เคยเป็นกันมั้ย อยู่ ๆ ก็หูอื้อข้างเดียว ข้างซ้าย ข้างขวา เป็น ๆ หาย ๆ แต่ก็นาน ๆ เป็นที และยังแก้ให้หายเองได้ เช่น ขยับกราม หรือปิดจมูกไล่ลมแรง ๆ แต่บางครั้ง หูอื้อ จะมาพร้อมกับการได้ยินเสียงลดลง หรือมีเสียงอยู่ในหู ซึ่งอาจหมายถึงความผิดปกติในหูได้
บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับอาการหูอื้อ หูอื้อข้างเดียว ไม่หาย เกิดจากอะไร วิธีรักษาให้ได้ผล และป้องกันไม่ให้เป็นอีกได้อย่างไรบ้าง
สารบัญ
หูอื้อ เป็นแบบไหน
หูอื้อ (Tinnitus) คืออาการที่มีเสียงอื้อดังอยู่ในหู รู้สึกเหมือนมีแมลงอยู่ข้างใน มีเสียงดังตุบ ๆ หรือได้ยินเป็นเสียงแหลม ๆ จนทำให้ได้ยินเสียงจากภายนอกไม่ค่อยชัด
หูอื้อ จะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มักเกิดขึ้นขณะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นโรคอื่น ๆ แฝงอยู่ มีทั้งแบบเป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย ดังนี้
- เสียงดังแบบแหลม เป็นความผิดปกติของหูชั้นใน หรือเกิดจากหูเสื่อมสภาพลง เกิดขึ้นได้ทั้งแบบข้างเดียวหรือสองข้าง ไม่เป็นอันตราย แต่อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ เพราะได้ยินตลอดเวลา อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม
- เสียงดังแบบได้ยินตามอวัยวะต่าง ๆ เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง มักเกิดกับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ เพราะแรงดันหูไม่ดี หรือหูระบายอากาศได้ไม่ค่อยดี
เช่น ปวดหูขณะขึ้นเครื่องบิน มักเป็น ๆ หาย ๆ แต่ถ้าปวดรุนแรงนาน ๆ อาจหมายถึงการมีโรคร้ายแฝงอยู่ก็ได้ - เสียงดังแบบตุบ ๆ เหมือนมีเสียงชีพจรเต้นตุบ ๆ ก้องอยู่ในหู มีสาเหตุมาจากเนื้องอกในหูชั้นนอก ถ้าเป็นเนื้องอกสีแดงอาจลุกลามได้เร็ว ต้องรีบรักษา มักเป็นอาการของหูอื้อข้างเดียว
หูอื้อข้างเดียว เกิดจากอะไรได้บ้าง
มีสาเหตุมาจากอวัยวะหลายส่วน ดังนี้
หูชั้นนอก เช่น ขี้หูอุดตัน เยื่อแก้วหูทะลุ หูชั้นนอกอักเสบ เนื้องอกของหูชั้นนอก
หูชั้นกลาง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ หรือน้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง เนื่องจากท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube เป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ หรือมาจากโรคหินปูนในหูชั้นกลาง
หูชั้นใน สาเหตุพบได้บ่อยที่สุด คือประสาทหูเสื่อมจากอายุ ซึ่งการที่เส้นประสาทหูอาจเสื่อม อาจเกิดได้จากสิ่งเหล่านี้
- การรับเสียงที่ดังมาก ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (Acoustic trauma) เช่น ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด หรือเสียงประทัด
- การรับเสียงที่ดังปานกลางในระยะเวลานาน ๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (Noise-induced hearing loss) เช่น อยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในคอนเสิร์ตที่เสียงดังมาก ๆ
- การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู (Ototoxic drug) เป็นเวลานาน ๆ เช่น ยาซาลิไซเลต (Salicylate) ยาอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) ยาควินิน (Quinine) หรือยาแอสไพริน (Aspirin)
- การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะจนมีผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน (Labyrinthine concussion)
- การติดเชื้อของหูชั้นใน (Labyrinthitis) เช่น ซิฟิลิส ไวรัสเอดส์
