กาฬโรคเคยได้ฉายาว่าเป็น “ความตายสีดำ (Black death)” เนื่องจากในอดีตโรคนี้เคยพรากชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่าสองร้อยล้านคนทั่วโลก แม้ว่าบางภูมิภาคจะพบการแพร่ระบาดของกาฬโรคน้อยลง แต่ใช่ว่าโรคนี้จะหายไปจากโลกเสียทีเดียว หลังพบการแพร่ระบาดของกาฬโรคขึ้นอีกครั้งในประเทศจีน การแพร่ระบาดครั้งรุนแรงจนถึงขั้นประเทศจีนได้ประกาศยกระดับเตือนภัยการระบาดของกาฬโรคแล้ว หลายคนเมื่อทราบข่าวจึงเกิดความหวาดกลัวว่า หากเกิดการระบาดของกาฬโรคขึ้นในครั้งนี้ จะมีรุนแรงมากน้อยเพียงใด บทความนี้พาไปรู้จักกาฬโรคแบบทุกแง่ทุกมุม
สารบัญ
กาฬโรคคืออะไร?
กาฬโรค (Plague) หรืออีกชื่อที่นิยมเรียกกันว่า “Black death” เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่ติดจากสัตว์สู่คน สาเหตุเกิดจากแบคทีเรียชื่อ เยอร์ซีเนียเพสติส (Yersinia Pestis)
แบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้ในหมัดหนู หมัดสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก กระต่าย กลไกการติดเชื้อจะเริ่มจากเมื่อหมัดที่มีเชื้อเบคทีเรียไปกัดหนู หนูตัวนั้นก็จะป่วยเป็นพาหะนำโรคต่อมายังคน
ส่วนใหญ่จะพบโรคกาฬโรคในฤดูหนาวและบริเวณที่มีการอยู่อาศัยอย่างแออัด รักษาความสะอาดไม่ดี มีหนูอาศัยอยู่มาก
อาการของกาฬโรค?
เมื่อได้รับเชื้อกาฬโรค เชื้อจะเคลื่อนตัวไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้ที่สุด จากนั้นจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2- 8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวกศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้อาการที่ดูน่ากลัวที่สุดของกาฬโรคคือ ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีดำ เป็นที่มาของคำว่า Black death เนื่องจากเกิดเลือดออกที่ใต้ชั้นหนังกำพร้า
ประเภทของกาฬโรค
1. กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic plague)
เป็นกาฬโรคที่พบได้บ่อยที่สุด และอาจนำไปสู่กาฬโรคโลหิตเป็นพิษและกาฬโรคปอดด้วย เมื่อได้รับเชื้อจะทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system) ต่อมน้ำเหลืองอักเสบส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
อาการอาจมีดังนี้
- ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวด และกดเจ็บ
- มีไข้และหนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- ชัก
- ความดันโลหิตต่ำ
อาการต่อมน้ำเหลืองบวมและปวด อาจเกิดขึ้นบริเวณขาหนีบ รักแร้ คอ หรือตำแหน่งที่ถูกสัตว์ที่เป็นพาหะกัด โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 50-60%
2. กาฬโรคโลหิตเป็นพิษ (Septicemic plague)
กาฬโรคโลหิตเป็นพิษ หรืออาจเรียกได้ว่า ติดเชื้อในกระแสเลือด จะแสดงอาการหลังเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด 2-7 วัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถเป็นกาฬโรคโลหิตเป็นพิษ โดยโรคนี้อาจเป็นต่อจากกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง หรือเป็นทันทีก็ได้ อาการอาจมีดังนี้
- ปวดท้อง
- ท้องร่วง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้และหนาวสั่น
- อ่อนเพลียมาก
- ช็อก
- ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีดำ เนื่องจากเลือดออกใต้ผิวหนัง
อาการจะเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตอาจสูงถึง 95% โดยส่วนมากผู้ป่วยมักเสียชีวิตก่อนที่อาการจะแสดงชัดเจนทั้งหมด
3. กาฬโรคปอด (Pneumonic plague)
เป็นรูปแบบที่พบได้น้อยแต่อาการรุนแรงมากที่สุด มีอัตราการเสียชีวิตเกือบ 100% ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้ออาจเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง อาการที่แสดงอาจมีดังนี้
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- ไอเป็นเลือดปนหนองที่ออกมาจากปอด
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลียมาก
เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายจากการไอ จาม ได้ด้วย ดังนั้นหากผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่ในชุมชนแออัด จะทำให้โรคนี้ระบาดเร็วและรุนแรงได้
กาฬโรคติดต่อจากไหน?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า มีสัตว์หลายชนิดที่สามารถติดโรคนี้ได้ โดยการสัมผัสเนื้อเยื่อ หรือถูกสัตว์ฟันแทะที่มีเชื้อกาฬโรคกัด นอกจากสัตว์ฟันแทะแล้วก็มีสัตว์อื่นๆ ที่สามารถติดเชื้อนี้ได้ด้วย เช่น สุนัข แมว กระจง แพะ แกะ อูฐ สัตว์ป่ากินเนื้อ
