เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หลายพื้นที่ในประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับอุทกภัย เช่น อุบลราชธานีที่ในตอนนี้กำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากภัยน้ำท่วม ผู้ประสบภัยนอกจากต้องระวังโรคที่มาพร้อมกับอุทกภัย เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู โรคตาแดง หรือโรคไข้เลือดออก อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังไม่แพ้กัน คือสัตว์มีพิษที่มาพร้อมกับน้ำท่วม เช่น แมงป่อง ตะขาบ และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะงูพิษที่มีความอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สารบัญ
งูพิษ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- งูที่มีพิษต่อระบบประสาท เช่น งูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา ผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการหนังตาตก กลืนลำบาก กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรงจนอาจเสียชีวิตได้
- งูที่มีพิษต่อระบบโลหิต เช่น งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา แผลบริเวณที่ถูกกัดอาจบวมเป็นตุ่มน้ำ มีเนื้อตาย หรือมีเลือดออกนอกเหนือจากบริเวณที่ถูกกัดได้
- งูที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อ เช่น งูทะเล ผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการกล้ามเนื้อสลายตัว และอาจทำให้ไตวายฉับพลันตามมาได้
ตารางเปรียบเทียบรูปร่างลักษณะงูมีพิษกับงูไม่มีพิษ
รูปร่างลักษณะ | งูพิษ | งูไม่มีพิษ |
ดวงตา | ทรงรี | ทรงกลม |
รูปศีรษะ | สามเหลี่ยม | ทรงกลม |
สัดส่วนลำตัวเทียบศีรษะ | ลำตัวเล็กกว่า | ลำตัวขนาดพอๆ กับศีรษะ |
ขากรรไกร | อ้าได้กว้างกว่า | อ้าได้แคบกว่า |
เขี้ยว | เขี้ยวใหญ่และยาว | ฟันซี่เล็กๆ |
เกล็ดใต้ท้อง | เรียงตัวขนานต่อกันชั้นเดียว | เรียงตัวเป็นสองชั้นคู่กัน |
สถานที่ถูกกัดอาจบอกชนิดของงูได้
- กรุงเทพมหานคร มากกว่า 90% เป็นงูเขียวหางไหม้
- งูที่อยู่บนต้นไม้ งูเขียวหางไหม้
- งูในสวนยางพารา งูกะปะ
- ถูกกัดในบ้านขณะนอนหลับ งูทับสมิงคลา
- ถูกกัดในทะเลหรือริมทะเล งูทะเล
เมื่อทราบถึงความรุนแรงของงูพิษเหล่านี้แล้ว ในช่วงน้ำท่วมเช่นนี้จึงไม่ควรที่จะเดินลุยน้ำ แต่ถ้าจำเป็นก็ควรสวมรองเท้าที่ยาวปิดขาช่วงล่าง เช่น รองเท้าบูท เพื่อป้องกันสัตว์พิษ แต่หากถูกงูกัด ขอให้ผู้ถูกกัดอย่าตื่นตกใจ รีบตั้งสติ และปฏิบัติตามการปฐมพยาบาลเบื้องต้นต่อไปนี้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด
- ควบคุมสติตนเอง และขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ใกล้ตัว
- ไม่ควรตามไปตีงูให้ตาย เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น หรือถูกงูกัดซ้ำได้
- แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาได้แม้จะไม่ทราบชนิดของงูก็ตาม ขอให้ผู้ที่ถูกงูกัดจำลักษณะของงูโดยรวมให้ได้ก็พอ
- ทำความสะอาดบาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่
- ไม่ควรใช้มือบีบเค้น หรือใช้ปากดูดบริเวณที่ถูกงูกัด
- ไม่ควรใช้ผ้ามัดแน่น หรือขันชะเนาะ เพราะจะทำให้เนื้อเยื้อขาดเลือดและเกิดเนื้อตายได้
- ผู้ถูกงูกัดควรอยู่กับที่ ไม่ควรเคลื่อนไหวมาก
- หากมีอาการปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวดเป็นพาราเซตามอล (Paracetamol) ได้ ห้ามใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง หรือยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน (Aspirin) เด็ดขาด เพราะจะเสริมฤทธิ์ของพิษงูได้
- จากนั้นให้หาไม้ดามบริเวณที่ถูกกัดและใช้ผ้าพันให้แน่นพอประมาณเพื่อลดการเคลื่อนไหวของบริเวณที่ถูกกัด
- รีบนำตัวผู้ถูกงูกัดส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอรับความช่วยเหลือทางการแพทย์เพิ่มเติม
แม้จะมีงูอีกหลายชนิดที่ไม่มีพิษ แต่ผู้ถูกงูกัดก็ไม่ควรละเลยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี