สารระเหย Inhalants

สารระเหย (Inhalants)

สารเสพติดส่วนมากมักอยู่ในรูปของยาเม็ด ยาผง หรืออาจเป็นใบของพืชบางชนิดที่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเสพติด แต่ความจริง ยังมีสารเสพติดในรูปแบบของสารระเหย ที่ทำให้ผู้เสพเกิดอาการเสพติดได้ผ่านการสูดกลิ่นของมัน

มีคำถามเกี่ยวกับ สารระเหย? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ความหมายของสารเสพติดประเภทสารระเหย

สารระเหย (Inhalants) คือ สารเสพติดประเภทที่สามารถระเหยเป็นกลิ่นไอ หรือเป็นก๊าซ เมื่อสูดดมไประยะหนึ่ง ผู้เสพจะมีอาการเสพติดสารเหล่านั้นจนต้องสูดดมเอาสารเหล่านั้นเข้าร่างกายอีก

สารเสพติดประเภทสารระเหยพบมากในสารที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน เช่น กาว ทินเนอร์ สเปรย์ดับกลิ่นตัว สเปรย์ฉีดผม แลคเกอร์ น้ำยาล้างเล็บ น้ำมันรถ ก๊าซดมยาสลบคลอโรฟอร์ม

ประเภทของสารระเหย

สารระเหยมีอยู่ 4 ประเภทหลักๆ คือ ไอระเหย ก๊าซต่างๆ ละอองฉีดพ่น และสารกลุ่มไนเตรท

  • สารระเหยประเภท ไอระเหย ก๊าซ และละอองฉีดพ่น จะทำให้ผู้เสพมีอาการเมาและเพลิดเพลิน
  • สารระเหยกลุ่มไนเตรท จะกระตุ้นความรู้สึกทางเพศและทำให้ผู้เสพรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน

สารระเหยแต่ละประเภทมีลักษณะ ดังนี้

  • ประเภทไอระเหย จะมาในรูปแบบของของเหลวและจะระเหยกลายเป็นไอในอุณหภูมิห้อง เช่น ทินเนอร์ผสมสี น้ำยาล้างต่างๆ น้ำมันรถ กาว และหมึกเติมปากกาเคมี
  • ประเภทก๊าซ รวมถึงก๊าซที่ใช้ทางการแพทย์ เช่น ก๊าซอีเธอร์ หรือก๊าซไนโตรเจน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ในบ้านทั่วไป เช่น ก๊าซบูเทน ก๊าซโปรเพน หัวกดวิปครีมที่มีส่วนประกอบของก๊าซไนโตรเจน และสารทำความเย็น
  • ประเภทละอองฉีดพ่น หรือสเปรย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มักใช้กันทั่วไปตามบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์สี สเปรย์ระงับกลิ่นกาย สเปรย์ฉีดผม สปรย์น้ำมันพืช และสเปรย์ป้องกันไฟฟ้าสถิตตามเสื้อผ้า
  • ประเภทสารประกอบไนเตรท ซึ่งหมายรวมถึง ไซโคลเฮ็กซิลไนไตรท์ (Cyclohexyl nitrite) เอมิลไนไตรท์ (Amyl nitrite) และบิวทิลไนไตรท์ (Isobutyl nitrite) โดยสารเหล่านี้กลุ่มผู้เสพจะเรียกในอีกชื่อว่า “ป๊อปเปอร์ (Poppers)” หรือ “สแนปเปอร์ (Snappers)”

สาเหตุที่หลายคนจึงนิยมใช้สารระเหย

สารระเหยถือเป็นยาเสพติดที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์เคลิบเคลิ้มให้กับผู้เสพชนิดหนึ่ง ทั้งยังมีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป

ทั้งนี้การใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่หากนำมาเสพเป็นสารระเหยกลับทำให้เกิดความเสี่ยง และอัตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ และอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

อาการของผู้เสพสารระเหย

การสูดดมสารระเหยทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสูดดม พ่นสปรย์เข้าทางจมูก และทางปาก การดมแบบถุงกาว การสูดดมจากผ้าชุบสารระเหย หรือสูดดม หรือสูบจากลูกโป่งก๊าซหัวเราะ และจะออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาทีหลังจากสูดเข้าไป

ผลจากการเสพสารระเหยยจะทำให้ผู้เสพรู้สึกเมาคล้ายกับอาการเมาเหล้าและเมายานอนหลับ รวมถึงทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม ตื่นเต้น เพ้อฝัน ผู้เสพบางรายอาจมีอาการง่วงซึม มึนงง พูดจาไม่รู้เรื่อง หรือหมดสติได้

นอกจากนี้ผู้เสพอาจมีเลือดออกทางจมูก ไอเรื้อรังจากการระคายเคืองสารดังกล่าว ส่วนระบบอื่นๆ ภายในร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากสารระเหย จะมีอาการต่อไปนี้

  • ระบบประสาทส่วนกลาง ประสาทการรับรู้ลดลง มองเห็นภาพไม่ชัด การได้ยินไม่มีประสิทธิภาพ ตาไวต่อแสง ร่าเริงผิดปกติ ลิ้นแข็งจนทำให้พูดลำบาก สมองเสื่อม เสียการทรงตัวได้ง่าย
  • ระบบประสาทส่วนปลาย เกิดอาการชาตามมือ และเท้า มือสั่น
  • ระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองโพรงจมูก และหลอดลม หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อบุจมูกมีเลือดไหล
  • ระบบทางเดินอาหาร มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ระบบการทำงานของตับผิดปกติ
  • ระบบทางเดินปัสสาวะ ไตอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปน หรือเป็นน้ำเลือด
  • ระบบหัวใจ และหลอดเลือด จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เกล็ดเลือดต่ำ ตัวซีด เลือดออกง่ายกว่าปกติ หรือหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตหลังสูดสารระเหยภายในไม่กี่นาที

นอกจากนี้สารระเหยยังส่งผลกระทบต่อภาวะอารมณ์ ทำให้ผู้เสพมีภาวะซึมเศร้า รู้สึกสับสนอยู่ไม่นิ่ง หรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติด้วย

หญิงตั้งครรภ์ที่เสพสารระเหยขณะตั้งครรภ์สามารถส่งผลกระทบทำให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงมีโครงสร้างร่างกายผิดปกติด้วย ทารกหลายรายที่มารดาเสพสารระเหย เมื่อคลอดออกมาแล้วจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติอีกด้วย

อาการเรื้อรังจากการเสพสารระเหย

นอกจากผลกระทบของการเสพสารระเหยที่กล่าวไปข้างต้น การเสพติดสารระเหยอย่างต่อเนื่องยังสามารถทำให้เกิดความผิดปกติ หรือโรคเรื้อรังบางอย่างที่ยากจะรักษาให้หายได้ เช่น

  • โรคหลอดลมอักเสบ
  • ความจำเสื่อม
  • สมองเสื่อม
  • สมองพิการ
  • เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • เป็นโรคมะเร็งปอด
  • เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • กล้ามเนื่อฝ่อจนเป็นอัมพาต
  • เป็นโรคซึมเศร้า

อันตรายของสารระเหย

อันตรายจากการเสพสารระเหยให้ผลข้างเคียงที่ร้ายแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นเดียวกับการเสพสารเสพติดอื่นๆ หรือบางคนเสียชีวิตจากการเสพสารระเหยเพียงครั้งเดียว

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เสพจนทำให้เสียชีวิตได้ ดังนี้

มีคำถามเกี่ยวกับ สารระเหย? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

  • อาการไหลตาย หรือช็อกตาย อาการนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในผู้เสพสารระเหย เพราะผู้เสพจะมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติและหัวใจวาย โดยอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้เป็นการเสพสารระเหยครั้งแรก
  • ภาวะหายใจไม่ออกหรือขาดอากาศหายใจเฉียบพลัน นั่นเพราะสารพิษถูกส่งและเข้าไปแทนที่ออกซิเจนในปอด
  • อาการสำลักสารระเหย ผู้เสพอาจมีอาการสำลัก และอาเจียนอย่างหนักได้
  • เกิดอาการหอบและหายใจไม่ออก โดยเฉพาะการดมจากถุงกาว ซึ่งถุงกาวอาจไปปิดกั้นอากาศ หรือออกซิเจนสู่ปอด
  • อุบัติเหตุ หรืออันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ผู้ที่มีอาการเมาจากการเสพสารระเหยมักเกิดปัญหาเกี่ยวกับการคิดตัดสินใจ
    นอกจากนี้ความเสียหาย หรืออุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตมักเกิดจากผู้เสพที่ใช้ยานพาหนะ หรือกระโดดจากที่สูงขณะมึนเมาสารระเหย บางครั้งพบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการใช้สารระเหย เช่น ไฟไหม้ การประทุของก๊าซ
  • ฆ่าตัวตาย ผู้เสพบางคนเกิดผลข้างเคียงจากการเสพสารระเหยจนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และกระตุ้นให้อยากฆ่าตัวตาย

สารระเหยอาจดูเหมือนเป็นสารเสพติดที่ไม่ทำให้เสพติดได้ แต่ความจริงแล้วผู้เสพสารระเหยสามารถเกิดอาการลงแดงได้หากขาดการเสพสารไประยะหนึ่ง

ผู้เสพจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด เหงื่อออกมาก ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน และอาจคลุ้มคลั่งจนทำร้ายร่างกายตนเอง หรือผู้อื่นได้

สัญญาณบอกอาการเสพติดสารระเหย

อาการจากการเสพสารระเหยมีลักษณะเช่นเดียวกับการเสพสารเสพติดอื่นๆ ที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากมาย ดังนี้

  • อารมณ์แปรปรวน
  • มีอารมณ์ก้าวร้าวอย่างรุนแรง กระวนกระวายใจ และหงุดหงิด
  • มีอาการเหนื่อยล้า
  • เบื่ออาหาร
  • อาเจียนบ่อยๆ
  • มีอาการประสาทหลอน และเกิดภาพหลอน
  • เกิดผดผื่น หรือแผลพุพองบนใบหน้า
  • มีอาการน้ำมูกไหล หรือไอบ่อยๆ
  • รูม่านตาขยาย
  • มีขี้ตา หรือน้ำตาไหลผิดปกติ
  • มีกลิ่นปาก หรือกลิ่นของทางเดินหายใจรุนแรง

ลักษณะผู้เสพสารระเหย

ผู้เสพสารระเหย หรือผู้ที่สัมผัสสารระเหยเป็นเวลานานจะมีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เช่น

  • ปวดศีรษะ หรือวิงเวียนศีรษะ
  • ไม่มีสติ รับฟังเสียงคนรอบข้างไม่เข้าใจ
  • พูดจาไม่รู้เรื่อง พูดไม่ชัด
  • ดูง่วงซึมจนสับสน หรือซึมเศร้า
  • น้ำลายไหล
  • เสียการทรงตัว เดินโซเซ หรือยืนไม่ได้
  • มือไม้อ่อน ไม่สามารถหยิบจับอะไรได้
  • มีเลือดออกทางจมูก
  • ไอเรื้อรัง
  • หายใจลำบาก
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีเศษผ้า หรือถุงใส่สารเคมีสำหรับสูดดมติดตัว

วิธีรักษาผู้เสพสารระเหย

การรักษาผู้ติดสารระเหยมักเกี่ยวข้องกับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย แพทย์ หรือนักบำบัดจะรักษาผู้ป่วยด้วยการปรับพฤติกรรม และฝึกพวกเขาให้ดำเนินชีวิตอยู่ให้ได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

การเลิกยาให้ได้ผล ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้กลับไปเสพยาอีกครั้ง และต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้กลับไปสู่สภาพเดิม อย่างไรก็ตาม การเลิกยาด้วยตัวเองอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการปรึกษาแพทย์ หรือนักบำบัดจะทำให้การเลิกยาได้ผลมากกว่า

การเลิกยาอาจต้องใช้ระยะเวลา และยากที่จะเลิกได้ด้วยตัวเอง เพราะทุกคนต้องการการช่วยเหลือ และสนับสนุน และสามารถไว้วางใจได้ว่าการรักษากับแพทย์หรือนักบำบัดนั้นเชื่อมั่นได้ เนื่องจากพวกเขาได้รับการฝึกฝนมาเพื่อการบำบัดรักษาผู้ติดยาโดยเฉพาะ

หากพบว่า เพื่อนของคุณกำลังเสพสารระเหย อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะท่าทีกังวล หรือตกใจอาจทำให้ผู้ที่เสพหวาดผวา ชัก หมดสติ หรือเสียชีวิตจากอาการช็อกได้ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โทรหาตำรวจ หรือโรงพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ และหากคุณเป็นผู้เสพเอง แนะนำให้ปรึกษาผู้ปกครอง แพทย์ อาจารย์ที่ปรึกษา หรือนักบำบัด เพราะพวกเขาเหล่านี้จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา

สารระเหยจัดเป็นสารเสพติดที่อยู่รอบตัว และหลายอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณจึงต้องระมัดระวังในการใช้สิ่งของที่มีกลิ่นเป็นสารระเหยที่ทำให้เสพติดได้

เพราะสารระเหยสามารถเข้าไปก่อพิษต่ออวัยวะสำคัญในร่างกายหลายอย่าง ทั้งหัวใจ ปอด ตับ ไต และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะเหล่านั้นลดลงโดยไม่สามารถรักษาให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้นดังเดิม

ส่วนมากผู้เสพสารระเหยมักเป็นเยาวชนเสียส่วนมาก ผู้เสพสารระเหยที่อายุไม่เกิน 17 ปี ศาลจะมีคำสั่งให้กล่าวตักเตือน และนำตัวส่งเข้าสถานบำบัดเพื่อบำบัดยาเสพติดต่อไป

โทษทางกฎหมายเกี่ยวกับสารระเหย

ผู้ที่ผลิตสารระเหยขึ้นมาเพื่อใช้เป็นยาเสพติดโดยเฉพาะยังมีโทษทางกฎหมายอีกด้วย โดยผู้ที่ผลิต นำเข้า หรือขายสารระเหยที่มีเครื่องหมายเตือนให้ระมัดระวังเพื่อเสพติด หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ขาย จัดหาสารระเหยเพื่อเสพติดให้แก่ผู้ที่ติดสารระเหย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนผู้ที่ชักจูง หว่านล้อม ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพสารระเหย ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

มีคำถามเกี่ยวกับ สารระเหย? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