ยาคลายเครียด

ยาคลายเครียด

ความเครียด เป็นสิ่งที่หลายคนต้องเผชิญหน้ากันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับไม่สนิท

การนอนไม่เพียงพอถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิ อ่อนเพลียง่าย หรือบางรายอาจถึงขั้นเก็บเนื้อเก็บตัวจนเกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้ 

ถ้าคุณประสบปัญหานอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 3 อาทิตย์ขึ้นไป แปลว่าคุณกำลังเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังอยู่ ทางที่ดีควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางรักษา ไม่ให้อาการเหล่านี้กระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพร่างกายในระยะยาว 

บทความนี้จะมาบอกตัวช่วยในการลดความเครียด ทั้งแนวทางที่ทำได้เอง วิธีใช้ยาคลายเครียดตามที่หมอจ่าย รวมถึงข้อควรระวังในการใช้ยาเหล่านี้ด้วย

แนวทางการลดความเครียด

ถึงการกินยาจะดูเป็นวิธีที่เห็นผลไวกว่า แต่จริง ๆ แล้ว ถ้ามีเรื่องเครียด เบื้องต้นควรหาทางจัดการโดยยังไม่ใช้ยาก่อน อาจลองหาต้นตอให้เจอ แล้วระบายหรือปรับทุกข์กับคนสนิท 

นอกจากการระบายหรือออกไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง วิธีอื่น ๆ อย่างการทำอะไรที่ชอบ เช่น งานอดิเรก หรือการออกกำลังกาย ก็เป็นตัวช่วยลดความเครียดได้เหมือนกัน 

ถ้ายังจัดการกับความเครียดไม่ได้สักที การปรึกษาหมอก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งหมออาจจ่ายยานอนหลับหรือยาคลายเครียด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการรักษา ในหัวข้อถัดไป เราจะมาดูกันว่ายาคลายเครียดมีอะไรบ้าง

กลุ่มยาคลายเครียด

ยาคลายเครียดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants: TCAs) 

ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิกมียาหลายตัวอยู่ด้วยกัน โดยยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เป็นยาคลายเครียดและใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้าที่หมอนิยมจ่าย ส่วนตัวยาอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ เช่น ยานอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) ยาโพรทริปไทลีน (Protriptyline) ยาไทรมิพรามีน (Trimipramine) 

ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิกจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาทเอพิเนฟรีน (Epinephrine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมองจึงมีสารเหล่านี้เพิ่มขึ้น ทำให้วิตกกังวลน้อยลง อารมณ์ดีขึ้น และนอนหลับได้ดีขึ้นด้วย 

นอกจากคลายเครียดและรักษาอาการซึมเศร้า ยากลุ่มนี้ยังใช้รักษาโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ป้องกันอาการปวดไมเกรน รักษาอาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นโรคงูสวัด หรือรักษาโรคสมาธิสั้น

ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง อยากอาหารมากขึ้น หรือท้องผูก

2. ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีน (Benzodiazepine)

ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีนมีอยู่หลายตัว โดยยาลอราซีแพม (Lorazepam) เป็นยาที่นิยมใช้คลายเครียดสำหรับคนที่เครียดแล้วนอนไม่หลับ มีอาการกระวนกระวาย วิตกกังวล ชัก รวมถึงบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรักษาโรคมะเร็งด้วย  

ยาลอราซีแพมจะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง จึงช่วยลดการทำงานของประสาท ทำให้คลายความวิตกกังวลง่วงนอน ต้านอาการชัก และช่วยคลายกล้ามเนื้อ

ตัวอย่างยาอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam)
  • ยาไดอะซีแพม (Diazepam)
  • ยาแอลพราโซแลม (Alprazolam)
  • ยาไมด้าโซแลม (Midazolam)
  • ยาคลอราซีเพต (Clorazepat)

ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีนเป็นยานอนหลับชนิดออกฤทธิ์เร็ว ทำให้หลับหลังกินยาประมาณ 15–30 นาที เหมาะสำหรับคนหลับยาก แต่จัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จึงต้องสั่งจ่ายโดยหมอเท่านั้น หาซื้อเองตามร้านขายยาทั่วไปไม่ได้ 

นอกจากนี้ ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีนยังมีข้อควรระวังด้วย เพราะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อมอมเมาและก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ หรือที่คนเรียกกันว่า “ยาเสียสาว” และอาจทำให้เสพติดได้

ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น สูญเสียการทรงตัว สับสน จำอะไรได้ไม่นาน แต่ก็ยังเป็นยาที่แพทย์นิยมใช้เพื่อลดความกังวล และช่วยเรื่องการนอนหลับมากที่สุด

3. ยากลุ่มยับยั้งการเก็บกลับของซีโรโทนินในสมอง (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)

ยากลุ่มยับยั้งการเก็บกลับของซีโรโทนินในสมอง หรือยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอมีอยู่หลายตัว โดยยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) เป็นยาในกลุ่มที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายเพื่อคลายเครียดมากที่สุดอีกตัวหนึ่ง 

ตัวอย่างยาอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • ยาพาโรซีทีน (Paroxetine)
  • ยาฟลูอ็อกซีทิน (Fluoxetine)
  • ยาเอสซิทาโลแพรม (Escitalopram)
  • ยาฟลูว็อกซามีน (Fluvoxamine)
  • ยาซิทาโลแพรม (Citalopram)

ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการเก็บกลับของเซโรโทนินในสมอง ทำให้มีเซโรโทนินค้างอยู่ในสมองเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้น คลายความวิตกกังวล และรักษาอาการซึมเศร้าได้ 

อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ก็มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น ปวดหัว ปากแห้ง คอแห้ง หรือนอนไม่หลับ

ข้อควรระวังในการใช้กลุ่มยาคลายเครียด

ยาคลายเครียดเป็นยาที่ไม่ควรกินเองสุ่มสี่สุ่มห้า ควรปฏิบัติตามข้อระวังเหล่านี้ ได้แก่ 

  • ควรใช้แค่ช่วงสั้น ๆ เพราะการใช้ยาคลายเครียดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ จะยิ่งทำให้การตอบสนองกับยาลดลง จึงต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงจะหายเครียดและนอนหลับได้ อาจนำไปสู่การติดยาในภายหลัง 
  • ควรอยู่ในความดูแลของหมอ เนื่องจากการใช้ยาคลายเครียดเกินขนาดจะกดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ ทำให้หายใจล้มเหลว หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ควรแจ้งหมอทุกครั้งเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ รวมถึงประวัติการใช้ยาในปัจจุบัน เพื่อให้หมอพิจารณาการรักษาร่วมกับโรคเดิมได้อย่างเหมาะสม
  • ไม่ควรหยุดใช้ยาเองทันที เพราะถ้าหยุดกินแบบหักดิบ อาจเกิดอาการถอนยาได้ เช่น นอนไม่หลับมากขึ้น กระสับกระส่าย มือสั่น ใจสั่น หรือวิตกกังวล
  • ระมัดระวังการใช้ยาคลายเครียดเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคตับ ไต และผู้สูงอายุ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตอบสนองต่อยาและมีวิธีกำจัดยาแตกต่างจากคนอื่น ๆ จึงต้องให้หมอเป็นคนปรับขนาดยาที่เหมาะสม 
  • หลีกเลี่ยงใช้ยาคลายเครียดในเด็กเล็ก ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่ให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และผู้ที่ใช้ยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทอื่น ๆ ถ้าต้องใช้ยากับคนกลุ่มนี้ต้องปรึกษาหมอก่อนทุกครั้ง และควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
  • ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงที่ใช้ยาคลายเครียด เนื่องจากแอลกอฮอล์จะยิ่งเสริมฤทธิ์ยาคลายเครียด อาจกดการหายใจ และทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ห้ามขับรถ หรือควบคุมเครื่องจักรใด ๆ หลังกินยาคลายเครียด เพราะยาจะทำให้ง่วง จึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายถึงชีวิตได้ 

ยาคลายเครียดเป็นยาที่ควรกินตามหมอสั่งเท่านั้น ไม่ควรกินหรือหยุดกินยาเอง และในระหว่างใช้ยาก็ควรดูแลตัวเองอยู่เสมอ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ งดดื่มคาเฟอีน 

รวมถึงออกกำลังกายเพื่อให้สมองหลั่งสารความสุข หากิจกรรมทำคลายเครียด หรือเข้ารับคำปรึกษากับจิตแพทย์ว่าจะจัดการกับความเครียดหรืออาการวิตกกังวลยังไงบ้าง  


เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมเภสัชกร HD

Scroll to Top