โรคไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดใหญ่ H1N1 แตกต่างกันอย่างไร

โรคไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดใหญ่ H1N1 แตกต่างกันอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่ (Infuenza) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันซึ่งเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมีชื่อว่า “เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus)” มี 4 ชนิดได้แก่ A B C และ D แต่ชนิด D พบการติดเชื้อในปศุสัตว์เท่านั้น โดยไข้หวัดใหญ่ H1N1 เป็นไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด A

ไข้หวัดใหญ่ H1N1 คืออะไร?

ชนิดไข้หวัดใหญ่สามารถแบ่งย่อยได้เป็นชนิด  A B C และ D สำหรับไข้หวัดใหญ่ H1N1 นั้น เป็นที่รู้จักกันใน ค.ศ. 2009 เป็นไวรัสสายพันธ์ A มีการระบาดได้ปกติตามฤดูกาล เกิดจากเชื้อไวรัสที่ผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง คน หมู และนก

เมื่อเชื้อติดในคนสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วผ่านทางระบบทางเดินหายใจ หรือเชื้อเข้าเยื่อบุตาจากการสัมผัส การขยี้ตาและพบในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมาก เช่น โรงเรียน

หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปอยู่ในเซลล์แล้วแบ่งตัวโดยจะนำส่วนประกอบต่างๆ ของเซลล์มาสร้างเป็นไวรัสตัวใหม่ จนเซลล์สลายตัว และปลดปล่อยไวรัสอีกมากมายออกมาทำลายเซลล์อื่นๆ ต่อไป

หากผู้ติดเชื้อไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่มาก่อน หรือเชื้อไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้าง ในกรณีเช่นนี้ผู้ที่ติดเชื้อจะไม่มีภูมิต้านทานที่จะทำลายเชื้อไวรัสเลย ส่งผลให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

ลักษณะอาการไข้หวัดใหญ่

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดใหญ่ H1N1 ไม่สามารถแยกกันด้วยอาการได้อย่างชัดเจน โดยอาการที่แสดงออกจะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอเจ็บคอ มีเสมหะ และน้ำมูก

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อไปนี้ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า เป็นการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่าเป็นหวัดธรรมดา

  • อาการเกิดขึ้นเร็ว
  • มักมีไข้สูง ประมาณ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ปวดกล้ามเนื้อมาก
  • อ่อนเพลียไม่มีแรง บางครั้งเป็นนานถึง 2 สัปดาห์
  • ไอมากและหายช้าแม้หายป่วยแล้ว
  • ปวดศีรษะมาก
  • อาการน้ำมูกไหล จาม หรือเจ็บคอ พบน้อยกว่า
  • คลื่นไส้อาเจียนและถ่ายเหลวมากกว่า

อาการระดับรุนแรงที่ควรไปพบแพทย์ทันที

  • ผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วใน 2 วัน
  • มีอาการไอถี่
  • หายใจเหนื่อย
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • กินอาหารและน้ำไม่ได้
  • ในเด็กอาจมีอาการซึมมาก ปากแห้ง ตาโหล
  • ภาพเอกซเรย์ปอดเห็นฝ้าขาวผิดปกติ

หากมีอาการรุนแรงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง ต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิด และให้การรักษาเร็วที่สุด

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสตัวใดจะต้องใช้การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถตรวจชนิดไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal influenza) ซึ่งประกอบด้วยไวรัสชนิด A เช่น H1N1 H3N2 และไวรัสชนิด B ได้

วิธีการตรวจแพทย์จะเก็บเชื้อด้วยการนำไม้พันสำลี (Swab) ป้ายในโพรงจมูก หรือลำคอ จากนั้นเก็บในภาชนะที่มีความเย็นระหว่างรอส่งตรวจ โดยการตรวจหาเชื้อไวรัสแบ่งได้ 2 วิธีหลักๆ คือ

1. ตรวจคัดกรองเบื้องต้น

สามารถตรวจได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป และสามารถรับผลตรวจได้ภายใน 1 วัน

วิธีนี้มีความแม่นยำมากกว่า 80% ขึ้นอยู่กับวิธีการทดสอบ มีประโยชน์ในการประกอบการตัดสินใจให้การรักษาเบื้องต้นได้ดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีผลการตรวจไม่พบว่าติดเชื้อ แต่มีประวัติใกล้ชิด หรือสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มาก่อน แพทย์ก็อาจพิจารณาให้รักษาได้เลย เนื่องจากผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่มีน้อย เมื่อเทียบกับการปล่อยให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงจนเกิดภาวะแทรกซ้อน

2. ตรวจยืนยันผล

เป็นการตรวจเชื้อไวรัสที่ต้องใช้ขั้นตอนซับซ้อนกว่า และให้ผลที่แม่นยำกว่าด้วยวิธีพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction: PCR) สามารถทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ และสถาบันวิจัยต่างๆ ใช้เวลาประมาณ 3 วันจึงจะทราบผลการทดสอบ

การตรวจยืนยันผลมีประโยชน์ในการยืนยันชนิดไวรัสในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากรัฐจะต้องดำเนินการสอบสวนหาผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ให้การเฝ้าระวัง และควบคุมการติดเชื้อในพื้นที่นั้นๆ

การป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่

สถานศึกษา เป็นหนึ่งในที่ต้องระวัง เพราะการระบาดของไข้หวัดใหญ่มักพบในช่วงเปิดเทอมกลางปี ซึ่งเป็นฤดูฝน และมีการติดเชื้อในเด็กวัยเรียนจำนวนมาก มีวิธีป้องกันดังนี้

  • ควรจัดให้มีระบบการคัดกรองเด็กป่วย
  • หากพบว่า มีนักเรียนป่วย ให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย หากมีการระบาดจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษา 5-7 วันเพื่อลดการระบาดของโรคและการแพร่เชื้อ
  • เตรียมจุดล้างมือให้เพียงพอ
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ
  • ให้นักเรียนที่สงสัยว่าป่วยสวมหน้ากากอนามัย และกำจัดหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างเหมาะสม
  • แยกแก้วน้ำดื่ม และของให้ส่วนตัว

สถานประกอบการและที่ทำงาน

  • จัดจุดล้างมือและเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะทำงาน โทรศัพท์ ลูกบิดประตู ราวบันได
  • ตรวจสุขภาพลูกจ้างก่อนเข้าทำงาน
  • หากพบพนักงานขาดงานตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในแผนกเดียวกันและสงสัยว่า ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องรีบตรวจสอบทันที

สำหรับผู้ที่ต้องทำงาน หรือเดินทางไปยัง วัด โบสถ์ มัสยิด ค่ายทหาร โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ สถาบันกวดวิชา ทัณฑสถาน สถานพินิจ หอพัก หรือกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก สามารถดูแลตนเองได้ดังนี้

  • ล้างมือบ่อยๆ
  • หากมีอาการไอ จาม ให้ใช้กระดาษหรือผ้าปิดปากปิดจมูก หากไม่มี หรือหยิบไม่ทัน ไม่ควรใช้มือป้องจมูก เพราะเชื้อจะติดอยู่ที่มือ ให้ไอจามใส่แขนเสื้อแทน
  • สวมหน้ากากอนามัย
  • ผู้ที่มีอาการป่วย หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง และภูมิต้านทานต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการไปสถานที่ดังกล่าว เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นสิ่งที่คนส่วนมากมักมองข้าม ทั้งที่จริงๆ แล้วควรได้รับการฉีดวัคซีนทุกปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีระดับที่สูงอยู่ตลอดเวลา เตรียมพร้อมรับมือกับเชื้อที่จะเข้ามาสู่ร่างกาย

ในทุกๆ ปี เชื้อไวรัสจะเปลี่ยนแปลงไปตลอด ทำให้ภูมิต้านทานเดิมไม่สามารถป้องกันโรคได้ แม้การฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว ลดการเข้ารักษาใน ICU และลดอัตราการเสียชีวิตได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top