ดูแลและจัดการอย่างไร เมื่อเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ

ดูแลและจัดการอย่างไร เมื่อเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย ทุกเพศ ทุกวัยต่างมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ หากมีอาการถึงขั้นรุนแรงก็จะต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดและให้ยาฆ่าเชื้อ ดังนั้นเราจึงควรทำความรู้จัก วิธีสังเกตอาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบไว้เพราะถือเป็นโรคใกล้ตัว

ความหมายของโรคไส้ติ่งอักเสบ 

โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) คือ ภาวะอักเสบของไส้ติ่งซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ด้านปลายสุดของลำไส้เล็กกับส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่งมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อความยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร

อาการเด่นๆ ที่สังเกตได้ของโรคไส้ติ่งอักเสบคือ อาการปวดท้อง คล้ายกับอาการปวดท้องทั่วไป แต่ในช่วงแรกผู้ป่วยมักจะปวดรอบๆ สะดือ หรือไม่สามารถบอกได้ว่าปวดส่วนไหนมากที่สุด ก่อนที่ในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะเริ่มปวดชัดเจนขึ้นบริเวณท้องน้อยด้านขวา

สาเหตุของโรคไส้ติ่งอักเสบ

โรคไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคได้ สามารถแบ่งได้ดังนี้

1. เชื้อแบคทีเรีย

การติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นอีกสาเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้สำหรับโรคไส้ติ่งอักเสบ และไม่ใช่แค่เชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเชื้อไวรัสและเชื้อราอื่นๆ ด้วย โดยเชื้อเหล่านี้จะกระจายไปยังบริเวณไส้ติ่งจึงทำให้เกิดอาการอักเสบตามมา

2. การอุดตันที่ไส้ติ่ง

โรคไส้ติ่งอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จากบางอย่างเข้าไปอุดตันอยู่ในไส้ติ่ง หรือที่เรียกอีกว่า “โพรงไส้ติ่งอุดตัน” โดยสิ่งที่เข้าไปอุดตันอยู่ในบริเวณนั้นมีด้วยกันหลายปัจจัย ได้แก่

  • ก้อนอุจจาระ
  • เศษอาหารที่ถูกหินปูนเกาะ
  • มีสิ่งแปลกปลอมไปอุดตัน เช่น หิน สิ่งที่ปะปนจากอาหารที่ไม่สะอาด
  • ก้อนเนื้อมะเร็ง
  • พยาธิในลำไส้เอนเทอโรเบียส เวอร์มิคูลาริส (Enterobius vermicularis)

3. ปฏิกิริยาตอบสนองจากต่อมน้ำเหลือง

เมื่อเกิดการติดเชื้อ หรือเกิดการอักเสบโดยเฉพาะที่ลำไส้ ต่อมน้ำเหลืองซึ่งอยู่ทั่วตามร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณไส้ติ่งด้วย

ผลที่ตามมาก็คือ ต่อมน้ำเหลืองจะขยายตัวมากขึ้นจนทำให้ไปปิดกั้นไส้ติ่ง และทำให้ไส้ติ่งเกิดการอักเสบตามมา

อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ

อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบสามารถใช้เกณฑ์การแบ่งได้หลายแบบ ดังนี้

1. อาการแบ่งตามระยะความรุนแรง

การแบ่งระยะอาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ สามารถที่จะแบ่งได้ถึง 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นช่วงที่ไส้ติ่งเพิ่งเริ่มอุดตัน ผู้ป่วยจึงจะมีอาการปวดท้องอย่างกะทันหัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และรู้สึกจุกเสียดที่ท้อง
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ไส้ติ่งเริ่มบวมและเริ่มมีการลุกลามไปถึงไส้ติ่งชั้นนอก ผู้ป่วยจะปวดจากบริเวณรอบสะดือไล่มาที่ท้องน้อยด้านขวา อาจมีอาการท้องเสียได้ อาการมักเป็นอย่างรวดเร็วภายใน 2 วัน
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุดเพราะเป็นระยะที่ไส้ติ่งแตกแล้ว และสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องได้รับการรักษาโดยด่วนที่สุด

2. อาการไส้ติ่งอักเสบในหญิงตั้งครรภ์

โรคไส้ติ่งอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ในหญิงตั้งครรภ์ด้วย อาการที่แสดงออกมานั้นเหมือนผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบปกติ เพียงแต่จะมีอาการบางอย่างที่แตกต่างออกไป เช่น ปวดท้องส่วนขวาล่างเป็นพิเศษ ไม่มีไข้

การตรวจวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบในหญิงตั้งครรภ์จะตรวจพบได้ง่ายที่สุดในช่วง 1-2 ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หากคุณพบว่า ตนเองมีอาการเสี่ยงจะเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบระหว่างตั้งครรภ์ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที

เนื่องจากปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์คือ โรคจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในขณะตั้งครรภ์ และอาจมีอาการแทรกซ้อนบริเวณไส้ติ่งได้

นอกจากนี้การรีบตรวจหาโรคไส้ติ่งอักเสบในขณะตั้งครรภ์ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วย (Preterm labor)

3. อาการไส้ติ่งอักเสบ (ในเด็ก)

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบได้กันทั้งหมดรวมถึงเด็กและวัยรุ่น (อายุประมาณ 10-19 ปี) ด้วย แต่อาการแสดงของไส้ติ่งอักเสบในเด็กอาจแตกต่างไปจากผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่

มีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดท้องบริเวณรอบสะดือ ก่อนจะเริ่มเปลี่ยนไปที่บริเวณส่วนท้องขวาล่าง อาการจะไม่ทุเลาลงภายใน 12-24 ชั่วโมง และจะปวดรุนแรงมากขึ้นหลังจากนั้น
  • มีไข้ขึ้นสูง
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • เบื่ออาหาร
  • พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เซื่องซึมกว่าเดิม เดินตัวงอ

หากเด็กมีอาการปวดท้องมากควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้ติ่งอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้ติ่งอักเสบจะอยู่ในระยะที่ไส้ติ่งอักเสบแตก เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษาให้ทันเวลา จึงทำให้ไส้ติ่งแตกและมีการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังบริเวณอื่นๆ

สำหรับภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้ติ่งอักเสบ ได้แก่

  • ฝี (phlegmon or abscess) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ต้องให้การรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อเข้าเส้นเลือด อาจจะต้องมีการเจาะระบายหนอง หรือตามด้วยการผ่าตัดไส้ติ่ง
  • เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (peritonitis) เป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งจะเกิดเมื่อไส้ติ่งแตกไปแล้ว เชื้อโรคซึ่งอยู่ในไส้ติ่งได้แพร่กระจายออกไปโดยรอบทำให้เนื้อเยื่อเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดท้องอยู่ตลอดเวลารวมถึงรู้สึกไม่สบายตัวมากกว่าเดิม หากไม่รีบรักษา ผู้ป่วยก็จะทำให้เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบเรื้อรังและเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบ

โรคไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากพอสมควรเพราะหลายๆ อาการมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ และอาจทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ เช่น โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร โรคถุงน้ำรังไข่อักเสบ โรคลำไส้อักเสบ

ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องซักประวัติของผู้ป่วยอย่างละเอียดและจะต้องมีการตรวจกดบริเวณท้องเพื่อประเมินอาการด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการตรวจแบบอื่นๆ เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบเป็นไปอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น เช่น

  • การกดท้องแล้วรู้สึกเจ็บเฉพาะที่ (local tenderness)
  • การตรวจทางทวารหนัก (Rectal examination)
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเลือก (Complete Blood Count: CBC)
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan (Computerised Tomography)
  • การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวด์ (Ultrasound)

อย่างไรก็ตาม การตรวจวินิจฉัยบางวิธีจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มซึ่งอาจเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ อีกทั้งผู้ป่วยเด็กที่ต้องเข้ารับการตรวจบางรายอาจต้องได้รับรังสีจากการตรวจบางวิธี และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายภายหลังได้

ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นดุลยพินิจของแพทย์ว่า ผู้ป่วยแต่ละรายควรจะเข้ารับการตรวจด้วยวิธีใดบ้าง

วิธีรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบ

การรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบสามารถทำได้โดยวิธีการผ่าตัดและการให้ยาฆ่าเชื้อรวมถึงการเจาะระบายหนอง

สำหรับการผ่าตัดสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ ได้แก่

  1. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) ถือเป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะแผลจะมีขนาดเล็กเพียง 0.5-1 เซนติเมตรเท่านั้น และใช้ระยะเวลาฟื้นฟูร่างกายไม่นานมาก วิธีผ่าตัดแพทย์จะเจาะผิวหนังเป็นช่องเล็กๆ สำหรับสอดกล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไป จากนั้นจะผ่าตัดโดยอาศัยภาพจากจอภาพและกล้องที่อยู่ด้านในตัวผู้ป่วย
  2. การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดโดยทั่วไป แต่วิธีนี้ผู้ป่วยอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูร่างกายนานกว่าและมีขั้นตอนการผ่าตัดที่ยุ่งยากกว่าเพราะเปิดแผลกว้างกว่า เนื่องจากแพทย์ต้องทำความสะอาดภายในลำไส้ และอาจต้องใส่ท่อเพื่อระบายหนองออก

การเข้ารับการผ่าตัดแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรง ความแข็งแรงของสุขภาพในผู้ป่วยแต่ละราย

อย่างไรก็ตาม ก่อนการรักษาด้วยการผ่าตัดไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม แพทย์อาจมีการให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบที่หลอดเลือดดำก่อนเป็นเวลา 3-5 วัน และจะให้ยาอีกครั้งหลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว

วิธีป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบได้อย่างแน่นอน แต่วิธีป้องกันที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงร่วมกับดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อร่างกาย

กากใยจากอาหารจะช่วยในการบีบไล่อุจจาระได้เร็วขึ้น ระบบการขับถ่ายในร่างกายทำงานคล่องตัว และไม่ทำให้เกิดก้อนนิ่วจากอุจจาระ

วิธีดูแลตนเองในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด

ผู้ป่วยที่อาการโรคไส้ติ่งอักเสบยังไม่รุนแรงมาก หรือยังไม่ได้เข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง ควรเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติของตนเองอย่างระมัดระวัง หากพบว่า มีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ในทันที

  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้สูง
  • อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • กดท้องบริเวณที่มีอาการแล้วรู้สึกปวดมากขึ้น และปวดนานกว่า 6 ชั่วโมง

วิธีดูแลตนเองในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบที่ผ่าตัดไส้ติ่งแล้ว

ในกรณีผู้ป่วยที่ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบไปแล้ว การดูแลตนเองถือว่า เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูกลับมาแข็งแรงดังเดิม ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำดังนี้

  • รักษาความสะอาดอยู่เสมอ และควรล้างมือก่อนสัมผัสแผล
  • พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควรเลือกรับประทานอ่อนๆ และเป็นอาหารที่กลืนง่าย ย่อยง่าย
  • ไม่ควรบริโภคแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ

โรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคที่คล้ายคลึงกับโรคปวดท้องทั่วไปแต่มีอันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา ดังนั้นหากคุณยังไม่เคยผ่าตัดไส้ติ่งมาก่อนและมีอาการผิดปกติคล้ายอาการโรคไส้ติ่งอักเสบ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการทันที

นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบคือ หมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายที่ดีของร่างกาย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top