โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคอีกชนิดที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ เกิดได้ทุกเพศทุกวัย แม้ไม่อันตรายเท่าไข้เลือดออก แต่ก็ทำให้เจ็บป่วยรบกวนชีวิตประจำวันได้มาก บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักว่า โรคชิคุนกุนยาเป็นอย่างไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร
สารบัญ
ความหมายของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ “โรคชิคุนกุนยา (Cjikungunya)” ถูกค้นพบและระบาดครั้งแรกในทวีปแอฟริกาเมื่อ พ.ศ. 2495 โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่มียุงลายสวน (Aedes albopictus) เพศเมีย และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เพศเมีย เป็นพาหะนำโรค
โรคชิคุนกุนยา จะเริ่มต้นเมื่อยุงลายตัวเมียมาดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาซึ่งอยู่ในระยะไข้สูง (จำนวนไวรัสในขณะนั้นจะสูงตามไข้ไปด้วย) เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ตัวยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น
เชื้อไวรัสจะไปอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุงตัวเมีย ในระยะนี้หากยุงลายที่มีเชื้อไปกัดใคร คนๆ นั้นก็จะติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาทันที จากนั้นเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 2-12 วัน ส่วนมากจะพบว่า ใช้เวลาฟักตัว 3-7วัน ผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการเจ็บป่วยแสดงออกมา
อาการแสดงของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
- ไข้สูงขึ้นมาเฉียบพลันและอาจมากถึง 40 องศาเซลเซียส
- มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย
- ปวดตามข้อ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ปวดได้หลายๆ ข้อ
- ปวดหัวปวดกล้ามเนื้อ
- เยื่อบุตาอักเสบ
- มีอาการคัน
- ตาแดง แต่ไม่พบจุดเลือดออกในตาขาว
อาการของผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาจะคล้ายโรคไข้เลือดออก แต่สิ่งที่โรคนี้แตกต่างจากโรคไข้เลือดออกดังนี้
- เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจะไม่ทำให้ผนังเส้นเลือดฝอยผิดปกติจนมีพลาสม่า หรือสารน้ำเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือดอย่างรุนแรง ซึ่งอาการนี้เองจะทำให้ความดันโลหิตต่ำและส่งผลให้ผู้ป่วยช็อคได้
- เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่จะสร้างความทรมานให้ผู้ป่วยด้วยอาการปวดตามข้อและข้ออักเสบ ส่วนมากจะปวดข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า โดยเปลี่ยนตำแหน่งการปวดไปเรื่อยๆ อาการปวดจากโรคชิคุนกุนยาอาจรุนแรงมากถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อไม่ได้ และอาการจะเป็นยาวนานต่อเนื่องไปถึง 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการซ้ำได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือซ้ำได้ในอีกหลายเดือน หรือซ้ำได้อีกเป็นปี
การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา
วิธีวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุดคือ การส่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ แบ่งออกได้หลายวิธีดังนี้
- การเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อนำไปเพาะเชื้อไวรัสในเลือดต่อไป แต่วิธีนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก เพราะโอกาสเพาะเชื้อได้สำเร็จนั้นมีน้อย
- การเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อสังเคราะห์ดีเอ็นเอในหลอดทดลอง (Polymerase Chain Reaction: PCR) และหาชิ้นส่วนเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยาต่อไป
- การเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจซีโรโลยี (Serology Laboratory) เพื่อหาโปรตีนในร่างกายที่จำเพาะต่อเชื้อชิคุนกุนยา
การรักษาโรคชิคุนกุนยา
การรักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ใช้หลักการเดียวกันกับโรคไข้เลือดออกคือ การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น หากมีอาการไข้จะให้ยาลดไข้ แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาดเพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น เช็ดตัวเพื่อลดไข้
แนะนำให้สารน้ำให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังภาวะแทรกซ้อน ร่วมกับป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา และป้องกันมิให้ยุงกัดซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
วิธีป้องกันยุงกัด
การป้องกันยุงกัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคที่เกิดจากยุง เนื่องจากโรคที่เกิดจากยุงนั้นไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคได้ โดยเฉพาะเมื่อได้รับเชื้อจากยุงที่เป็นพาหะ
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แหล่งน้ำขังที่ไม่จำเป็น เช่น น้ำในกระถางดอกไม้ น้ำในแจกัน น้ำในยางรถยนต์ น้ำขังนอกบ้าน แหล่งน้ำที่จำเป็นต้องใช้ก็ให้หาภาชนะมาปิดให้เรียบร้อย
- ใส่ทราย หรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่
- จัดหาและใช้อุปกรณ์ป้องกันยุง เช่น มุ้ง มุ้งลวด ในจุดที่ยุงอาจจะเข้าตัวบ้าน หรือใช้พัดลมในการเป่าในที่ที่มืด เช่น ใต้โต๊ะ เพื่อป้องกันยุงกัด
- ใช้ยาทากันยุง หรือสเปรย์กันยุง ถ้ามีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน หรือไปในที่เสี่ยงต่อยุงชุกชุม
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด หรืออุปกรณ์ป้องกันยุง โดยเฉพาะเด็กเล็ก หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน
- หาอุปกรณ์ดักยุงไว้ตามบริเวณในบ้านที่ยุงชุม เช่น เครื่องดักยุงไฟฟ้า
แม้จะเป็นเรื่องยากในการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดได้โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีสภาพอากาศโดยทั่วไปร้อนชื้นจึงมักมียุงชุกชุม แต่หากลองใช้วิธีป้องกันทุกอย่างตามที่กล่าวไปข้างต้น ความเสี่ยงในการเป็นโรคชิคุนกุนยาก็จะลดลงไปได้
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา