วิธีกินยาคุมฉุกเฉินให้ปลอดภัย

วิธีกินยาคุมฉุกเฉินแบบ 1–2 เม็ด กินอย่างไรให้ปลอดภัย

ยาคุมฉุกเฉิน คือหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดรูปแบบหนึ่งสำหรับกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่เคยกินยาคุมกำเนิด หรือไม่เคยฉีดยาคุมกำเนิดมาก่อน 

สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์อยู่ที่ราว 85% หมายความว่า แม้จะกินยาแล้วก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่ เพียงแต่โอกาสจะน้อยลงกว่าผู้ที่ไม่ได้กินยาคุมกำเนิด 

รวมถึงการกินยาคุมฉุกเฉินอาจมีผลข้างเคียงตามมา บทความนี้จะชวนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉินให้มากขึ้น ทั้งวิธีกินยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกต้อง ข้อควรระวัง ผลข้างเคียง และคำถามเกี่ยวกับยาคุมที่พบบ่อย

สารบัญ

7 ข้อควรรู้ ก่อนกินยาคุมฉุกเฉิน

1. ยาคุมฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อไม่ได้

ยาคุมฉุกเฉินช่วยป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ถ้าต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรสวมใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี จึงจะดีที่สุด

2. ยาคุมฉุกเฉินมีผลข้างเคียงสูงมาก

เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินจะออกฤทธิ์ต่อสภาพแวดล้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก จึงส่งผลต่อฮอร์โมน และอาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้ เช่น ประจำเดือนผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ถ้ากินบ่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ 

3. ต้องกินยาคุมกำเนิดทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ ไม่เกิน 72 ชั่วโมง  

ยาคุมฉุกเฉิน ต้องกินหลังมีเพศสัมพันธ์ทันที รือเร็วสุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่เกิน 72 ชั่วโมง (ราว ๆ 3 วัน) เพราะถ้าเกินจากนี้ ยาคุมฉุกเฉินอาจไม่มีผลในการป้องกันการตั้งครรภ์ 

4. ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินในยาม “ฉุกเฉิน” จริง ๆ

ควรกินยาคุมฉุกเฉินเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เพราะยานี้อาจกระตุ้นเซลล์มะเร็ง หรือส่งผลกระทบต่อรังไข่และมดลูกได้ 

ฉะนั้น การสวมใส่ถุงยางอนามัยเป็นทางเลือกในการคุมกำเนิดที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งยังป้องกันโรค และป้องกันการตั้งครรภ์ด้วย 

5. ยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพไม่สูงเท่ายาคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ 

ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินจะไม่สูงเท่ายาคุมกำเนิดชนิดอื่น ๆ คือป้องกันการตั้งครรภ์ได้เพียง 85–95% แปลว่ายังคงมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่ดี ทางที่ดีที่สุดคือ ควรกินยานี้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

6. ต้องกินยาคุมฉุกเฉินตามเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

การกินยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ยามีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ผลข้างเคียงก็จะมากตามไปด้วยเช่นกัน ในประเทศไทยมักจะเป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด

โดยยาคุมฉุกเฉิน 1 กล่อง มียา 2 เม็ด และควรกินทั้ง 2 เม็ดนั้น โดยให้กินเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และกินเม็ดที่สองเมื่อครบ 12 ชั่วโมงหลังจากกินเม็ดแรก

7. ยาคุมฉุกเฉินทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม

ผลวิจัยระบุว่า ร่างกายของผู้หญิงที่กินยาคุมฉุกเฉินจะต้องการปริมาณแคลเซียมสูงถึง 1,000 มิลลิกรัม และถ้าได้รับแคลเซียมน้อย ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อมวลกระดูก เช่น ทำให้กระดูกพรุน แตกหักง่าย หรือเปราะง่าย เมื่ออายุมากขึ้น 

คนที่กินยาคุมเฉินอาจเพิ่มปริมาณแคลเซียมให้กับร่างกายด้วยการดื่มเครื่องดื่มหรือกินอาหารที่มีแคลเซียม เช่น 

  • ดื่มนมสดวันละ 3 แก้ว 
  • ดื่มน้ำผลไม้แบบเสริมแคลเซียมวันละ 3 มื้อ 
  • กินโยเกิร์ตวันละ 3 ถ้วย 
  • กินเนย หรือซีเรียล 

แม้ว่ายาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะมีประโยชน์ในการป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันโรค และยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายในภายหลังได้ 

ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ควรป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่น เช่น การสวมใส่ถุงยางอนามัย การฝังยาคุมกำเนิด และที่สำคัญ ผู้หญิงควรกินยาคุมฉุกเฉินแค่ไม่เกิน 2 ครั้งในชีวิตเท่านั้น หากเกินกว่านี้ อาจเป็นอันตรายได้

ยาคุมฉุกเฉิน กินอย่างไรให้ถูกต้อง ปลอดภัย 

วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ด

การกินยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ด ให้กินทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่เกิน 12 ชั่วโมง จำนวน 1 เม็ด ถ้าจำเป็น อาจกินช้ากว่านั้นได้ แต่ต้องให้อยู่ภายใน 72 ชั่วโมง (ราว ๆ 3 วัน) หรืออย่างช้าที่สุดคือ 120 ชั่วโมง (ราว ๆ 5 วัน) 

แต่ทางที่ดี แนะนำให้รีบกินโดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาในการลดโอกาสการตั้งครรภ์ 

วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด

กินได้สองวิธี

  1. หลังมีเพศสัมพันธ์ ให้กินทันที 1 เม็ด และหลังจากกินเม็ดแรกประมาณ 12 ชั่วโมง ค่อยกินเม็ดที่ 2 
  2. กินพร้อมกัน 2 เม็ด หลังมีเพศสัมพันธ์ 

ผลลัพธ์ของยาคุมฉุกเฉินทั้งแบบ 1 เม็ด และ 2 เม็ดนั้นไม่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ยาคุมฉุกเฉินแบบกินครั้งเดียว จะมีความแรงมากกว่ายาคุมแบบที่ต้องแบ่งกินสองครั้งถึง 2 เท่า ทำให้บางคนอาจอาเจียนออกมาได้ และยังส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาไม่ดีเท่าที่ต้องการ 

หมายเหตุ: หลังจากกินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว ถ้าอาเจียนออกมาภายใน 2 ชั่วโมง จะต้องกินยาซ้ำใหม่อีก 1 เม็ดทันที 

ยาคุมฉุกเฉิน มีรูปแบบใดบ้าง 

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

  1. ยาเม็ดฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน 
  • ประกอบไปด้วยฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) เข้มข้น
  • กินครั้งละ 2 เม็ดพร้อมกัน โดยกินให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ ถ้ายิ่งกินช้า จะยิ่งมีโอกาสตั้งครรภ์สูง และต้องกินอย่างช้าที่สุดภายใน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์
  • หากใช้ถูกวิธี จะช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ให้เหลือแค่ 15% เท่านั้น
  1. ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนคู่
  • สามารถนำมาใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินได้ โดยต้องคำนวณขนาดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในการกินแต่ละครั้งให้ได้ 100 ไมโครกรัม
  • กินทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง
  • หากใช้ถูกวิธี จะช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ให้เหลือแค่ 13% เท่านั้น

นอกจากยาคุมฉุกเฉินแบบเม็ดที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ปัจจุบัน ยังมียาคุมฉุกเฉินอีกชนิดหนึ่งด้วย ซึ่งก็คือ “ห่วงอนามัยคุมกำเนิด” 

ห่วงอนามัยคุมกำเนิดจะทำลายไข่และเชื้ออสุจิไม่ให้ปฏิสนธิกัน วิธีนี้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากถึง 99% ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่ายาคุมแบบเม็ดมาก

อย่างไรก็ตาม การใช้ห่วงยางอนามัยนั้นจะต้องสอดเข้าไปในช่องคลอด ถ้าจะใช้วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินนี้ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ 

กินยาคุมฉุกเฉิน ต้องระวังอะไรบ้าง

  • ยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ แต่บรรเทาได้ด้วยการกินยาแก้อาเจียนกันไว้ก่อน
  • การกินยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 2 กล่อง หรือ 4 เม็ดต่อเดือนขึ้นไป อาจส่งผลข้างเคียงต่อรังไข่ในระยะยาวได้
  • ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และลืมกินยาคุมกำเนิดชนิดปกตินานเกิน 3 วัน ก็กินยาคุมฉุกเฉินแทนได้
  • ควรเก็บยาคุมฉุกเฉินไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ หรือไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส

คำแนะนำในการใช้ยาคุมฉุกเฉิน

แม้จะมีความปลอดภัยสูง แต่การใช้ยาคุมฉุกเฉินอย่างผิดวิธีก็อาจส่งผลในระยะยาวได้เหมือนกัน จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้

  • ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาคุมฉุกเฉิน
  • ถ้ากินยาคุมฉุกเฉินตามกำหนดอย่างถูกต้องแล้วยังตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดมาจะไม่ได้รับผลข้างเคียงใด ๆ 
  • ภายในระยะเวลา 1 เดือน สามารถกินยาคุมฉุกเฉินได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่ควรเกิน 2 กล่องต่อเดือน
  • ถ้ามีเพศสัมพันธ์หลังกินยาครบ 2 เม็ดไปแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ให้สูงยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาคุมฉุกเฉินซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง อาจส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงตามมา  จึงไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำ หรือใช้ในระยะยาว ให้เปลี่ยนไปกินยาคุมกำเนิดแบบปกติแทนได้ และใส่ถุงยางอนามัยจะดีมาก
  • ให้รีบไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างใช้ยา เช่น ประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนไม่มา 

ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉิน

ยาคุมฉุกเฉินควรกินทันทีหรือให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินจะลดลงเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ดังนี้

