เชื่อว่า หลายคนคงไม่คุ้นเคยกับชื่อ “โรคเบาจืด” ว่าเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ แม้ว่าโรคนี้อาจเป็นโรคที่พบได้น้อยในหมู่คนทั่วไป แต่ก็มีอันตรายร้ายแรงที่จะต้องระมัดระวังไม่แพ้โรคโรคอื่นๆ เลย
สารบัญ
- ความหมายของโรคเบาจืด
- สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาจืด
- อาการของโรคเบาจืด
- ประเภทของโรคเบาจืด
- 1. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง
- 2. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต
- 3. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ
- 4. โรคเบาจืดที่เกิดจากการตั้งครรภ์
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาจืด
- การรักษาโรคเบาจืด
- วิธีป้องกันโรคเบาจืด
ความหมายของโรคเบาจืด
โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus: DI) คือ โรคซึ่งเกิดจากไตของผู้ป่วยไม่สามารถกักเก็บรักษาสารน้ำไว้ในร่างกายได้ และทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมามาก และบ่อยครั้งกว่าปกติ
บางคนอาจคิดว่า โรคเบาจืดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นโรคเบาหวานเท่านั้น หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน แต่ความจริงแล้วทั้งสองโรคนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาจืด
โรคเบาจืดมีสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติ “ฮอร์โมนวาร์โซเพรสซิน (Vasopressin)” ซึ่งเป็นฮอร์โมนควบคุมการขับปัสสาวะ โดยจะทำงานอยู่ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส
ฮอร์โมนวาร์โซเพรสซินทำหน้าที่สั่งการให้ไตกักเก็บสารน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย และควบคุมการขับปัสสาวะให้เป็นปกติ
เมื่อฮอร์โมนวาร์โซเพรสซินผิดปกติ หรือผลิตน้อยกว่าความจำเป็นของร่างกายจะทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ ซึ่งก็คือ การเริ่มต้นของโรคเบาจืดนั่นเอง
อาการของโรคเบาจืด
นอกจากอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอาการอื่นๆ ของโรคเบาจืดที่สังเกตได้อีก เช่น
- หงุดหงิดง่าย
- มีอาการเฉื่อยชา เหม่อลอย
- มีอาการสับสน
- มีไข้สูง
- ผิวแห้ง ปากแห้ง
- อ่อนเพลียง่าย
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้อาเจียน
- กระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อยๆ หรืออาจปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน มีอาการปัสสาวะเล็ด
โรคเบาจืดยังสามารถเกิดได้ในเด็กทารก หรือเด็กเล็กด้วย โดยหากเด็กมีพ่อแม่เป็นโรคเบาจืดก็มีโอกาสประมาณ 1-2% ที่เด็กจะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โดยจะมีอาการอื่นๆ ที่ยังสามารถสังเกตได้ในทารกอีก เช่น
- มีอาการเหน็บชา
- เจริญเติบโตช้า
- เบื่ออาหาร
- ดื่มน้ำมากกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะรดที่นอน
- มีอาการขาดสารน้ำ
ประเภทของโรคเบาจืด
โรคเบาจืดสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง
โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central Diabetes Insipidus) เป็นประเภทของโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) จนไปสั่งการให้ฮอร์โมนวาร์โซเพรสซินกระตุ้นให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้น
โรคเบาจืดชนิดนี้สามารถเป็นอาการแทรกซ้อนได้จากสาเหตุต่อไปนี้
- เจ็บศีรษะและอาจเกิดเนื้องอกที่สมอง
- ภาวะสมองบวม
- ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (aneurysm)
- เป็นโรคมะเร็งชนิดเซลล์เม็ดเลือดขาวผิดปกติ (Langerhans cell histiocytosis)
2. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต
โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic diabetes insipidus) เป็นประเภทของโรคเบาจืดที่เกิดจากไตไม่ตอบสนองการสั่งการของฮอร์โมนวาร์โซเพรสซิน และดึงเอาสารน้ำออกไปจากกระแสเลือดมากเกินไป
โรคเบาจืดชนิดนี้สามารถเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ภาวะแคลเซียมสูงในกระแสเลือด
- ภาวะโพแทสเซียมต่ำในกระแสเลือด
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ลิเทียม (Litium)
3. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ
โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ (Dipsogenic diabetes insipidus) เป็นประเภทของโรคเบาจืดที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถควบคุมความกระหายน้ำได้ และไปลดปริมาณฮอร์โมนวาร์โซเพรสซินในร่างกาย อาจเกิดได้จากปัจจัยดังนี้
- การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
- การมีเนื้องอก
- การติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย
- การศัลยกรรม
4. โรคเบาจืดที่เกิดจากการตั้งครรภ์
โรคเบาจืดที่เกิดจากการตั้งครรภ์ (Gestational diabetes insipidus) เป็นประเภทของโรคเบาจืดที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
สาเหตุของโรคเบาจืดชนิดนี้ เกิดจากรกเด็กซึ่งทำหน้าที่ส่งออกซิเจนและอาหารเลี้ยงทารกได้สร้างเอนไซม์ที่ลดปริมาณฮอร์โมนวาร์โซเพรสซิน และไปลดการตอบสนองของไตต่อฮอร์โมนตัวนี้ โดยปกติโรคนี้จะหายได้เองหลังจากคลอดบุตรแล้ว
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาจืด
หากไม่รีบรักษาโรคเบาจืดตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนบางประเภทได้ เช่น
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เพราะการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
- ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ (Electrolyte imbalance) โดยจะมีอาการหลักๆ คือ ปวดศีรษะ อ่อนเพลียตลอดเวลา ปวดเมื่อยตามตัว
- นอนไม่พอ (Less sleep) เนื่องจากอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของโรคเบาจืด
การรักษาโรคเบาจืด
การรักษาโรคเบาจืดแบ่งออกได้หลายวิธี ทั้งการรับประทานยาซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคเบาจืด เช่น ยากลุ่มเดโมเฟรสซิน (Demopressin) ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อย่างยาอินโดเมทาซิน (Indometacin) ยากลุ่มขับปัสสาวะไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide)
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีเกลือมาก เพราะจะยิ่งทำให้รู้สึกหิวน้ำและต้องดื่มน้ำปริมาณมากๆ
นอกจากนี้การรับประทานน้ำตาล ขนมหวานเป็นครั้งคราว ก็ยังช่วยกระตุ้นระบบการทำงานของน้ำลาย ทำให้คอไม่แห้งและไม่อยากดื่มน้ำบ่อยเกินไป แต่ก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และคุณก็ยังต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวันอยู่เช่นเดิม
หรือหากโรคเบาจืดเกิดจากโรคอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แพทย์ก็จะรักษาโรคซึ่งเป็นต้นตอของโรคเบาจืดให้หายก่อน และหากอาการโรคเบาจืดยังไม่หายดี ก็ค่อยดำเนินการรักษาโรคนี้ต่อไป
วิธีป้องกันโรคเบาจืด
ยังไม่มีแนวทางป้องกันสำหรับโรคเบาจืดโดยเฉพาะ แต่คุณก็สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้โดยการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม เช่น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวัน อย่าปล่อยให้ตนเองเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำ
- สังเกตว่า ตนเองปัสสาวะปกติดีหรือไม่ แล้วมีอาการเจ็บ หรือแสบขัดระหว่างปัสสาวะหรือเปล่า โดยโดยปกติคนเราจะปัสสาวะประมาณวันละ 4-8 ครั้งต่อวัน
โรคเบาจืดอาจเป็นโรคพบได้ยาก แต่ก็ไม่ควรมองข้ามโรคนี้ เพราะสารน้ำถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ระบบในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากร่างกายขาดน้ำเป็นเวลานานๆ ก็จะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นหากสังเกตว่า ตนเองปัสสาวะบ่อยและมีอาการคล้ายกับเกิดภาวะขาดน้ำ อย่าลังเลที่จะรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัย และรักษาทันที
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา