อาการเวียนศีรษะ (Dizziness ) เป็นอาการที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นกันได้ สาเหตุที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ เมารถ เมาเรือ เป็นไข้ ไม่สบาย ได้รับสารเคมี อากาศร้อน ตากแดดนานเกินไป และสาเหตุอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก
แต่หากคุณมีอาการวิงเวียนศีรษะบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดอาการต่อเนื่องกันหลายวัน อาการเป็นรุนแรงจนมีอาการบ้านหมุน (vertigo) ก็อย่าได้ชะล่าใจ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างก็ได้
อาการเวียนศีรษะแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้แก่ เวียนศีรษะแท้ และ เวียนศีรษะเทียม
สารบัญ
เวียนศีรษะแท้คืออะไร?
อาการเวียนศีรษะแท้ (True vertigo) คือ อาการวิงเวียนร่วมกับเสียการทรงตัว เช่น รู้สึกโครงเครง เดินเซ เหมือนบ้านหมุน แม้จะนั่งอยู่กับที่ก็ตาม บางครั้งอาจคลื่นไส้ อาเจียน มีเสียงดังอื้ออึงในหู และตากระตุกด้วย
อาการเวียนศีรษะแท้เกิดได้จากสาเหตุดังนี้
- มีความผิดปกติของหูส่วนใน เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน ตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือเคลื่อนที่ หูชั้นในอักเสบ ประสาทการทรงตัวอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยกว่า 90% ของอาการเวียนศีรษะแท้ทั้งหมด
- มีความผิดปกติของสมอง เช่น สมองขาดเลือด มีเนื้องอกในสมอง ได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ สาเหตุของอาการเวียนศีรษะแบบนี้จะพบได้น้อยกว่าแต่มีความรุนแรงสูง และมักพบร่วมกับอาการอื่นๆ ด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ ระบบประสาทผิดปกติ
เวียนศีรษะเทียมคืออะไร?
อาการเวียนศีรษะเทียม (False vertigo) คือ อาการวิงเวียน ปวดศีรษะ หน้ามืดทั่วๆ ไป แต่ไม่มีความรู้สึกโคลงเคลงเหมือนบ้านหมุน บางครั้งอาจคลื่นไส้ อาเจียน และคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน
อาการเวียนศีรษะเทียมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- มีภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจเกิดจากเป็นโรคธาลัสซีเมีย ขาดธาตุเหล็ก หรือสูญเสียเลือดมาก ทำให้ไม่มีเม็ดเลือดแดงที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ จึงเกิดอาการวิงเวียนศีรษะหน้ามืดได้
- ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจเป็นโรคประจำตัว หรือเป็นผลข้างเคียงจากภาวะอื่นๆ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ แย่กว่าปกติ หรือเกิดจากการรับประทานอาหารไม่เหมาะสม
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือด เช่น หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้การสูบฉีดเลือดผิดปกติ
- มีไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนโลหิตถูกปิดกั้น และยังเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกตามมาด้วย
- ร่างกายขาดน้ำ จากภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น ท้องเสีย เป็นไข้ อาเจียน หรือเสียเลือดมาก
- มีความผิดปกติที่ระบบประสาท เช่น ศีรษะบาดเจ็บ เป็นโรคพาร์กินสัน โรคลมบ้าหมู
- มีน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) หรืออดอาหารเป็นเวลานาน
- มีความเครียด ความวิตกกังวล
- พักผ่อนไม่เพียงพอ บางครั้งการนอนที่ไม่มีคุณภาพอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวได้ หากนอนแค่ไหนก็ยังเหมือนนอนไม่พอ
- เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น อยู่ระหว่างมีประจำเดือน หรือมีอาการแพ้ท้องเนื่องจากตั้งครรภ์
- เป็นผลจากยา และสารเสพติดบางชนิด
สาเหตุต่างๆ เหล่านี้อาจทราบได้จากโปรแกรมตรวจสุขภาพ ทั่วไป เพื่อให้สามารถทราบค่าเลือดต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ จึงทำให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมได้
วิธีรักษาอาการปวดศีรษะ วิงเวียนง่ายๆ ที่สามารถทำได้ตนเอง
- ดื่มน้ำมากๆ หรือดื่มน้ำหวาน เครื่องดื่มเย็นๆ ที่ทำให้ร่างกายสดชื่น ผ่อนคลาย
- รับประทานขนม ผลไม้ ของหวานที่มีน้ำตาล
- ไม่ลุกนั่งอย่างรวดเร็ว และขยับตัวอย่างช้าๆ
- ไม่อยู่ที่ที่อากาศร้อนอบอ้าว หรือมีแดดจัด
- เปลี่ยนไปอยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่ง ถ่ายเท
- งดดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนชั่วคราว
- นอนหมอนสูง หลีกเลี่ยงการนอนหมอนแบน หรือนอนราบไปกับพื้น
- งีบหลับซักพัก
- หลับตาเพื่อพักสายตาสักครู่
- รับประทานยาแก้ปวด หรือยาแก้เวียนศีรษะ
วิธีป้องกัน
การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษ ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
หากคุณดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบประสาททำงานก็จะเป็นปกติ ช่วยป้องกันอาการปวดวิงเวียนศีรษะได้ และหากมีอาการเวียนศีรษะบ่อยๆ หรือเรื้อรัง ก็ควรรีบไปหาหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ จะได้รีบรักษาได้ทันท่วงที
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย