ถุงน้ำในช่องคลอด หรือเรียกได้อีกอย่างว่า ซีสต์ (Cyst) เป็นถุงน้ำที่มีน้ำ หรือหนองเกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอด
ถุงน้ำในช่องคลอดมีหลายแบบซึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บในระหว่างคลอดบุตร การมีสารน้ำสะสมอยู่ในต่อมบาร์โธลิน หรือเกิดจากเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งภายในช่องคลอด
โดยปกติแล้วการมีถุงน้ำในช่องคลอดมักจะไม่ทำให้มีอาการ แต่บางครั้งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้ ถุงน้ำส่วนมากมักจะมีขนาดเล็กและไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ก็มีถุงน้ำบางลักษณะที่อาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและทำให้มีอาการปวด คัน หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
สารบัญ
ชนิดของถุงน้ำในช่องคลอด
ถุงน้ำในช่องคลอดนั้นมีหลายชนิด โดยชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่
วาจินอล อินคลูชั่น ซีสต์
วาจินอล อินคลูชั่น ซีสต์ (Vaginal Inclusion Cysts) เป็นถุงน้ำในช่องคลอดซึ่งพบได้บ่อยที่สุด โดยอาจเกิดระหว่างที่คลอดบุตร หรือจากการผ่าตัด หรือเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ผนังของช่องคลอด
การ์ทเนอร์ ดัก ซีสต์
การ์ทเนอร์ ดัก ซีสต์ (Gartner’s duct Cysts) จะมีการพัฒนาขึ้นในเวลาที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ และมักจะหายไปในเวลาที่คลอดบุตรแล้ว อย่างไรก็ตาม หากท่อนี้ยังคงอยู่หลังการคลอดก็อาจทำให้มีสารน้ำสะสมและทำให้เกิดถุงน้ำในผนังช่องคลอดได้
ถุงน้ำในต่อมบาร์โธลิน
ต่อมบาร์โธลิน (Bartholin) ตั้งอยู่ใกล้กับช่องคลอดบริเวณแคม หากมีผิวหนังมาปกคลุมรูเปิดของต่อมนี้ จะทำให้เกิดสารน้ำสะสมอยู่ภายในต่อมและทำให้เกิดถุงน้ำได้ ส่วนมากมักจะไม่มีอาการปวด แต่ถ้าหากมีการติดเชื้อก็อาจทำให้เกิดหนองได้
อาการที่พบ
ส่วนมากถุงน้ำในช่องคลอดนั้นไม่ได้ทำให้เกิดอาการผิดปกติ แต่คุณอาจสังเกตเห็นตุ่มยื่นออกมาจากผนังช่องคลอด มีอาการปวด ไม่สบายตัวระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ หรือเวลาใส่ผ้าอนามัยแบบสอด
การวินิจฉัย
ระหว่างตรวจภายในนั้น แพทย์จะสามารถคลำพบก้อนที่ผนังของช่องคลอดได้ แพทย์จะมีการซักประวัติรวมถึงอาการที่เกิดขึ้นและอาจมีการทดสอบเพิ่มเติม เช่น
- การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อจากถุงน้ำไปตรวจ เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ได้เกิดจากมะเร็งที่ช่องคลอด
- ตรวจตกขาวจากช่องคลอด หรือปากมดลูก เพื่อดูว่า มีการติดเชื้อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่
- เอกซเรย์ หากตุ่มนั้นอยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ หรืออยู่ในท่อปัสสาวะ
การติดตามและรักษา
ควรมีการตรวจติดตามถุงน้ำในช่องคลอดเพื่อดูว่า ขนาดโตขึ้นหรือไม่ หากถุงน้ำนั้นโตขึ้น หรือทำให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าเดิม ผู้ป่วยอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่หากถุงน้ำนั้นเกิดการติดเชื้อ หรือเป็นหนอง แพทย์อาจจะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในการรักษาด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากถุงน้ำในช่องคลอดนั้นพบได้น้อย อย่างไรก็ตาม ถุงน้ำเหล่านี้อาจจะโตขึ้นเรื่อยๆ และอาจทำให้มีอาการปวด ไม่สบายตัว และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
การผ่าตัดถุงน้ำออกนั้นก็อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในบริเวณตำแหน่งที่ตัดได้ด้วยเช่นกัน
ผลลัพธ์ในระยะยาว
ผลลัพธ์โดยทั่วไปของถุงน้ำในช่องคลอดไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะถุงน้ำส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่เนื้อร้ายและมักจะมีขนาดเล็ก หากมีการผ่าตัดออกไปแล้วก็มักจะไม่มีการกลับเป็นซ้ำอีก
วิธีป้องกันการเกิดถุงน้ำในช่องคลอด
ถุงน้ำในช่องคลอดเกิดขึ้นได้จากการบาดเจ็บ เช่น เวลาที่คลอดบุตร หรือต่อมอาจเกิดการอุดตันซึ่งมักจะเกิดจากการติดเชื้อ
อาการที่พบบ่อยในผู้หญิงที่มีถุงน้ำในช่องคลอดคือ อาการปวด ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยการแช่น้ำอุ่น
ส่วนวิธีป้องกันอื่นๆ คือ ควรมีการป้องกันในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ เช่น การสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี ไม่เพียงเท่านั้นการสวมถุงยางอนามัยยังเป็นการป้องกันการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์ด้วย
หากถุงน้ำในช่องคลอดเกิดการติดเชื้อ แพทย์อาจต้องมีการเจาะระบายออกมา หรือหากตรวจพบถุงน้ำ แพทย์จะมีการนัดตรวจติดตามเป็นระยะๆ เพื่อดูว่า ถุงน้ำมีการเปลี่ยนแปลง หรือได้ไปกดทับอวัยวะอื่นๆ หรือไม่
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี