ม
- ถ้าคลำเจอก้อนบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมส่วนหลังเหนือกระดูกไหปลาร้า (ข้างหลัง) อาจมีเนื้อร้ายที่ระบบทางเดินอาหารหรือระบบสืบพันธุ์
ก้อนที่คอ เกิดจากอะไร
ก้อนที่คอเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งตามระยะเวลาในการพบก้อนที่คอได้ ดังนี้
ก้อนที่คอเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน (Acute neck masses)
พบก้อนที่คอทันที หรือพบภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ส่วนใหญ่จะมีอาการร่วมด้วย เช่น เจ็บบริเวณก้อน เจ็บคอ กลืนเจ็บ
สาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น อาจถูกกระทบกระแทก ทำให้เกิดอาการช้ำจนมีเลือดออกใต้ผิวหนัง (Hematoma) และเกิดก้อนขึ้นมา อาจมาจากต่อมน้ำเหลือง (Lymphadenitis) หรือต่อมน้ำลาย (Acute sialadenitis) ติดเชื้อ เป็นไปได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
ก้อนที่คอเกิดขึ้นกึ่งเฉียบพลัน (Subacute neck masses)
พบก้อนที่คอในระยะเวลาประมาณหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำลาย (Chronic sialadenitis) มักจะมีอาการเจ็บหลังจากทานอาหาร
รวมถึงมะเร็งของระบบน้ำเหลือง (Lymphoma) มะเร็งของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper aerodigestive tract squamous cell carcinoma) หรือมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะหรือระบบอื่น (Metastatic cancer) เช่นกัน
ก้อนที่คอที่เกิดขึ้นมานานแล้ว (Chronic neck masses)
พบก้อนที่คอมาเป็นเวลานาน อาจจะหลายปี หรือเป็นมาตั้งแต่กำเนิด สาเหตุที่เป็นไปได้คือ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (Enlarged thyroid) ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules) หรือก้อนไขมัน (Lipoma)
รวมถึงก้อนซีสต์ที่เกิดจากการพัฒนาผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (Thyroglossal duct cyst) ซึ่งจะพบก้อนนี้ตั้งแต่กำเนิด มีลักษณะขยับขึ้นลงได้ตามการกลืน
คลำเจอก้อนที่คอ ต้องทำอย่างไร
ก้อนเนื้อที่คอบางก้อนไม่เป็นอันตรายมาก เมื่อรักษาสาเหตุหรือกำจัดปัญหาได้แล้ว ก้อนก็อาจหายไปเอง ส่วนใหญ่จะเป็นก้อนที่เกิดขึ้นเฉียบพลันหลังจากการติดเชื้อ
แต่ก้อนเนื้อที่คอบางก้อนก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่น ก้อนที่เกิดจากการบาดเจ็บบริเวณคอ ทำให้ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ บางก้อนเสี่ยงกลายเป็นเนื้อร้าย หรือทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายผิดปกติได้ อย่างโรคไทรอยด์เป็นพิษ
ดังนั้น ถ้าคลำเจอก้อนที่คอ ควรสังเกตดูว่าเป็นบริเวณไหน มีอาการเจ็บมากน้อยเท่าไร และไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาที่ตรงจุด
ก้อนที่คอกลิ้งได้ กดเจ็บ กดไม่เจ็บ แบบไหนอันตราย
ก้อนที่คอที่กลิ้งได้ เจ็บบริเวณก้อน และมีขนาดเล็ก มีโอกาสเป็นเนื้อร้าย แต่ยังอันตรายน้อยกว่าก้อนที่ฝังติดอยู่กับผิวหนังหรืออวัยวะใกล้เคียง ขยับไม่ได้ ไม่เจ็บ และมีขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ก้อนที่สงสัยว่าอาจเป็นเนื้อร้ายจะมีลักษณะ ดังนี้
- เป็นก้อนที่เกิดขึ้นมานานกว่า 2–3 สัปดาห์
- ก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีขนาดเล็กลง แต่ก็ไม่หายไปเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ
- ก้อนที่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการกลืน เช่น กลืนลำบาก หรือกลืนติด
- พบก้อนร่วมกับมีอาการเสียงแหบ หายใจติดขัด หรือน้ำหนักลดผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องมีอาการเหล่านี้เพียงอย่างเดียว การวินิจฉัยนั้นต้องมีการตรวจร่างกาย และต้องอาศัยประวัติอื่น ๆ ร่วมด้วย ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นเนื้อร้าย จะมีการส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิ (Pathological diagnosis) เพิ่มเติมด้วย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับก้อนที่คอ
Q1: มีก้อนที่คอข้างขวา เล็กกว่า 1 ซม. กลิ้งไปกลิ้งมาได้ กดเจ็บค่ะ
A1: แนะนำให้ตรวจกับแพทย์ที่ รพ. เนื่องจากต้องอาศัยการตรวจร่างกายที่ละเอียด ดูลักษณะก้อน ขนาด ลักษณะพื้นผิว (เรียบหรือขรุขระ) ผิวสัมผัส (อ่อนนุ่ม แน่น แข็ง หรือเป็นถุงน้ำ) เคลื่อนที่ได้หรือยึดติด ลักษณะกดเจ็บ ตำแหน่งก้อน (ต้องดูละเอียดว่า ก้อนอยู่ส่วนไหนของคอ อยู่ใกล้อวัยวะหรือเส้นเลือดสำคัญหรือไม่)
เมื่อตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะประเมินต่อว่า ก้อนที่ตรวจเจอ จะกรีดหรือดูด (กรณีเป็นถุงน้ำ) ออกได้เลย หรือต้องไปอัลตราซาวด์เพิ่มเติมอีก แล้วจึงวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคอะไรครับ
ตอบโดย นพ. ธีร์ธวัช สถิรรัตน์
Q2: คลำเจอก้อนอะไรไม่รู้ ข้างลำคอด้านขวา ตอนแรกเจอก้อนเดียว อีกไม่กี่สัปดาห์ ก็เจออีกก้อนแล้ว เวลาเอามือไปโดนจะรู้สึกปวด ๆ นิด ๆ ตื่นนอนก็จะรู้สึกเจ็บคอ เกี่ยวกับการพักผ่อนน้อยรึเปล่าคะ
A2: น่าจะเกิดการอักเสบติดเชื้อในคอครับ โดยเฉพาะถ้ามีอาการปวด บวม แดง ร้อนหรือมีไข้ แต่เบื้องต้นยังบอกได้ไม่แน่ชัดนะครับ ว่าเป็นก้อนอะไร เพราะก้อนที่คอแล้วอักเสบนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ
อย่างไรก็ตาม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจก้อนบริเวณดังกล่าวก่อนนะครับ
ตอบโดย นพ. สารินทร์ สีหมากสุก
Q3: มีก้อนแข็งที่ลำคอข้างซ้าย กลืนน้ำลายรู้สึกเจ็บคอนิด ๆ ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรคะ
A3: สำหรับก้อนที่คอนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุมากๆ ครับ ขึ้นอยู่กับประวัติที่ได้ รวมถึงการตรวจร่างกายโดยเฉพาะบริเวณคอครับ แยกได้เป็นก้อนไทรอยด์ หรือไม่ใช่ก้อนไทรอยด์ ซึ่งตำแหน่งของคุณบอกว่าข้างซ้าย
ดังนั้น โอกาสที่จะเป็นก้อนของไทรอยด์นั้นน้อยมาก ๆ และก้อนที่ไม่ใช่ไทรอยด์ 80% มักเป็นเนื้องอก ส่วนอีก 20% มักเกิดจากการ อักเสบติดเชื้อ เป็นตั้งแต่กำเนิด หรือมาจากอุบัติเหตุครับ
และคุณบอกว่า เพิ่งพบวันนี้วันแรก ดังนั้น โอกาสที่จะเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากประสบอุบัติเหตุก็จะน้อยลง
ผมจึงคิดว่าก้อนดังกล่าวน่าจะมาจากการอักเสบติดเชื้อบริเวณคอมากกว่าครับ เพราะถ้ามีการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณลำคอ เช่น หวัด ฟันผุ ฯลฯ แล้ว ก็จะทำให้ต่อมนำ้เหลือง (ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรค) บริเวณคอโตขึ้นมาได้เช่นกัน
โดยต่อมน้ำเหลืองดังกล่าว ถ้าคลำได้ จะมีลักษณะนิ่ม ๆ หยุ่น ๆ โยกไปมาได้ มักจะโตไม่เกิน 2 ซม. ตรงด้านข้างที่มีการอักเสบติดเชื้อมากกว่าครับ ถ้าไม่มั่นใจยังไง ไปพบแพทย์หรือคลินิกใกล้บ้านได้ครับ เนื่องจากก้อนที่คอ ควรให้แพทย์ดูหรือคลำก้อนดู ก็จะพอบอกสาเหตุของโรคได้ครับ
ตอบโดย นพ. สารินทร์ สีหมากสุก
A3: อาจเกิดการติดเชื้อทำให้ทอนซิลอักเสบ มีอาการปวด บวม แดง ซึ่งทอนซิลจะอยู่ในตำแหน่งด้านข้างของลำคอทั้งสองข้าง ซ้ายและขวา
วิธีบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นคือ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นเยอะ ๆ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน กินอาหารอ่อน ๆ ใช้น้ำอุ่นผสมเกลือกลั้วคอ 2–3 ครั้งต่อวัน ถ้าปวดมากก็อมน้ำแข็งบรรเทาปวดได้ หากอาการไม่ดีขึ้นต้องไปพบแพทย์ค่ะ
โดยปกติ เมื่อเป็นทอนซิลอักเสบแบบเฉียบพลัน จะรักษาให้หายได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ เกิน 7 ครั้งภายใน 1 ปี อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเจ้าต่อมทอนซิลออกไป
ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
เจอก้อนที่คอ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าต้องไปหาหมอหรือเปล่า ให้แอดมินของ HDmall ช่วยจองคิวประเมินอาการกับคุณหมอให้ คลิกเลย! หรือคลิกเข้าไปดูแพ็กเกจตรวจหู คอ จมูก จากรพ. และคลินิกใกล้บ้านคุณที่เรารวบรวมไว้ให้ได้ ที่นี่ คุณภาพดี จองตอนนี้มีส่วนลด!
เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล