ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL 1 scaled

ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL

ใครที่ประสบปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง จนต้องสวมแว่นตาแว่น หรือใส่คอนแทคเลนส์ตลอดเวลา และกำลังมองหานวัตกรรมทางแพทย์ใหม่ๆ ที่ช่วยให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ อีกต่อไป

ปัจจุบันมีทางเลือกที่น่าสนใจ นั่นคือ “การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL” ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตา และไม่สามารถทำเลสิกได้

การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL คืออะไร?

Phakic หมายถึง การนำเลนส์เสริมเข้าไปในดวงตาโดยไม่ได้มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออก

ส่วน ICL ย่อมาจาก Implantable Collamer Lens เป็นเลนส์ชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ (สายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง)

มีส่วนประกอบสำคัญคือคอลลาเจน (Collagen) และโคโพลีเมอร์ (Copolymer) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถเข้ากับร่างกายได้โดยไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องอาการแพ้

เลนส์ ICL นับว่า เป็นเลนส์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงกลายเป็นคำนิยมที่ใช้เรียกโดยทั่วไปว่า “Phakic ICL”

แต่จริงๆ แล้วการผ่าตัดเสริมเลนส์นั้นมีชื่อเรียกว่า “Phakic IOL (Phakic Intra-ocular Lens)” หมายถึง การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมเข้าไปในดวงตา โดยไม่มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออก เพื่อแก้ไขสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

หลักการผ่าตัดเสริมเลนส์นี้คล้ายกับการใส่คอนแทคเลนส์ แต่ต่างกันที่ Phakic IOL เป็นการใส่เลนส์เข้าไปในลูกตาแบบถาวร

ข้อดีของการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL เป็นนวัตกรรมที่มีข้อดีหลายประการ ดังนี้

  • สามารถรักษาสายตาสั้น ยาว และเอียงได้ ในระดับที่กว้างกว่าการทำเลสิก
  • แม้จะมีภาวะกระจกตาบางหรือมีอาการตาแห้งอย่างรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีทำเลสิก ก็ยังผ่าตัดเสริมเลนส์ได้
  • การรักษาใช้เวลาไม่นาน ไม่รู้สึกเจ็บ และสายตาคงที่ได้อย่างรวดเร็ว
  • หากไม่พึงพอใจในผลการรักษา สามารถผ่าตัดนำเลนส์ออกได้
  • มีความแม่นยำในการรักษาค่อนข้างสูง การมองภาพคมชัด เพราะเลนส์ตาธรรมชาติยังคงอยู่ และไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเยื่อกระจกตา
  • ผลลัพธ์คงทน ถาวร มักไม่กลับไปมีอาการสายตาสั้น ยาว เอียง ซ้ำ
  • หลังจากแผลหายสนิท ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามากนัก เพียงแต่ควรเข้าพบจักษุแพทย์ตามกำหนด

การผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL) เหมาะกับใคร?

ผู้ที่ต้องการผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้

  • มีอายุระหว่าง 20-50 ปี
  • ต้องมีสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี (บวกหรือลบได้ไม่เกิน 50)
  • มีค่าสายสั้นระหว่าง 300-2,300 หรือสายตายาวระหว่าง 300-1,900 หรือสายตาเอียงระหว่าง 100-600
  • สุขภาพตาสมบูรณ์ ไม่มีโรคทางตาที่มีผลต่อการรักษา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม
  • ไม่เคยผ่านการผ่าตัดตามาก่อน
  • มีความลึกของช่องด้านหน้าลูกตาอย่างน้อย 3 มิลลิเมตรขึ้นไป

ข้อจำกัดของการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL มีข้อจำกัด ดังนี้

  • ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ได้ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ และต้องมีสภาพตาสมบูรณ์
  • ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์ตาค่อนข้างสูง

จะเห็นได้ว่า เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติที่มีข้อกำจัดน้อยกว่าการทำเลสิกมาก

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL)

ผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL จำเป็นต้องได้รับการตรวจและประเมินสภาพตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ดังนี้

