ไข้หวัดจากไวรัสและไข้หวัดจากแบคทีเรีย ต่างกันอย่างไร scaled

ไข้หวัดจากไวรัสและไข้หวัดจากแบคทีเรีย ต่างกันอย่างไร

เมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล สภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากร้อนเป็นฝน จากฝนเป็นหนาว และจากหนาวเป็นร้อน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนป่วยเป็นหวัด หรือไข้หวัดกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง

เมื่อมีอาการหวัด คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า ต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อทุกครั้งไป แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เนื่องจากการรักษาโรคหวัดขึ้นอยู่กับการติดเชื้อด้วยว่า “คุณติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย

ไข้หวัดจากไวรัส

ไข้หวัดที่เป็นกันโดยส่วนใหญ่ หรือไข้หวัดธรรมดา (Common cold) กว่า 80 เปอร์เซ็นเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ เชื้อไวรัสเหล่านี้มีจำนวนมากถึงขนาดที่ว่า “ถ้าเราเป็นหวัดปีละ 3 ครั้ง ก็ยังเป็นหวัดจากเชื้อไวรัสได้ไม่ครบทุกชนิดที่มีบนโลก”

เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดหวัดนั้นส่วนใหญ่จะมีชื่อสายพันธุ์ ได้แก่ เชื้อ Rhinoviruses ซึ่งจะก่อให้เกิดไข้หวัดธรรมดาได้ถึงร้อยละ 30-50 จากจำนวนคนที่ติดเชื้อหวัดทั้งหมดที่มีบนโลก

ส่วนเชื้อ Coronaviruses จะก่อให้เกิดไข้หวัดอยู่ที่ร้อยละ 10-15 จากจำนวนของคนเป็นไข้หวัดทั้งหมด

อาการของคนเป็นไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส

ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส หรือไข้หวัดธรรมดา (Common cold) จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ต่ำๆ หรืออาจไม่มีไข้เลยก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงทางจมูกและทางเดินหายใจ ดังนี้

  • มีน้ำมูกใสๆ (บางครั้งช่วงเช้าอาจมีสีเหลืองข้น)
  • มีอาการคัดจมูก แน่นจมูก
  • ไอ จาม
  • เจ็บคอ คอแดง
  • ต่อมทอลซินบวมแต่ไม่มีตุ่มหนองอักเสบ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่นข้างต้น

ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดจากไวรัสส่วนมากจะไม่มีอาการรุนแรงและจะมีอาการป่วยอยู่ราว 7-14 วัน จากนั้นจะหายเองได้เป็นปกติ แต่ในช่วง 3-5 วันแรก จะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการหนักที่สุด

ดังนั้น ในช่วงดังกล่าวจึงควรดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้

ความแตกต่างของไข้หวัดจากไวรัสและไข้หวัดจากแบคทีเรีย

ไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีอาการเหมือนกับไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสทุกประการ เพียงแต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้  ดังนี้

  • มักจะมีอาการป่วยเรื้อรังนานกว่า 5-10 วัน
  • มีไข้ตัวร้อนสูง
  • มีอาการเจ็บคอมาก

ถ้าหากเป็นแบบหวัดเรื้อรังอาจมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณโพรงจมูกและไซนัส สังเกตได้ ดังนี้

  • มีน้ำมูกสีเขียวข้นปนสีเหลือง
  • มีอาการปวดบริเวณจมูกและตึงบนใบหน้า
  • มีอาการคัดแน่นจมูก
  • ความสามารถในการรับกลิ่นแย่ลง
  • ขณะเดียวกันก็อาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอร่วมกับการอักเสบบริเวณต่อมทอนซิลด้วย

ดังนั้นถ้าอยากทราบว่า ผู้ป่วย หรือตัวคุณเป็นไข้หวัดที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยหรือไม่ สามารถตรวจเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีดังนี้

  • อ้าปากแล้วใช้ไฟฉายส่อง หรือมองผ่านกระจก เพื่อตรวจดูว่า ต่อมทอนซิลที่อยู่ข้างบริเวณข้างลำคอมีจุดขาว หรือจุดหนองหรือไม่

หากพบว่า มีลักษณะดังกล่าว แสดงว่า เป็นไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังมีวิธีที่น่าสนใจอีก ดังนี้

  • ลองจับบริเวณใต้กรามทั้งสองข้างของใบหน้าว่า มีการบวมของต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ โดยใช้วิธีกดลงไป หากมีอาการเจ็บ และ/หรือ สัมผัสได้ว่า มีอาการบวมก็แสดงว่า น่าจะติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว

วิธีรักษาไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย

  • ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องอีกครั้งและรับการรักษา แพทย์อาจจัดยาแก้อักเสบรวมถึงยาประเภทอื่นๆ ที่จำเป็นตามความเหมาะสมของโรค
  • ถ้าไม่สะดวกไปพบแพทย์ควรซื้อยาฆ่าเชื้อจากร้านที่มีเภสัชกรประจำ ไม่ควรซื้อยาเองตามใจชอบ หรือซื้อตามที่คนอื่นแนะนำมา และห้ามแบ่งยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อของตนเองให้แก่ผู้อื่น เนื่องจากยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อมีหลายชนิด เช่น เตตราซัยคลิน เพนนิซิลลิน โคทรัยม็อกซาโซล อะม็อกซิซิลลิน อิริทโทรมัยซิน  ซึ่งยาแต่ละชนิดก็ใช้กับเชื้อแบคทีเรียที่แตกต่างกัน
  • รับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามจำนวนที่แพทย์ หรือเภสัชกร จัดให้จนครบ เพื่อป้องกันภาวะดื้อยาแก้อักเสบในอนาคต เพราะหากเกิดอาการดื้อยาขึ้นมา คราวหน้าเมื่อป่วยและมีการอักเสบเกิดขึ้นคุณอาจจำเป็นต้องใช้จำนวนยาและประเภทของยามากยิ่งขึ้น แน่นอนว่า การใช้ยาในปริมาณมากขึ้นจะส่งผลเสียต่อการทำงานของตับและไต

การดูแลและป้องกันตนเองจากไข้หวัด

วิธีการรักษาไข้หวัดที่ดีที่สุดนั้น นอกจากจะต้องรับประทานยาตามแพทย์ หรือเภสัชกร กำหนดให้แล้ว ผู้ป่วยยังควรดูแลตนเองดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และตรงเวลา
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ใช้ช้อนกลางทุกครั้งในการรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรือใกล้ชิดผู้ป่วย

ข้อปฏิบัติเหล่านี้ยังสามารถนำมาใช้ในการป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดได้ด้วย รวมทั้งควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นประจำทุกปี


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

Scroll to Top