  • ถ้ากินยาคุมฉุกเฉินภายใน 12–24 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 85%
  • ถ้ากินยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ตัวยาจะออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 75–79% (ต้องกินให้ครบทั้ง 2 เม็ด)
  • ถ้ากินยาคุมฉุกเฉินเกิน 72–120 ชั่วโมง จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้แค่ 60% เท่านั้น

ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน

ยาคุมฉุกเฉินอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเกิดได้ จะมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับสุขภาพและสภาวะร่างกายของคนนั้น ๆ ด้วย ผลข้างเคียงจากการกินยาคุมฉุกเฉินที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ มีดังนี้

ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ยาคุมฉุกเฉินจะเข้าไปยับยั้งการตกไข่และเลื่อนการตกไข่ออกไป จึงอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มาช้ากว่าเดิม หรือมาแบบกะปริบกะปรอย แต่อาการนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ และจะกลับมาเป็นปกติในเดือนถัดไป

คลื่นไส้ อาเจียน
ยาคุมฉุกเฉินจะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกายโดยตรง ภาวะที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงกะทันหันอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และพะอืดพะอมตลอดเวลาได้ หากอาเจียนมากจนร่างกายอ่อนเพลีย ควรดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ หรือไปพบแพทย์

ปวดศีรษะ
บางรายที่ร่างกายต่อต้านยาคุม หรือร่างกายปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนไม่ทัน อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการกินยาแก้ปวด และพักผ่อนให้มาก ๆ 

ปวดท้อง
การกินยาคุมฉุกเฉินอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน บรรเทาได้ด้วยการกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล 

เสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก
คนที่กินยาคุมฉุกเฉินบ่อย ๆ หรือกินยาคุมฉุกเฉินแบบต่อเนื่องแทนยาคุมทั่วไป จะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก 

เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ควรกินยาคุมฉุกเฉินเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และถ้าต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว แนะนำให้ใช้วิธีฉีดยาคุม หรือกิน ยาคุมแบบทั่วไปจะดีกว่า 

เสี่ยงเป็นมะเร็ง
ผู้หญิงไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 ครั้ง เพราะยาคุมชนิดนี้จะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโต และส่งผลให้เกิดมะเร็งในที่สุด โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ 

นอกจากนี้ การกินยาคุมฉุกเฉินยังทำให้มดลูกอ่อนแอและบางลง ซึ่งจะส่งผลต่อการมีลูกในอนาคตได้เช่นกัน

ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉินในระยะยาว

หากกินยาคุมฉุกเฉินติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ยานี้เกิน 2 กล่องต่อเดือน ไม่เพียงแต่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะเทียบยาคุมกำเนิดแบบปกติไม่ได้ 

แต่ยังส่งผลให้รังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อีกด้วย 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาคุมกำเนิด

Q: กินยาคุมฉุกเฉิน จะทำให้อ้วนไหม

A: เป็นคำถามที่ผู้หญิงส่วนใหญ่กังวลมาก แต่ความจริงแล้วยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดว่า ยาคุมฉุกเฉินทำให้น้ำหนักขึ้นได้จริงหรือเปล่า 

แต่ตามหลักแล้ว ยาคุมฉุกเฉินจะกินก็เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ไม่ได้กินบ่อย ๆ เหมือนยาคุมทั่วไป จึงไม่น่าจะมีผลต่อน้ำหนักตัว

แม้ยาคุมฉุกเฉินจะใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีฉุกเฉินได้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางอนามัยแตก หรือลืมกินยาคุมกำเนิด แต่ก็ไม่ควรกินบ่อย ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะมดลูกและระบบสืบพันธุ์

ดังนั้น ถ้ามีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง แนะนำให้คุมกำเนิดด้วยการสวมถุงยางอนามัย และ/หรือควบคู่ไปกับการกินยาคุมแบบประจำจะดีกว่า ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ดีด้วย

แม้ว่ายาคุมฉุกเฉินจะช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันโรค อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายด้วย 

หากไม่ใช่สถานการณ์จำเป็น ก็ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่า เช่น 

  • การสวมใส่ถุงยางอนามัย 
  • การกินยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบปกติ 
  • การฝังยาคุมกำเนิด 
  • การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ที่สำคัญ การซื้อถุงยางอนามัยนั้นไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด เพราะ Safe sex หรือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักไว้อยู่เสมอ 

เพราะ Health ดี อะไรก็ดี อ่านบทความความรู้สุขภาพแบบรอบด้านได้ ที่นี่ 


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

  • WHO, Emergency contraception (https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/emergency-contraception), 8 September 2020.
  • Leung Vivian W.Y. et al. (February 2010). “Mechanisms of action of hormonal emergency contraceptives”. Pharmacotherapy. 30 (2): 158–168. doi:10.1592/phco.30.2.158. PMID 20099990.
  • Cleland K et al. (December 2014). “Emergency contraception review: evidence-based recommendations for clinicians”. Clinical Obstetrics and Gynecology. 57 (4): 741–50. doi:10.1097/GRF.0000000000000056. PMC 4216625. PMID 25254919.
Scroll to Top