ความผิดปกติหลังคลอด มีอะไรบ้าง scaled

ความผิดปกติหลังคลอด มีอะไรบ้าง?

การตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย และจิตใจของผู้หญิง ทั้งก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และหลังตั้งครรภ์ ในช่วงเวลานี้ ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้หญิงจะมีความอ่อนแอมากกว่าปกติด้วย

ดังนั้นว่าที่คุณแม่จะต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไปฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ ระมัดระวังไม่ให้เจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติของร่างกาย รวมถึงหากมีข้อสงสัยก็ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความรู้คุณแม่มือใหม่ โดยในบทความนี้ เราจะเจาะลึกเกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกาย และสุขภาพของผู้หญิงที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากคลอดบุตรแล้ว

7 ความผิดปกติหลังคลอด

สำหรับความผิดปกติหลังคลอดที่มักพบในผู้หญิงทั่วไป ทั้งจากวิธีคลอดบุตรตามธรรมชาติกับวิธีผ่าคลอด ได้แก่

1. ภาวะไข้หลังคลอด

ภาวะไข้หลังคลอด (Postpartum fever) จะเกิดขึ้นในช่วง 2-10 วันหลังคลอด โดยผู้ป่วยจะมีไข้ขึ้นประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส ส่วนมากมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือที่อวัยวะสืบพันธุ์

2. เต้านมอักเสบ

อาการเต้านมอักเสบ (Breast Infection) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ในหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร โดยมักเกิดขึ้นหลังจากคลอดบุตรแล้ว 3-4 สัปดาห์ โดยจะสังเกตว่า เต้านมจะแดง มีเนื้อแข็งขึ้น รู้สึกปวดเจ็บเต้านม อาจเป็นข้างเดียว หรือเกิดขึ้นแค่บางตำแหน่งของเต้านม

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการไข้สูง รู้สึกหนาวสั่นได้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเต้านมอักเสบ คือ เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งส่งผ่านมาจากจมูก และคอทารกระหว่างที่มารดาให้นมบุตร

3. ภาวะเลือดไหลไม่หยุด

ภาวะเลือดไหลไม่หยุด (Excessive bleeding) หลังคลอดบุตรจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในช่วง 2-6 สัปดาห์หลังคลอดบุตร โดยมักจะเกิดขึ้นทันทีหลังคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ หรือผ่าคลอดด้านหน้ามดลูก (Cesarean section)

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่มีภาวะเลือดไหลไม่หยุดก็ควรสังเกตว่า เลือดที่ไหลออกมามีปริมาณน้อยลงหรือไม่ หากเลือดยังมีปริมาณมาก สีแดงสด รู้สึกเจ็บ หรือปวดเกร็งท้องน้อยมากกว่า 3-4 วัน ก็ควรไปพบแพทย์ว่า อวัยวะสืบพันธุ์มีอาการบาดเจ็บ หรือติดเชื้อจนเลือดออกมากหรือไม่

4. ท้องผูก หรือปัสสาวะเล็ด

ภาวะปัสสาวะเล็ด (Urinary incontinence) หลังคลอดก็เป็นอีกความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปหลังจากคลอดบุตร อาการนี้ไม่ใช่อาการอันตราย หรือบ่งบอกว่า ระบบขับถ่ายปัสสาวะมีปัญหา เพียงแต่ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายตัว เคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องตัวนัก

5. ติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บ

หลังจากคลอดบุตร แพทย์จะมีการเย็บปิดแผลบริเวณช่องคลอดซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้บริเวณที่เป็นแผลฝีเย็บ (Episiotomy infection) อาการที่บ่งบอกว่า เกิดการติดเชื้อได้แก่ ปากแผลเริ่มมีรอยคล้ำ มีหนองไหลออกมา รู้สึกปัสสาวะลำบาก และมีไข้ต่ำ

โดยปกติการติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บจะไม่เกิดขึ้น หากดูแลความสะอาดบริเวณแผลเป็นอย่างดี รวมถึงไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะพักฟื้นหลังคลอด และงดมีเพศสัมพันธ์

6. ปวดเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรผ่านวิธีผ่าคลอด อาจรู้สึกปวดเจ็บที่แผลผ่าตัดได้ เนื่องจากแผลกำลังสมานตัวติดกันอีกครั้ง ทำให้ผิวของแผลเกิดการหดรั้ง สร้างความรู้สึกเจ็บปวดได้ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอักเสบบวมแดงร่วมด้วย

7. อาการซึมเศร้าหลังคลอด

เป็นภาวะทางจิตเวชที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร โดยมักเป็นผลมาจากการปรับตัว และอารมณ์ที่ยังไม่เข้าที่ หรือไม่มั่นคงหลังคลอด นอกจากนี้ยังอาจกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ความสมบูรณ์ และพัฒนาการจนรู้สึกเศร้า หรือผิดหวังในตนเอง

นอกจากนี้อาการซึมเศร้าหลังคลอดยังพบได้ในหญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ซึ่งอาจกังวลเรื่องเงิน ที่อยู่อาศัย สามี หรือความพร้อมในการเลี้ยงดูลูก

วิธีดูแลตนเองหลังคลอดบุตร

เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูหลังคลอด และรู้สึกสบายตัวมากขึ้น คุณสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้

  • ประคบร้อน และประคบเย็น หากมีอาการคัดตึงหน้าอกซึ่งเกิดจากน้ำนม และเลือดไปคั่งที่เต้านมมาก
  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขมิบอวัยวะเพศ” เพื่อให้แผลฝีเย็บสมานเร็วขึ้น หากรู้สึกไม่สบายตัวก็สามารถนำเจลประคบเย็นมาประคบได้พร้อมกับนั่งบนหมอน หรือเบาะนุ่มๆ
  • ห่มผ้าบางๆ หรือไม่ห่มผ้าขณะนอนหลับ เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังคลอดอาจทำให้คุณรู้สึกร้อนง่ายกว่าปกติ
  • รับประทานยาแก้ปวด หากรู้สึกเจ็บแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ เนื่องจากการคลอดบุตรย่อมส่งผลให้อวัยวะเพศฉีกขาด หรือมีแผลผ่าตัด จึงทำให้รู้สึกเจ็บได้เป็นธรรมดา แต่ยาแก้ปวดควรสั่งจ่ายโดยแพทย์เพื่อความปลอดภัย
  • ไม่ยกของหนัก และงดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6 สัปดาห์แรกหลังจากคลอดบุตร เพื่อให้ร่างกายพักฟื้น ตำแหน่งมดลูกค่อยๆ กลับไปยังตำแหน่งปกติ
  • หมั่นขยับตัว เพื่อให้ลำไส้ และระบบขับถ่ายกลับมาทำงานเป็นปกติ รวมถึงช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงลดพังผืดในช่องท้อง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ เพราะสารพิษสามารถส่งผ่านไปถึงทารกทางน้ำนมได้ อีกทั้งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ยังช่วยบำรุงร่างกายหลังคลอดให้กลับมาเป็นปกติด้วย

อาการผิดปกติหลังคลอดบุตรหลายอย่างไม่ได้ส่งผลแต่เพียงตัวมารดาเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงตัวทารกด้วย ดังนั้นมาดาและผู้อยู่ใกล้ชิดจึงต้องสังเกตสุขภาพหลังคลอดว่า เป็นอย่างไร มีอะไรผิดปกติหรือไม่

หากเกิดความผิดปกติ หรือรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับอาการบางอย่างของร่างกายควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อขอรับการวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้เพื่อสุขภาพของแม่และเด็กจะได้แข็งแรง ปราศจากโรคภัย และมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

Scroll to Top