  1. ควรงดสวมคอนแทคเลนส์ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ล่วงหน้า สำหรับคอนแทคเลนส์แบบนิ่มควรงดอย่างน้อย 3 วัน สำหรับคอนแทคเลนส์แบบแข็งควรงดอย่างน้อย 7 วัน เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะกดทับกระจกตา การงดสวมคอนแทคเลนส์จะช่วยให้กระจกตาคืนรูปร่างตามธรรมชาติ เพื่อผลการตรวจและผ่าตัดที่แม่นยำที่สุด
  2. งดรับประทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7-10 วัน
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจเช็กสภาพร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  4. ก่อนผ่าตัดเสริมเลนส์ต้องมีการตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียด โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง มีขั้นตอนดังนี้
    • ตรวจวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์
    • ตรวจวัดค่าความดันตา
    • ตรวจค่าความโค้งและความหนาของกระจกตา
    • ตรวจค่าความเพี้ยนในการรวมแสงระดับสูง
    • ตรวจวัดระดับการมองเห็น
    • ตรวจวัดค่าความผิดปกติของสายตาก่อนและหลังการขยายม่านตา
    • ตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียดโดยจักษุแพทย์ในวันที่ตรวจประเมินสภาพตา ควรนำแว่นกันแดดมาด้วย และควรมาพร้อมกับเพื่อน หรือญาติ เนื่องจากการตรวจสภาพสายตานั้นจะมีการหยอดยาขยายม่านตา ซึ่งจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดและสู้แสงไม่ได้ การเดินทางจะค่อนข้างลำบาก

ทั้งนี้ หากการตรวจประเมินสภาพตาผ่าน ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ประมาณ 2 สัปดาห์ แพทย์จะนัดผู้ป่วยเข้ามายิงเลเซอร์เพื่อเปิดรูเล็กๆ บริเวณด้านข้างม่านตา ป้องกันความดันลูกตาสูงขึ้นภายหลังการผ่าตัดเสริมเลนส์

ขั้นตอนการผ่าตัดเสริมเลนส์

วันที่นัดผ่าตัดเสริมเลนส์ งดใส่คอนแทคเลนส์ งดแต่งหน้า โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา รวมทั้งงดฉีดสเปรย์และน้ำหอมทุกชนิด ควรสวมเสื้อที่มีกระดุมด้านหน้า พร้อมทำความสะอาดร่างกาย สระผมให้เรียบร้อย

โดยแพทย์จะดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ทีมแพทย์จะหยอดยาขยายม่านตาและยาชาลงบริเวณลูกตาข้างที่ต้องการผ่าตัด
  2. แพทย์จะเปิดช่องเล็กๆ ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตรบริเวณขอบกระจกตา
  3. นำเลนส์เสริมสอดเข้าไปในรูที่เปิดไว้ โดยเลนส์จะค่อยๆ คลี่ตัวออก และคงอยู่ในลูกตาโดยไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แผลที่เกิดขึ้นจะสมานได้เอง ไม่จำเป็นต้องเย็บ ระหว่างการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยจะไอ จาม หรือต้องการเคลื่อนไหวร่างกาย ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  4. เมื่อผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะหยอดยาฆ่าเชื้อ ใช้ฝาครอบตาเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน และจ่ายยาลดความดันลูกตา ให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน และนัดมาตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาในวันถัดไป

การผ่าตัดเสริมเลนส์ใช้เวลาข้างละประมาณ 15-20 นาที ซึ่งแพทย์จะนัดผ่าตัดทีละข้าง โดยต้องรอให้แผลหายสนิทก่อนจึงจะนัดผ่าตัดข้างถัดไป โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์

ทั้งนี้หลังการผ่าตัดและหมดฤทธิ์ของยาขยายม่านตา ผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทันที

อาการข้างเคียงหลังการผ่าตัดเสริมเลนส์

การผ่าตัดเสริมเลนส์มีอาการข้างเคียงน้อยมาก จะพบในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • น้ำตาค่อนข้างมาก หรือมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย
  • เคืองตา หรือแสบตา
  • ตาแดง
  • แสบตา สู้แสงจ้าไม่ได้
  • ต้อกระจก โดยเฉพาะกรณีที่ใช้เทคนิค Sulcus-Supported PIOLs โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือมีสายตาสั้นมาก
  • เกิดต้อหิน หากมีการเคลื่อนของเลนส์
  • เกิดภาวะแคบลงของห้องตาด้านหน้า ซึ่งเกิดจากเลนส์ธรรมชาติจะมีการหนาตัวเพิ่มขึ้นไปตามอายุถึงแม้ข้อมูลทางการแพทย์ในเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากการหนาตัวของเลนส์จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 12-17 ไมโครเมตรต่อปี นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเห็นผลดังกล่าว แต่ภาวะดังกล่าวยังเป็นที่กังวลของจักษุแพทย์ เนื่องจากเลนส์จะถูกวางอยู่ในตำแหน่งที่แคบที่สุดของห้องตาด้านหน้า

หากมีอาการดังกล่าวควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดทราบทันที เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดเสริมเลนส์

หลังการผ่าตัดเสริมเลนส์ แม้ว่าจะไม่เห็นแผล ไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ แต่ก็จำเป็นต้องมีการดูแลแผลอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. หลังผ่าตัดแพทย์ 1 วัน แพทย์จะเป็นผู้นำฝาครอบตาออกให้ ห้ามผู้ป่วยเอาฝาครอบตาออกเองโดยเด็ดขาด
  2. ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน
  3. ไม่ควรนอนตะแคงทับตาข้างที่ทำการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  4. ระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าตาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ดังนั้นจึงไม่ควรสระผมเอง ไม่ควรล้างหน้า แนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำสะอาดเช็ดหน้าเท่านั้น หากบังเอิญมีน้ำเข้าตา ให้ใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์จ่ายให้
  5. งดใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตาเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  6. ห้ามยกของหนัก รวมทั้งห้ามก้มศีรษะต่ำกว่าเอว เช่น ก้มหยิบของที่พื้น ใส่รองเท้า อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  7. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง หรือควันบุหรี่ และควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้งที่ต้องอยู่กลางแจ้ง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและแสงแดด
  8. หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อทางศีรษะเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพราะขณะสวมใส่อาจกระทบบริเวณดวงตาได้
  9. หยอดยาและรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยปกติจักษุแพทย์จะสั่งยาหยอดตาชนิดสเตียรอยด์ให้ใช้เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
  10. งดว่ายน้ำเป็นเวลา 1 เดือน
  11. เข้ารับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลานัดตรวจหลังการผ่าตัดดังนี้
    • 1 วัน หลังการผ่าตัด
    • 1 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด
    • 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน หลังการผ่าตัด
    • 1 ปี และ 2 ปี หลังการผ่าตัด

การผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL) ต่างจากการทำเลสิกอย่างไร?

หลายคนอาจสงสัยว่า การผ่าตัดเสริมเลนส์แตกต่างจากการทำเลสิกอย่างไร จริงๆ แล้วผลลัพธ์ของการผ่าตัดแทบไม่แตกต่างกัน คือสามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง ได้อย่างถาวร แต่จะแตกต่างกันที่กระบวนการ

การผ่าตัดเสริมเลนส์จะเป็นการแก้ไขสายตาโดยการใส่เลนส์ชนิดพิเศษ ที่ตัดตามค่าสายตาของแต่ละคนแล้วใส่เข้าไปในดวงตา ขณะที่การทำเลสิกเป็นการแก้ไขปัญหาสายตาโดยการใช้แสงเลซอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา เพื่อให้การหักเหของแสงตกลงพอดีที่เซลล์รับภาพในดวงตา

การทำเลสิกจะมีข้อจำกัดมากกว่า นั่นคือ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว เอียง มากๆ รวมถึงผู้มีกระจกตาบาง มีอาการตาแห้ง

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL เป็นนวัตกรรมมีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้มองเห็นได้คมชัดอย่างถาวร มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์สำหรับตาทั้ง 2 ข้าง ในโรงพยาบาลรัฐ เริ่มต้นที่ 80,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เริ่มต้นที่ 150,000 บาท ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนั้นๆ

ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง ต้องสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ตลอดเวลา จนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดเสริมเลนส์เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการแพทย์ที่น่าสนใจ แต่ควรศึกษาข้อมูลให้แน่ชัด รวมทั้งเลือกทำกับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top