สัตว์ต่างๆ เหล่านี้จะติดกาฬโรคจากตัวหมัด (Fleas) ซึ่งเป็นพาหะนำโรค หรือการกินสัตว์อื่นๆ ที่มีเชื้อชนิดนี้อยู่ก็ติดต่อได้เช่นกัน โดยอาจแสดงอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
การติดกาฬโรคในมนุษย์มักมาจากการถูกตัวหมัดที่เป็นพาหะกัด หรือสัตว์ที่มีเชื้อกัด โดยเฉพาะหนู กระรอก กระต่าย รวมถึงหากรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อกาฬโรคอยู่ ก็อาจมีโอกาสติดได้เช่นกัน
นอกจากนี้เชื้อยังสามารถแพร่กระจายจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อไปในอากาศ หากสูดดมเข้าไปจะติดต่อกาฬโรคปอดทันที
อีกกรณีที่พบเห็นได้แต่ไม่บ่อยนัก ก็คือ การสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้ออาศัยอยู่ ก่อนจะนำเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ตั้งใจ
กาฬโรคป้องกันได้ไหม?
ปัจจุบันแม้จะมีวัคซีนป้องกันกาฬโรค KWC (Killed whole-cell vaccines) แล้ว แต่ยังถือเป็นวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ในระยะสั้นเท่านั้น
นอกจากนี้อัตราการแพร่ระบาดของกาฬโรคในปัจจุบันที่มีไม่มากเท่าในอดีต รวมถึงกาฬโรคสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ จึงทำให้ไม่นิยมฉีดวัคซีนป้องกัน
แต่คุณสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่มีโอกาสทำให้ติดกาฬโรคได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีสัตว์ฟันแทะเยอะ ในบางพื้นที่อาจมีหนูเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหลายชนิด ควรดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีหนูเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน
- ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณที่มีสัตว์ตายมากๆ หากพบเห็นสัตว์ตายจำนวนมาก สันนิษฐานได้ว่า อาจเกิดจากโรคระบาด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยง
- อย่าให้สัตว์เลี้ยงไปวิ่งในป่า หากบ้านไหนมีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปวิ่งเล่นโดยลำพัง เพราะอาจมีโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะไปสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือรับเอาหมัดเข้ามาได้
- รักษาความสะอาดของสัตว์เลี้ยง บางครั้งแม้จะไม่ได้ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงไปเล่นในป่า สวน แต่ก็อาจติดหมัดมาจากพงหญ้า ซากไม้ที่ทับถมกัน ดังนั้นควรหมั่นทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงด้วยผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดทั่วไปตามท้องตลาด
- ไม่ควรสัมผัสสัตว์ที่มีแผลสด หากสัตว์เลี้ยงมีแผลสดอยูู่ ควรสวมถุงมือในการสัมผัสตัวสัตว์ และพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
- สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเมื่อเข้าป่า ไม่ว่าจะเป็นป่า หรือสวน ก็ควรสวมเสื้อผ้าปกปิดเนื้อหนังให้มิดชิด ก็ลดโอกาสเสี่ยงได้เช่นกัน
แม้ปัจจุบันการระบาดของกาฬโรคจะลดลงมากแล้วแต่ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด เพราะหนูที่เข้ามาอาศัยในบริเวณบ้านก็มีโอกาสแพร่เชื้อได้เช่นกัน
กาฬโรครักษาอย่างไร?
ก่อนอื่นเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นกาฬโรค ผู้ป่วยจะถูกกักตัวแยกไว้จากคนไข้คนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ปัจจุบันนี้มีวิธีรักษากาฬโรคได้แล้วด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเจนตามัยซิน (Gentamicin) หรือ ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียสำหรับผู้ติดเชื้อรุนแรง ทั้งนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
แพทย์อาจใช้ให้ยาแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจในบางครั้ง หลังจากไข้ลดลง แพทย์ยังคงต้องเฝ้าสังเกตอาการต่ออีกหลายสัปดาห์ให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อหลงเหลือ
นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติเข้าใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรได้รับการตรวจโดยเร็วเช่นกัน เนื่องจากกาฬโรคนั้นลุกลามรวดเร็วมาก ดังนั้นเมื่อสงสัยว่า ตัวเองติดกาฬโรค ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย