การฉีดวัคซีนเด็กวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปี นับว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรต้องปฏิบัติ ไม่ควรละเลย เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กเพื่อป้องกันโรคร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นแล้วเป็นอันตรายต่อเด็กได้
วัคซีนในแต่ละชนิดนั้นสร้างมาจากไวรัส หรือแบคทีเรียที่ถูกทำให้สิ้นฤทธิ์ด้วยกรรมวิธีทางการแพทย์จนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้แล้ว แต่จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายของเด็กเกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน สำหรับป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายๆ ได้ในอนาคต
สารบัญ
กำหนดการฉีดวัคซีนเด็กในวัยต่างๆ
การฉีดวัคซีนของเด็กต้องเป็นไปตามแบบแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการสนับสนุนให้ฉีดวัคซีน ” ฟรี ” สำหรับเด็กทุกคนในปี 2561 จำนวน 9 ชนิด สามารถควบคุมโรคได้ถึง 11 โรค ได้แก่
- วัคซีนวัณโรค หรือวัคซีนบีซีจี
- วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี
- วัคซีนโรคคอตีบ
- วัคซีนโรคไอกรน
- วัคซีนโรคบาดทะยัก
- วัคซีนโรคโปลิโอที่มีทั้งแบบชนิดรับประทานและชนิดฉีด
- วัคซีนโรคหัด
- วัคซีนโรคหัดเยอรมัน
- วัคซีนโรคคางทูม
- วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี
- วัคซีนโรคเอชพีวี
ลำดับการฉีดวัคซีนเด็ก
ลำดับการฉีดวัคซีนเด็กตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปี มีดังนี้
1. วัคซีนเด็กสำหรับเด็กแรกเกิด
- BCG ป้องกันวัณโรค: ให้ก่อนออกจากโรงพยาบาล
- HB1 ป้องกันโรคตับอักเสบบี: ต้องฉีดวัคซีนตัวนี้ให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
2. วัคซีนเด็ก อายุ 1 เดือน
- HB2 ป้องกันโรคตับอักเสบบี
3. วัคซีนเด็ก อายุ 2 เดือน
- DTP-HB1 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี
- OPV1 ป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน โดยใช้หยอดข้างปาก
4. วัคซีนเด็ก อายุ 4 เดือน
- DTP-HB2 วัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี
- OPV2 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
- IPV1 ป้องกันโรคโปลิโอ โดยต้องให้แบบฉีด 1 เข็ม
5. วัคซีนเด็ก อายุ 6 เดือน
- DTP-HB3 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี
- OPV3 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
6. วัคซีนเด็ก อายุ 9 เดือน
- MMR1 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ซึ่งถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนด จะต้องรีบฉีดโดยเร็วที่สุด
7. วัคซีนเด็ก อายุ 1 ปี
- LAJE1 ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์
8. วัคซีนเด็ก อายุ 1 ปี 6 เดือน
- DTP4 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน
- OPV4 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
9. วัคซีนเด็ก อายุ 2 ปี 6 เดือน
- LAJE2 ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์
- MMR2 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
10. วัคซีนเด็ก อายุ 4 ปี
- DTP5 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน
- OPV5 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
11. วัคซีนเด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 1
- MMR วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
- HB ป้องกันโรคตับอักเสบบี
- LAJE ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์
- IPV ป้องกันโรคโปลิโอ โดยต้องให้แบบฉีด 1 เข็ม
- DT ป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก
- OPV ป้องกันโรคโปลิโอ ชนิดรับประทาน 1 ครั้ง
- BCG ป้องกันโรควัณโรค
12. วัคซีนเด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 5
- วัคซีน HPV1 และ HPV2 ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV
13. วัคซีนเด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 6
- วัคซีน DT ป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก
วัคซีนเด็กเป็นการฉีดเพื่อให้เด็กให้มีภูมิป้องกันจากโรคร้ายที่จะเกิดขึ้นได้หลังจากอายุแรกเกิดจนถึง 12 ปี นับว่าเป็นผลดีกับตัวเด็กเป็นอย่างมาก และวัคซีนก็ไม่ใช่ยารักษาโรคด้วยเช่นกัน
ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรใส่ใจพาบุตรหลานทุกช่วงอายุ ไปฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนดที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้อย่างไม่ตกหล่น หรือขาดไป
แต่หากเราไม่สามารถพาเด็กไปฉีดวัคซีนตามกำหนดดังกล่าว อาจเกิดจากการลืม หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถไปรับวัคซีนได้ เช่น ต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนเพราะเด็กมีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงจนต้องเลื่อนการได้ฉีดวัคซีนออกไป ให้รีบพาไปฉีด และไม่ต้องเริ่มฉีดวัคซีนใหม่ตั้งแต่เข็มแรกแต่ให้นับต่อไปได้เลย
ถ้าวัคซีนนั้นต้องให้มากกว่า 1 ครั้ง เมื่อได้วัคซีนเด็กไปบ้างแล้วไม่สามารถให้ครั้งต่อไปตามกำหนดได้ก็ให้ฉีดวัคซีนต่อได้เลยโดยไม่ต้องเริ่มนับเข็มที่ 1 ใหม่เช่นกัน
กำหนดการฉีดวัคซีนเด็กที่มารับล่าช้าไม่ตรงตามกำหนด
กระทรวงสาธารณสุขมีกำหนดการฉีดวัคซีนเด็กที่ไม่สามารถไปรับวัคซีนตามกำหนดได้ในปี 2561 เป็นวัคซีน 9 ชนิด แต่สามารถควบคุมโรคได้ถึง 11 โรค เหมือนเด็กที่ได้รับตามกำหนดปกติและไม่มีค่าใช้จ่าย
ในปีนี้ได้มีการยกเลิกวัคซีน “โรคไข้เลือดออก” ออกไปแล้ว ซึ่งกำหนดการให้ไว้ 5 ครั้ง ตามช่วงอายุดังต่อไปนี้
ครั้งที่ 1 เมื่อพบเด็กครั้งแรกช่วงอายุ 1 – 6 ปี เดือนที่ 0
- DTP-HB1 วัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี
- OPV1 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
- IPV ป้องกันโรคโปลิโอ โดยต้องให้แบบฉีด 1 เข็ม
- MMR1 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
- BCG ป้องกันโรควัณโรค
ครั้งที่ 2 อายุ 1 – 6 ปี เดือนที่ 1
- DTP-HB2 วัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี
- OPV2 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
- LAJE1 ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์
ครั้งที่ 3 อายุ 1 – 6 ปี เดือนที่ 2
- MMR2 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
ครั้งที่ 4 อายุ 1 – 6 ปี เดือนที่ 4
- DTP-HB3 วัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี
- OPV3 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
ครั้งที่ 5 อายุ 1 – 6 ปี เดือนที่ 12
- DTP4 รวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน
- OPV4 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
- LAJE2 ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์
ครั้งที่ 1 เมื่อพบเด็กครั้งแรกอายุ 7 ปี ขึ้นไป เดือนที่ 0
- dT1 ป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก
- OPV1 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
- IPV กรณีเก็บตกเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี และนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1
- MMR / MR วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
- BCG ให้ในกรณีที่ไม่เคยได้รับเมื่อแรกเกิดและไม่มีแผลเป็น แต่จะงดให้ในกรณีเด็กมีอาการติดโรคเอดส์
ครั้งที่ 2 อายุ 7 ปี ขึ้นไป เดือนที่ 1
- HB1 ป้องกันโรคตับอักเสบบี
- LAJE1 ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์
ครั้งที่ 3 อายุ 7 ปี ขึ้นไป เดือนที่ 2
- dT2 ป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก
- OPV2 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
- HB2 ป้องกันโรคตับอักเสบบี
ครั้งที่ 4 อายุ 7 ปีขึ้นไปเดือนที่ 7
- HB3 ป้องกันโรคตับอักเสบบี
ครั้งที่ 5 อายุ 7 ปี ขึ้นไป เดือนที่ 12
- dT3 ป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก
- OPV3 ป้องกันโรคโปลิโอ แบบรับประทาน 1 ครั้ง
- LAJE2 ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์
ในกรณีที่เด็กไม่สามารถไปฉีดวัคซีนตามกำหนด ล่าช้า หรือไม่ครบถ้วนนั้น รวมถึงเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนดครบภายในเวลา 1 ปี สามารถให้วัคซีนต่อเนื่องตามที่กำหนดในกำหนดการให้วัคซีนตามปกติ
หากมีเหตุจำเป็นและเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์จากวัคซีนอย่างเต็มที่ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการฉีดวัคซีนตามความเหมาะสมต่อไป
สถานที่ขอรับวัคซีนเด็ก
การรับการฉีดวัคซีนเด็ก สามารถพาลูกหลานไปรับได้ที่คลินิกเด็กทั่วไป เทศบาลในท้องถิ่นบางแห่ง และโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าเด็กจะมีอาการน้ำมูกไหล หรือเป็นหวัดเล็กน้อยก็ยังสามารถรับวัคซีนได้
โดยผลข้างเคียงจากวัคซีนอาจมีบ้าง แต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อยและใช้เวลาไม่นานก็จะหายไป หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือสอบถามแพทย์ผู้ให้บริการเพิ่มเติม
การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ทางการแพทย์ได้วิจัยมาเป็นอย่างดีแล้วว่า เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปี ควรได้รับวัคซีนตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้จึงจะได้ผลสูงสุด
ดังนั้น ถ้าเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนด อาจทำให้ลูกได้รับวัคซีนไม่ครบ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงจนไม่อาจรักษาได้
ฉะนั้นผู้ปกครองจึงไม่ควรเลื่อนนัดแพทย์ หากไม่ติดเหตุจำเป็นสุดวิสัยจริงๆ นอกจากนี้ ผู้ปกครองอาจพิจารณาให้วัคซีนอื่นๆ ที่ไม่ได้รวมอยู่ในโปรแกรมมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขด้วย เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ โรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า มะเร็งปากมดลูก ไข้นิวโมคอคคัส หรือไข้ฮิบ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย