Default fallback image

ไขสันหลัง หน้าที่ องค์ประกอบ และโรคที่เกี่ยวข้อง

ไขสันหลัง เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของระบบประสาทที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคำสั่งระหว่างสมองกับร่างกาย หากเกิดความผิดปกติกับไขสันหลัง ก็สามารถกระทบต่อการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึกระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำได้ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักหน้าที่ของไขสันหลัง และโรคที่พบบ่อยในไขสันหลังที่ควรเฝ้าระวัง

ไขสันหลังคืออะไร? มีหน้าที่อะไร?

ไขสันหลัง (Spinal Cord) คือ กลุ่มเส้นประสาทที่มีลักษณะเป็นท่อเนื้อเยื่อทรงกระบอกมัดรวมกันอยู่ภายในกระดูกสันหลังตั้งแต่กระดูกคอข้อแรกไปจนถึงกระดูกสันหลังส่วนเอว มีหน้าที่สำคัญในการรับและส่งสัญญาณประสาทจากสมองไปสั่งการอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย

บทบาทสำคัญของไขสันหลังที่มีต่อการทำงานของร่างกายจะแบ่งออกได้ 3 ส่วน ได้แก่

  1. ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเป็นตัวกลางรับสัญญาณสั่งการจากสมองให้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามที่ต้องการ รวมถึงควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกายโดยอัตโนมัติ เช่น การเต้นของหัวใจ การหายใจ การขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ
  2. ส่งความรู้สึกไปยังสมอง เช่น ความรู้สึกเจ็บ แสบร้อน ได้รับแรงกด
  3. ควบคุมการตอบสนองโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า รีเฟล็กซ์ (Reflex) เช่น เมื่อถูกเคาะใต้เข่า ขาก็จะกระตุกทันที

ดังนั้นเมื่อไรก็ไขสันหลังเกิดความผิดปกติหรือได้รับบาดเจ็บ การรับความรู้สึกต่างๆ รวมถึงประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วยก็จะลดลง หากได้รับความเสียหายรุนแรงอาจถึงขั้นเป็นอัมพาตได้

โรคที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับไขสันหลัง

หลายคนอาจยังเข้าใจว่า อาการผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบประสาทที่หลังต้องมาจากกระดูกสันหลังอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วไขสันหลังก็เป็นอีกอวัยวะบริเวณหลังที่สามารถเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน โดยโรคที่มักพบได้บริเวณไขสันหลัง ได้แก่

1. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือที่นิยมเรียกอีกชื่อว่า โรค MS เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ไปทำลายหรือก่อการอักเสบที่ “ปลอกหุ้มเส้นประสาทมิอิลิน (Myelin Sheath) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้การส่งสัญญาณประสาทมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อปลอกหุ้มเส้นประสาทดังกล่าวถูกทำลาย การรับส่งสัญญาณประสาทจึงทำงานแย่ลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสดงที่ผิดปกติออกมา เช่น

  • มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น เห็นภาพซ้อน ภาพมัว เจ็บตา หรืออาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
  • มีปัญหาด้านการพูด การกลืน เช่น พูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก
  • เป็นโรคซึมเศร้า มีอารมณ์แปรปรวนง่าย
  • สมาธิสั้น ความจำแย่ลง
  • รู้สึกอ่อนล้าหรือเหนื่อยง่ายขึ้น ทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้น้อยลง
  • มีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้สูญเสียการทรงตัว เดินหกล้มได้ง่าย 
  • มีอาการปวดทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง
  • สมรรถภาพทางเพศแย่ลง
  • มีปัญหาด้านการขับถ่าย เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ท้องผูก ท้องเสีย
  • การรับความรู้สึกผิดปกติ เช่น มีอาการชา ไม่รู้สึกตัวต่อสัมผัสเช่นเดิม หรือเหมือนมีเข็มมาทิ่มผิว
  • เป็นเหน็บชา
  • มีอาการชักเกร็ง

ปัจจุบันการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงสาเหตุของการเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง แต่มีโอกาสที่โรคนี้จะเกิดได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • พันธุกรรม แม้โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งจะไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่ผู้ที่มีประวัติผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเป็นโรคนี้มีโอกาสที่จะพบโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป
  • ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันจนไปทำลายปลอกหุ้มเส้นประสาทมิอิลิน
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด 

2. โรคประสาทไขสันหลังอักเสบ

โรคประสาทไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis) เป็นภาวะที่เส้นประสาทไขสันหลังเกิดการอักเสบจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติได้ทั้งแบบเฉียบพลันภายในไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงอาการค่อยๆ รุนแรงขึ้นอย่างช้าๆ ภายใน 2-3 วัน นอกจากนี้อาจเกิดอาการเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้

อาการผิดปกติที่พบได้บ่อยเมื่อเกิดโรคประสาทไขสันหลังอักเสบ ได้แก่

  • ปวดกล้ามเนื้อ 
  • ปวดคอ หรือปวดศีรษะ
  • ปวดหลัง หรือปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทที่แขนหรือขา
  • รู้สึกเจ็บแปลบเหมือนโดนของแหลมทิ่มแทง 
  • ปวดแสบร้อน
  • ผิวหนังไวต่อสัมผัสมากขึ้น เช่น ไวต่อความร้อนจัด ความเย็นจัด หรือแม้เพียงเนื้อผ้าของเสื้อผ้าที่ใส่แตะโดนผิว 
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่แขน ขา อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตได้
  • หายใจลำบาก มักเป็นผลกระทบมาจากการเป็นอัมพาต และอาจถึงขั้นเกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้
  • กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ หรืออาจปัสสาวะและอุจจาระไม่ออก

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การอักเสบที่ไขสันหลัง ได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสเริม เชื้อวัณโรค เชื้อซิฟิลิส เชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อไวรัส HIV
  • การติดเชื้อราหรือเชื้อพยาธิ
  • โรคภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเอ็นเอ็มโอ (Neuromyelitis Optica) โรคลูปัสหรือโรคพุ่มพวง โรคซาร์คอยโดสิส (Sarcoidosis)
  • การได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

3. โรคเนื้องอกไขสันหลัง 

โรคเนื้องอกไขสันหลัง (Spinal Tumors) คือ โรคที่เกิดจากการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณไขสันหลัง หรือบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ เนื้อไขสันหลัง รากประสาท เยื่อหุ้มไขสันหลัง สามารถแบ่งชนิดของเนื้องอกออกได้ 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่

  • เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เป็นเนื้องอกที่มีอัตราการเติบโตช้า และไม่พัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็ง สามารถรักษาให้หายได้
  • เนื้องอกชนิดร้ายแรง เป็นเนื้องอกที่พัฒนาเป็นก้อนมะเร็งและมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็ว เป็นเนื้องอกที่ต้องผ่าตัดนำออกโดยเร็ว มิฉะนั้นจะสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ ได้

อาการแสดงหลักๆ เมื่อเกิดเนื้องอกภายในไขสันหลัง ได้แก่

  • ปวดต้นคอ อาจร้าวลงไปที่แขน
  • ปวดหลัง โดยมักจะปวดอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นไม่เว้นแม้แต่เวลาพักผ่อนหรือเข้านอน ลักษณะอาการปวดมักพบได้ 2 แบบ ได้แก่
    • ปวดแบบหน่วง 
    • ปวดแบบร้าวเหมือนถูกของมีคมแทง หรือรู้สึกแปลบๆ 
  • ปวดร้าวชายโครง
  • ปวดเอว 
  • มีอาการชาที่มือ แขน หรือขา 
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  • ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้

ปัจจุบันการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคเนื้องอกไขสันหลังได้แน่ชัด โดยปัจจัยที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดเนื้องอกในไขสันหลัง คือ การเกิดก้อนเนื้อชนิดมะเร็งที่ตำแหน่งอื่นของร่างกาย และเซลล์มะเร็งลุกลามมาแพร่กระจายยังไขสันหลังด้วย เช่น ปอด เต้านม ไต ไทรอยด์

ไขสันหลังเป็นอวัยวะสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การรับรู้สึก และการทำกิจวัตรทั่วไปในทุกๆ วันของเรา หากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา ปวดรุนแรงตามแขน ขา เท้า หรือส่วนใดของร่างกาย ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ

เพราะการรักษาที่เร็วตั้งแต่ระยะที่ความผิดปกติยังไม่รุนแรง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต หรือการสูญเสียประสาทรับความรู้สึก ที่สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณได้

อยากปรึกษาแพทย์เรื่องอาการปวด ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ยังหาสาเหตุไม่ได้ ทักหาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเกี่ยวกับไขสันหลัง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top