- การผ่าตัดหูจนกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน
- มีรูรั่วติดต่อกันระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease)
ความผิดปกติภายในสมอง หรือโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น โรคเส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมอง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง หรือเนื้องอกประสาทหู (Acoustic neuroma)
ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงกับหลอดเลือดดำเชื่อมต่อผิดปกติ (Arteriovenous malformation)
สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเหล่านี้อาจทำให้เกิดเสียงดังในหูได้
การวินิจฉัยอาการหูอื้อข้างเดียว
การวินิจฉัยจะอาศัยการซักประวัติและการตรวจอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น
- การตรวจหูและบริเวณรอบหู
- การตรวจการได้ยิน
- การวัดความดัน ท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน
- การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง
- การถ่ายภาพรังสี เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือกระดูกหลังหู ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือฉีดสารรังสีเข้าหลอดเลือด
การแก้อาการหูอื้อข้างเดียว
หูอื้อข้างเดียว หูอื้อไม่หาย แก้ไขรักษาได้ตามสาเหตุ มีทั้งรักษาด้วยยา และผ่าตัด
เสียงดังในหูที่เกิดจากพยาธิสภาพของหูชั้นใน เส้นประสาทหู และระบบประสาทส่วนกลาง มักจะรักษาไม่หายขาด โดยเฉพาะประสาทหูเสื่อม ยกเว้นว่าสาเหตุดังกล่าวเป็นสาเหตุที่รักษาได้
นอกจากนี้ ถ้าเกิดจากประสาทหูเสื่อม ควรหาสาเหตุหรือปัจจัยที่จะยิ่งทำให้หูเสื่อมเร็วกว่าผิดปกติ เพื่อหาทางชะลอไม่ให้หูเสื่อมไปมากกว่านี้
ในบางรายอาจไม่ทราบสาเหตุ หรือเป็นสาเหตุที่รักษาไม่ได้ อาการหูอื้อข้างเดียวอาจหายไปเอง หรือไม่หายเลยก็ได้ตลอดชีวิต
การป้องกันอาการหูอื้อข้างเดียว
วิธีป้องกันอาการหูอื้อข้างเดียวที่เราทำได้ คือหันมาปรับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น
- เมื่อเป็นโรคหวัด ต้องรักษาหวัดให้หาย ไม่ควรทิ้งไว้เรื้อรัง
- กินวิตามินเสริม เช่น วิตามินบี 12 ที่ช่วยบำรุงระบบประสาท ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหูอื้อข้างเดียว
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อฟื้นฟูและทำให้อวัยวะต่าง ๆ แข็งแรง
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อมีอาการหูอื้อข้างเดียว
ถ้าหูอื้อข้างเดียวและมีอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่อยู่ เป็นไข้ หรือเป็นหวัดแล้วหูอื้อ อีกทั้งยังเกิดขึ้นบ่อย ๆ จนกระทบชีวิตประจำวัน ควรรีบไปหาหมอทันที เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้อาการหูอื้อรุนแรงขึ้นจนรักษาไม่หาย
ในระหว่างที่หูอื้อ ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าหู และหมั่นทำความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปข้างใน
หูอื้อข้างเดียว เป็น ๆ หาย ๆ ถึงจะไม่ใช่อะไรที่น่ากลัว แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ยิ่งถ้ากระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรรีบไปหาหมอทันที จะได้รักษาอย่างถูกต้องปลอดภัย หายขาด
นอกจากนี้ การดูแลตัวเองตามอาการให้ได้ทันท่วงที ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรเทาหรือทำให้หายขาดจากอาการหูอื้อข้างเดียวได้เหมือนกัน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. คัคนานต์ เทียนไชย