การตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ต้องมีการดูแลสุขภาพทั้งแม่และทารกให้แข็งแรงไปตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ ขึ้นกับทารก หรือผู้เป็นแม่ในระหว่างนั้น รวมถึงเมื่อถึงกำหนดคลอดก็สามารถคลอดทารกออกมาได้อย่างปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอด เรียกว่า “ปลอดภัยทั้งแม่และลูกตลอดการตั้งครรภ์” ก็ว่าได้
ดังนั้นคู่สามีภรรยาที่กำลังวางแผนจะมีบุตรจึงต้องหมั่นดูแลสุขภาพกันและกันตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควงคู่ไปตรวจสุขภาพเพื่อให้มั่นใจว่า “คู่ของเราพร้อมสำหรับการมีบุตรจริงๆ” รวมทั้งร่วมรับทราบปัญหาที่อาจเกิดได้ หากคนใดคนหนึ่งมีปัญหาสุขภาพ เช่น มีโรคทางพันธุกรรม มีโรคประจำตัว
สารบัญ
ความหมายของการตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์
การตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ หมายถึง การตรวจสุขภาพเพื่อให้แพทย์ตรวจสอบความสมบูรณ์ของร่างกาย รวมถึงตรวจความเสี่ยงการเป็นโรค หรือความผิดปกติของร่างกายที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้
การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์มีส่วนช่วยให้คู่รักมั่นใจยิ่งขึ้นด้วยว่า ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมีบุตรแล้ว หรือหากไม่พร้อม ร่างกายมีความผิดปกติบางอย่างก็จะได้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางรักษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการมีบุตรต่อไป
รายการตรวจสุขภาพที่ควรตรวจก่อนการตั้งครรภ์
สิ่งที่คู่รักทั้งฝ่ายหญิง และชายควรตรวจ ก่อนตัดสินใจมีบุตร ได้แก่
1. ตรวจสุขภาพทั่วไป
เป็นการตรวจสุขภาพพื้นฐานเพื่อให้แน่ใจว่า ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายทำงานปกติดี ไม่มีส่วนใดผิดปกติ เช่น
- ตรวจน้ำหนักส่วนสูง
- ตรวจหาระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด
- ตรวจวัดความดันโลหิต
- ตรวจปัสสาวะ
- เอกซเรย์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- เอกซเรย์ปอด
- ตรวจทำงานของตับ
- ตรวจการทำงานของไต
- อัลต้าซาวน์เต้านม
- ตรวจหามะเร็งปากมดลูก
- ตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก
นอกจากนี้หากคู่รักมีโรคประจำตัวบางชนิดอาจต้องปรึกษากับแพทย์ว่า โรคดังกล่าวอยู่ในระยะที่ปลอดภัยกับการตั้งครรภ์หรือไม่ และหากตั้งครรภ์แล้วผู้ป่วยยังสามารถควบคุมโรคดังกล่าวได้หรือไม่ หรือต้องมีการดูแลพิเศษใดๆ บ้าง
โรคที่พึงระวัง เช่น โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคแพ้ภูมิตนเอง
2. ความพร้อมของระบบสืบพันธุ์
นอกจากตรวจสุขภาพทั่วไป ผู้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ควรตรวจภายใน เพื่อเช็คความสมบูรณ์ของไข่ มดลูก และอุ้งเชิงกรานด้วยว่า “มีความแข็งแรงสมบูรณ์มากพอที่จะสามารถรองรับการตั้งครรภ์ได้หรือไม่”
ฝ่ายชายก็ควรตรวจปริมาณตัวอสุจิว่า “มีจำนวนเพียงพอที่จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้หรือไม่” เพราะผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือหากเคยทำหมันมาก่อนแต่แก้หมันแล้วจะมีปริมาณอสุจิค่อนข้างน้อย ทำให้โอกาสที่ภรรยาจะตั้งครรภ์ลดลงได้
นอกจากนี้ทารกที่เกิดจากพ่อซึ่งมีอายุค่อนข้างมากแล้ว ยังมีโอกาสที่พัฒนาการด้านสมองจะช้ากว่าเด็กทั่วไป หรือเป็นออทิสติกได้ หรือมีโอกาสเป็นโรคทางจิตเวชบางชนิดได้ เช่น โรคจิตเภท
3. การฉีดวัคซีน
ทั้งฝ่ายหญิง และฝ่ายชายควรตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนด้วยว่า ฉีดวัคซีนครบแล้วหรือยัง หากวัคซีนที่เคยฉีดนั้นมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อต้านทานเชื้อโรคแล้วก็ให้ปรึกษาแพทย์ว่า สมควรเข้ารับการฉีดวัคซีนใหม่ได้หรือไม่ เช่น
- วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน (Diphtheria, Tetanus, Pertussis: DtaP)
- วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
- วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน (Measles-Mumps-Rubella vaccine: MMR)
- วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Chickenpox Vaccine)
หากคู่รักไม่มีปัญหาด้านการฉีดวัคซีนเหล่านี้ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ว่า ระหว่างตั้งครรภ์สามารถรับวัคซีนใดเพิ่มเติมได้ด้วยหรือไม่ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
4. ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infection: STIs) เป็นหนึ่งในตัวกลางสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และมีผลต่อพัฒนาการของเด็กทารก เช่น น้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการช้า พิการแต่กำเนิด ระบบการทำงานของร่างกายบกพร่อง
ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจมีบุตร สามีภรรยาทั้งฝ่ายหญิง และฝ่ายชายควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้เรียบร้อยเสียก่อน เช่น
- โรคหนองในแท้ (Gonorrhea)
- โรคหนองในเทียม (Chlamydia)
- การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
- โรคซิฟิลิส (Syphilis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis)
- โรคเริม (Herpes)
5. ตรวจฟัน
คุณอาจคิดว่า สุขภาพฟันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งครรภ์ แต่ความจริงแล้ว ด้วยการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกันในระหว่างตั้งครรภ์ จึงทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดโรค หรือติดเชื้อเกี่ยวกับช่องปากได้ง่ายกว่าปกติ เช่น
- โรคเหงือกอักเสบ
- โรคฟันผุ
จากโรคที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนอาจคิดว่า คงรักษาได้ไม่ยากนัก แต่ในระหว่างตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงจะเกิดอาการเหงือกบวมโต เลือดออกตามไรฟันได้ง่าย และรู้สึกเจ็บปวดเหงือกมากกว่าปกติ
นอกจากนี้โรคฟันผุในหญิงตั้งครรภ์ยังสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคไปสู่เด็กทารกจนเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยได้อีกด้วย ดังนั้นการตรวจสุขภาพเหงือก และฟันเพื่อรักษาโรคในช่องปากให้เรียบร้อยก่อนการตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญไม่แพ้การตรวจสุขภาพด้านอื่นๆ
6. ตรวจสุขภาพจิต
สุขภาพจิตถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ อีกทั้งในระหว่างการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสจะเกิดภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ได้ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนในร่างกายมีความแปรปรวนสูง
อีกทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นธรรมดาที่หญิงตั้งครรภ์จะมีความเครียด หรือความวิตกกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูลูกหลังคลอด สรีระรูปร่างหลังคลอด ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ซึ่งภาวะเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น
- คลอดก่อนกำหนด
- พัฒนาการช้า
- สุขภาพไม่แข็งแรง
อีกทั้งโรคทางจิตเวชหลายโรคนั้นสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท
ดังนั้นก่อนตัดสินใจมีบุตร คู่สามีภรรยาควรแน่ใจก่อนว่า สุขภาพจิตของทั้งคู่ไม่มีปัญหาอะไร หรือหากรู้สึกไม่แน่ใจ ไม่สบายใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา และรับคำแนะนำในการใช้ชีวิตระหว่างการตั้งครรภ์
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสภาพจิตใจก่อนการตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ และไม่ให้ส่งผลต่อทารกในครรภ์นั่นเอง
การใช้ประกันสังคมตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์
สิทธิประกันสังคมมีประโยชน์ครอบคลุมด้านการตรวจสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย โดยคู่สามีภรรยาสามารถไปเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยใช้สิทธิประกันสังคมได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งซึ่งเข้าร่วมประกันสังคม
รายการตรวจสุขภาพที่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิประกันสังคม ได้แก่
- ตรวจสุขภาพตา
- ตรวจค่าสายตา
- ตรวจคัดกรองการได้ยิน
- ตรวจเต้านม
- เอกซเรย์ปอด
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- ตรวจปัสสาวะ
- ตรวจไขมัน และคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด
- ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ตรวจมะเร็งปากมดูก
นอกจากนี้ยังสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลชั้นนำทุกแห่ง ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็จะมีแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่แตกต่างกันไป และหลายโรงพยาบาลยังมีแพ็กเกจตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ หรือก่อนแต่งงานให้โดยเฉพาะด้วย
ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจในสุขภาพของแม่และเด็ก ก่อนวางแผนมีบุตร คุณจึงต้องมั่นใจเสียก่อนว่า ตนเองกับคู่รักต่างมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดีพอ พร้อมที่จะมีบุตรรวมทั้งสามารถโอบอุ้มดูแลลูกน้อยให้เติบโตเป็นเด็กสมบูรณ์ทั้งกายและใจได้อย่างเต็มที่
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี